จับตา 3 ผู้นำจีน-รัสเซีย-อินเดีย เจอกันที่ อุซเบกิสถาน 15-16 ก.ย.นี้ ในงานการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO)

จับตา 3 ผู้นำจีน-รัสเซีย-อินเดีย เจอกันที่ อุซเบกิสถาน 15-16 ก.ย.นี้ ในงานการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO)
Highlight

การหารือนอกรอบในเวทีประชุมสุดยอด Shanghai Cooperation Organization ที่อุซเบกิสถาน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15-16 กันยายนนี้ เป็นที่จับตามอง เพราะจะเป็นการพบกันระหว่างประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลกนำโดย รัสเซีย-จีน-อินเดีย และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทั้งทางการค้า การลงทุนและการทหารให้แนบแน่นยิ่งขึ้น สำหรับอินเดียนั้นเตรียมทำความตกลงนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซีย ส่วนจีนต้องติดตามสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์นี้



องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation-SCO) เป็นองค์การการเมือง เศรษฐกิจและการทหารระหว่างทวีป ที่มีแกนนำหลักคือ รัสเซีย และจีน ซึ่งเสมือนเป็นควา ร่วมมือของฟากฝั่งประเทศตรงข้ามกลุ่มสหรัฐฯ ด้วยปัจจัยด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้องค์กรนี้ได้รับความสนใจจากสมาชิกและประเทศนอกสมาชิกมากขึ้นในปัจจุบัน

ทั่วโลกจับตาประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเตรียมพบกับผู้นำรัสเซียวิลาดิเมียร์ ปูติน ในรอบนี้หรือไม่ หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นการเดินทางออกนอกจีนแผ่นดินใหญ่ในรอบ 1,000 วันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากผู้นำจีน

สื่อต่างประเทศรายงานว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย จะพบกันที่อุซเบกิสถานในวันศุกร์นี้ เพื่อหารือด้านการค้าและเจรจาการขายปุ๋ยและสินค้าอาหารให้แก่อินเดียเพิ่มเติม ตามการเปิดเผยของรัฐบาลเครมลินในวันอังคาร

ทำเนียบรัฐบาลเครมลิน ระบุในเอกสารรายละเอียดการประชุมที่จะมาขึ้นว่า “(ผู้นำทั้งสอง) มีแผนการที่จะหารือในประเด็นเรื่องตลาดสินค้าอินเดียในการรับซื้อปุ๋ยจากรัสเซียและข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีด้านอาหารอื่น ๆ ” และว่า “จะมุ่งเน้นการกระตุ้นการค้าระหว่างสองประเทศ ให้ฟื้นฟูมาถึงระดับ 11,500 ล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 120% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน”

การพบกันของสองผู้นำ จะเป็นการหารือนอกรอบในเวทีประชุมสุดยอด Shanghai Cooperation Organization ที่อุซเบกิสถาน

ทั้งนี้ อินเดียนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซีย เพิ่มขึ้นเป็น 1,030 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสสองของปีนี้ เมื่อเทียบกับระดับ 774 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณก่อน อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์อินเดีย โดยภายใต้ข้อตกลงที่จะหารือในปลายสัปดาห์นี้ อินเดียต้องการจัดทำข้อตกลงนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียในกรอบเวลา 3 ปี ท่ามกลางประเด็นท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นหลังรัสเซียบุกยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นอกเหนือจากการพบกันระหว่างปธน.ปูติน กับนายกฯ โมดีแล้ว ที่ทั่วโลกจับตามอง คือ การพบกันของปธน.ปูติน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในการหารือนอกรอบในเวทีเดียวกันนี้ด้วย

อินเดียและจีนเป็นผู้ซื้อพลังงานรายสำคัญของรัสเซีย ซึ่งช่วยพยุงความเสียหายจากผลกระทบของมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก อีกทั้งยังช่วยอินเดียและจีนสามารถซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ จากรัสเซียในราคาส่วนลดเมื่อเทียบกับราคาในตลาดโลก

และที่ผ่านมาอินเดียและจีนไม่ได้ออกมาวิจารณ์การรุกรานยูเครนของรัสเซียแต่อย่างใด

ในประเด็นเรื่องน้ำมัน ประเทศในกลุ่มจี-7 อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคมเป็นต้นไป เพื่อหวังตัดวงจรรายได้ของรัสเซียด้านน้ำมันในตลาดโลก แต่จนถึงขณะนี้ อินเดียและจีนยังไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะเข้าร่วมบังคับใช้มาตรการดังกล่าวด้วยหรือไม่

กระทรวงการต่างประเทศจีนปฏิเสธที่จะให้คำตอบในการแถลงข่าวประจำวันนี้ (13 ก.ย.) ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน จะพบปะกับนายวลาดีเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย หรือนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียหรือไม่ ในระหว่างการประชุมสุดยอดขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ซึ่งจะจัดขึ้นในสัปดาห์นี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้น ณ เมืองซามาร์กันต์ ประเทศอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย.

ทั้งนี้ การเดินทางเยือนอุซเบกิสถานดังกล่าวนับว่ามีความหมายต่อปธน.สี เนื่องจากมีขึ้นก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 16 ต.ค.

ทางการจีนยืนยันว่า นายสี จิ้นผิง ผู้นำจีน มีแผนเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียกลางในสัปดาห์นี้ นับเป็นทริปเยือนต่างประเทศครั้งแรกของประธานาธิบดีจีนในรอบ 2 ปีกว่านับตั้งแต่ที่โควิด-19 ระบาด

กระทรวงต่างประเทศจีนเปิดเผยผ่านแถลงการณ์ว่า ปธน.สีจะเดินทางเยือนคาซัคสถานและอุซเบกิสถานตั้งแต่วันพุธจนถึงวันศุกร์ (14-16 ก.ย.) โดยทางอุซเบกิสถานจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ณ เมืองซามาร์กันต์ ซึ่งนายสีจะได้พบปะกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียเป็นครั้งแรกนับแต่ที่การรุกรานยูเครนเปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนก.พ.

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ทริปเดินทางเยือนเอเชียกลางครั้งนี้ถือเป็นการหวนคืนสู่การปรากฏตัวระดับโลกครั้งแรกของปธน.สีนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2563 หลังจากที่เป็นผู้นำกลุ่ม G20 เพียงคนเดียวที่หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ การเดินทางเยือนเอเชียกลางยังมีความหมายต่อตัวปธน.สีเองด้วย เนื่องจากมีขึ้นก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 16 ต.ค. การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทุก 5 ปี โดยปีนี้ความพิเศษอยู่ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงมีแนวโน้มจะกุมอำนาจผู้นำประเทศต่อเป็นสมัยที่ 3 โดยถือเป็นการท้าทายธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าประธานาธิบดีแต่ละคนสามารถรั้งตำแหน่งผู้นำแดนมังกรได้เพียง 2 สมัย รวมทั้งสิ้น 10 ปี ก่อนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนนำไปสู่การยกเลิกข้อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2561

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation-SCO) เป็นองค์การการเมือง เศรษฐกิจและการทหารระหว่างทวีป ซึ่งเป็นองค์การภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดตามด้านภูมิศาสตร์และประชากร โดยกินพื้นที่ยูเรเชียประมาณ 60% ประชากรโลก 40% และจีดีพีทั่วโลกที่มากกว่า 30%.

SCO สืบต่อจาก เซี่ยงไฮ้ไฟฟ์ ซึ่งเป็นข้อตกลงความมั่นคงร่วมกันที่ก่อตั้งใน ค.ศ. 1996 ที่มีสามชิกเป็นประเทศจีน, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, รัสเซีย และทาจิกิสถาน ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2001 ผู้นำจากชาติเหล่านี้กับอุซเบกิสถานพบปะกันที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อประกาศจัดตั้งองค์การใหม่ที่เน้นถึงการร่วมมือทางการเมืองและเศรษฐกิจให้มากกว่าเดิม มีการลงนามกฎบัตร SCO ในวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 และนำไปใช้งานในวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 2003 สมาชิกในองค์การนี้เพิ่มขึ้นเป็นแปดประเทศ โดยอินเดียและปากีสถานเข้าร่วมในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 2017 อิหร่านกลายเป็นสมาชิกเต็มตัวในเดือนกันยายน ค.ศ. 2021 ที่การประชุมดูชานเบ (ทาจิกิสถาน) ประเทศอื่น ๆ บางส่วนนำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์หรือคู่ค้า


อ้างอิง   : รอยเตอร์ , บลูมเบริก, วิกิพีเดีย

ติดต่อโฆษณา!