17 กันยายน 2565
1,595
เก็บเงินแต่งงานยุคนี้ต้องมีเท่าไหร่ คิดให้ดีก่อนแต่ง..
Highlight
เมื่อหนุ่มสาวตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน และนำไปสู่ช่วงสำคัญของชีวิตนั่นคือ “การแต่งงาน” เพราะชีวิตต้องมีการวางแผนและเป้าหมายเสมอ ดังนั้นงานที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งนั้นจะต้องออกมาเรียบร้อยและสวยงาม จึงจำเป็นจะต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า KKP มีคำแนะนำการเตรียมความพร้อมก่อนแต่งของแต่ละฝ่าย เช่น เคลียร์หนี้สิน การตกลงค่าใช้จ่ายในบ้าน และเก็บเงินลงทุนร่วมกัน จากนั้นวางแผนบริหารเงินเพื่อกำหนดงานแต่งแบบ “เรียบหรู” หรือ “เรียบง่าย” โดยงบการจัดงานก็จะแตกต่างกัน
พออายุถึงวัย ก็จะมีเทศกาลยอดฮิตอย่างหนึ่งนั่นคือ งานแต่งงาน ถ้าใครจะจัดงานช่วงปลายปีแทบจะต้องเตรียมงานกันตั้งแต่ต้นปี ทั้งเรื่องจองสถานที่ จองคิวงาน ยิ่งถ้าเป็นวันที่ฤกษ์ดีด้วยแล้ว ยิ่งฮอตฮิต แต่สิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเตรียมงานแต่ง นั่นคือ การวางแผนการเงินสำหรับคนจะแต่งงาน มีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง KKP Advice Center มีคำแนะนำไว้ดังนี้ค่ะ
ก่อนจะไปดูว่าการจัดงานแต่งงานแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างและจะวางแผนเก็บเงินอย่างไร เรามี 3 สิ่งสำคัญที่อยากให้คนที่เตรียมตัวจะแต่งงานได้คำนึงถึง นั่นคือ
1. ควรเคลียร์หนี้สินที่มีให้หมดก่อนแต่ง
โดยเฉพาะหากเป็นหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้นอกระบบ ซึ่งมีภาระอัตราดอกเบี้ยที่สูง ควรมีการเปิดอกพูดคุยกันถึงรายการผ่อนชำระแต่ละเดือน อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย จำนวนงวดที่เหลือ เพื่อจะได้ทราบสภาพคล่องทางการเงินของแต่ละคน และไม่เกิดปัญหาในภายหลังตามมา
2. ตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน
ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ ค่าอาหาร ฯลฯ ใครเป็นผู้จ่าย บางบ้านอาจใช้การเก็บเงินร่วมกันเป็นกองกลางไว้ใช้จ่ายส่วนนี้ หรือบางบ้านอาจแบ่งจ่ายตามรายได้ เช่น ใครมีรายได้มากจ่ายมาก ใครมีรายได้น้อยจ่ายน้อยและไปรับผิดชอบด้านอื่นทดแทน ซึ่งเหล่านี้ไม่มีผิดถูก ขึ้นกับการตกลงกันของแต่ละบ้าน
3. แพลนเก็บเงินลงทุนร่วมกันเพื่ออนาคตที่สดใส
หลังแต่งงานหลายคู่มีแพลนซื้อบ้านซื้อรถ มีลูก เตรียมค่าใช้จ่ายการศึกษาลูก อยากมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้คุณอาจแพลนเก็บเงินร่วมกัน โดยนำเงินนั้นไปลงทุนเพื่อต่อยอดความมั่งคั่งตามวัตถุประสงค์การลงทุน เช่น อาจลงทุนในกองทุนรวมผสมที่ให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 5%, อาจลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีในลักษณะ DCA, อาจซื้อคอนโดและปล่อยให้เช่าเก็บค่าเช่าเป็นรายได้ เป็นต้น และอีกสิ่งหนึ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามนอกจากการลงทุน นั่นคือ การป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินด้วยการทำประกันภัย นั่นเอง
เมื่อเช็คความพร้อมทางการเงินได้ 3 ข้อแล้ว เรามาลองดูตัวอย่างคำนวณการวางแผนเก็บเงินจัดงานแต่งงานกัน
ตัวอย่างที่ 1 : งานแต่งงานแบบเรียบหรู งบ 1,000,000 บาท
จัดงานที่โรงแรมในเมือง เชิญแขกประมาณ 300-400 คน แพลนจะแต่งงานในอีก 3 ปีข้างหน้า
งบแต่งงานที่ต้องการคือ 1,000,000 บาท นำเงินเก็บดังกล่าว ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 5% ต่อปีแบบทบต้น เช่น ลงทุนใน กองทุนรวมผสม
(Asset Allocation ) เมื่อคำนวณย้อนกลับเป็นเงิน ณ เวลาปัจจุบันที่ต้องเก็บในแต่ละปี ตกปีละ 317,208.56 บาท หากคำนวณเป็นรายเดือนจะอยู่ที่เดือนละ 26,434.05 บาท
ตัวอย่างที่ 2 : งานแต่งงานชิค ๆ งบ 500,000 บาท
จัดที่ร้านอาหารเก๋ ๆ เชิญแขกไม่มากประมาณ 100 คน แพลนแต่งงานในอีก 3 ปีข้างหน้า
งบแต่งงานที่ต้องการคือ 500,000 บาท นำเงินไปลงทุนเช่นเดียวกับตัวอย่างที่ 1 ที่ผลตอบแทน 5% แบบทบต้น เมื่อคำนวณย้อนกลับเป็นเงิน ณ เวลาปัจจุบันที่ต้องเก็บในแต่ละปี เก็บเป็นระยะเวลา 3 ปี ตกปีละ 158,604.28 บาท หากคำนวณเป็นรายเดือนจะอยู่ที่เดือนละ 13,217.02 บาท
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าคุณแพลนจะแต่งงานแบบเรียบหรู (ตัวอย่างที่1) หรือจัดงานแบบเล็ก ๆ แต่โก้เก๋ (ตัวอย่างที่ 2) คุณก็ต้องเก็บเงินแต่งงานที่เดือนละประมาณ 27,000 บาท และ 14,000 บาท ตามลำดับ
การนำเงินเก็บที่มีอยู่ออกมาเป็นเงินตั้งต้นและนำไปลงทุนเพื่อแต่งงาน ก็เป็นอีกตัวช่วยที่ทำให้การเก็บเงินต่อเดือนของคุณลดลง หรือคุณอาจเลือกลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า 5% แต่ก็ควรอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ หรือคุณอาจจะขยับเวลาแต่งงานออกไปเพื่อเก็บเงินก็ย่อมทำได้
ที่มา : KKP Advice Center