ตลาดผันผวนหนักหลัง Fed อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 4.6% ในปีหน้า เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง 1 ดอลลาร์ = 37.38 บาท

ตลาดผันผวนหนักหลัง Fed อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 4.6% ในปีหน้า เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง 1 ดอลลาร์ = 37.38 บาท
Highlight

ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง และส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปถึงปีหน้าที่ 4.6% ทำให้ตลาดกังวลอีกครั้ง และขายสินทรัพย์เสี่ยงออกพร้อมโยกเงินลงทุนเข้าสู่ตลาดเงินสหรัฐฯ ด้านเงินบาทอ่อนค่าในรอบ 16 ปี อยู่ที่ราว 37.38 บาท เงินทุนต่างชาติยังคงไหลออกเช่นเดียวกับตลาดเอเชีย นักวิเคราะห์ชี้ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม Fed ในขณะที่แนะลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุในการแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินในวันพุธ (21 ก.ย.) ว่า เขาจะไม่พิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมายของเฟดที่ 2%


“คำพูดของผมในการแถลงข่าววันนี้ ไม่ต่างไปจากสิ่งที่ผมพูดทั้งหมดในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล” นายพาวเวลกล่าวกับผู้สื่อข่าว โดยในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น นายพาวเวลได้ส่งสัญญาณว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าจะมั่นใจว่าภารกิจในการต่อสู้กับเงินเฟ้อประสบผลสำเร็จ” นายพาวเวล กล่าว

ทั้งนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า “คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) เห็นพ้องที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง และจะเดินหน้าปรับลดอัตราเงินเฟ้อต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว ดังนั้น แนวทางที่เราคิดในขณะนี้คือ การมุ่งมั่นให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ซึ่งการทำให้ภารกิจดังกล่าวลุล่วงได้นั้น เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะขยายตัวต่ำกว่าแนวโน้มที่ควรจะเป็น และตลาดแรงงานอาจจะชะลอตัวลง”

ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการเฟดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 0.2% ในปีนี้ ลดลงจากระดับ 1.7% ที่เฟดคาดการณ์ไว้ในเดือนมี.ค. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเฟดมีความเชื่อมั่นน้อยลงในการพยุงเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (soft landing) ท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

นอกจากนี้ เฟดยังคาดว่า อัตราว่างงานจะแตะระดับ 3.8% ในสิ้นปีนี้ และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% ทั้งในปี 2566 และ 2567 ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.3% ในปี 2568 ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.0%

“ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ต่ำมาก และอาจทำให้อัตราว่างงานปรับตัวสูงขึ้นด้วย แต่ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องเผชิญ หากเราต้องการสร้างฐานเศรษฐกิจของเราขึ้นมาใหม่ และบุกเบิกแนวทางที่จะนำไปสู่การมีตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งมากขึ้นในวันข้างหน้า เราก็จำเป็นต้องจัดการกับเงินเฟ้อให้อยู่หมัด ซึ่งผมคาดหวังว่าการดำเนินแนวทางเช่นนี้จะไม่ทำให้เราเจ็บปวด”

“ผมทราบดีว่า การฟื้นฟูเสถียรภาพของเงินเฟ้อ ควบคู่ไปกับอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยและการพยุงเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้น ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ไม่มีใครรู้หรอกว่ากระบวนการนี้จะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ และไม่มีใครรู้ว่าภาวะถดถอยจะรุนแรงเพียงใด และผมยอมรับว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะอยู่ในลักษณะซอฟต์แลนดิ้งนั้นจะลดน้อยลง หากเฟดจำเป็นต้องคุมเข้มนโยบายการเงินในระดับที่รุนแรงขึ้นและใช้เวลานานขึ้น”นายพาวเวลกล่าว

หุ้นผันผวนปรับตัวลดลงทั่วโลก

สำหรับสถานการณ์ลงทุนหลังจากที่ Fed แถลงข่าวเมื่อคืนนี้ ตลาดคงกังวลกับการมุ่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปจนถึงปี 2566 และพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง โดยตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนที่ผ่านมา (21 ก.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,183.78 จุด ร่วงลง 522.45 จุด หรือ -1.70%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,789.93 จุด ลดลง 66.00 จุด หรือ -1.71% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,220.19 จุด ร่วงลง 204.86 จุด หรือ -1.79% Bitcoin หลุด 18,500 เหรียญ, ETH -6%

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นลดลง 27,053.58 จุด ลดลง 259.55 จุด หรือ -0.95%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 18,080.93 จุด ร่วงลง 363.69 จุด หรือ -1.97% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,098.77 จุด ลดลง 18.41 จุด หรือ -0.59%

ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ย.(21 ก.ย.) ลดลง 1 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 82.94 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย. 2565

ราคาทองคำในประเทศไม่เปลี่ยนแปลง สมาคมค้าทองคำ แจ้งการปรับเปลี่ยนราคาทองระหว่างวันในเช้าวันนี้(22 ก.ย.65) การซื้อขายครั้งที่ 1 ราคาไม่เปลี่ยนแปลง โดยราคาทองแท่ง รับซื้ออยู่ที่ 29,300.00 บาท ขายออกอยู่ที่ 29,400.00 บาท ส่วนราคาทองรูปพรรณ รับซื้ออยู่ที่ 28,773.68 บาท ขายออกอยู่ที่ 29,900.00 บาท 

ดร.กอบศักดิ์ วิเคราะห์ ดอกเบี้ยยังอยู่ทิศทางขาขึ้นอีกนาน

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊ก “Dr.KOB”ระบุถึงผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อคืนนี้ว่า เป็นอีก 1 คืนของการสวิง -900 จุด (หุ้น) โดยเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด แต่ที่นักลงทุนไม่โดนใจ ก็คือ ปลายปี ยัง (ต้องขึ้นดอกเบี้ย) อีก 1.25%

“หมายความว่า อย่างน้อย 0.75% อีก 1 ครั้ง และ 0.5% อีกครั้ง โดยระยะต่อไป ไปสูงสุดที่ 4.6% และดอกเบี้ยจะคงอยู่ระดับสูง เป็นเวลาพอสมควร ไม่รีบลด จนมั่นใจว่าเงินเฟ้อสยบ จากบทเรียนในอดีต พร้อมย้ำ สิ่งที่อยู่ในใจเฟดและท่านประธานนั้น ยังคงเหมือนที่พูดไปที่ Jackson Hole” ดร.กอบศักดิ์ระบุ

โดยช่วงตอบคำถามว่า ประธานเฟดบอกว่า หลังจากขึ้นดอกเบี้ยวันนี้ เราอยู่ในระดับต่ำสุดของระดับที่เริ่มส่งผลช่วยชะลอเศรษฐกิจ และยังต้องขึ้นอีกมาก หลังจากนั้น อีกไม่นาน ก็บอกต่อว่า โอกาสของการ Soft Landing ลดลงมาก จากการที่นโยบายจะต้องเข้มงวดมากขึ้น และอยู่ในระดับที่เข้มงวดมาก นานขึ้น

ธนาคารพาณิชย์ทยอยขึ้นดอกเบี้ย

ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% เป็น 3.5% ในวันนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 5 แล้ว เพื่อรักษาค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงซึ่งผูกกับดอลลาร์สหรัฐ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่งมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมในวันพุธ (21 ก.ย.) ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บรรดานักลงทุนกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ธนาคารพาณิชย์ในฮ่องกงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือไม่ ซึ่งหากปรับขึ้นก็จะนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2561

ที่ผ่านมานั้น ธนาคารรายใหญ่ ๆ เช่น เอชเอสบีซี และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ แม้ HKMA ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมทีก็ชะลอตัวอยู่แล้วเพราะถูกกดดันจากมาตรการสกัดโควิด-19 และความซบเซาของเศรษฐกิจโลก โดยรัฐบาลฮ่องกงได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจมาแล้ว 2 ครั้งในปีนี้

เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ล่าสุดแตะ 1 ดอลลาร์อยู่ที่ 37.38 บาท

ค่าเงินบาทอ่อนสุดในรอบ 16 ปี เปิดเช้านี้ที่ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ หลังเฟดเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นการส่งสัญญาณยังคงมีแนวโน้มเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องแตะระดับ 4.40% ในปีนี้   Krungthai Global Market มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.15-37.40 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.15 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าต่อเนื่องตามทิศทางเงินดอลลาร์ โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.15-37.40 บาท/ดอลลาร์ รวมถึงบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ซึ่งอาจเห็นแรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติในวันนี้ได้ นอกจากนี้ การย่อตัวของราคาทองคำรวมถึงราคาน้ำมันดิบ อาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนเข้าซื้อทองคำและน้ำมันในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าเช่นกัน

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก นายพูน กล่าว

โบรกเกอร์แนะนำซื้อหุ้นธนาคาร

บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี เปิดเผยในบทวิเคราะห์แนะนำ “ซื้อ” หุ้นธนาคารขนาดใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ได้ประโยชน์จากการที่เฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ตามคาดเมื่อคืนนี้และส่งสัญญาณว่าจะยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีหน้าเพื่อสกัดเงินเฟ้อ (Dot Plot คาดดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.4% สิ้นปีนี้ และ 4.6% ในสิ้นปีหน้า)

ดังนั้น เราประเมินว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้าวันที่ 28 ก.ย. มีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นอีก 0.25% เป็น 1.00% หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 10 ส.ค. กนง. ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีไป 0.25% เป็น 0.75% แต่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเข้าไปในระบบ, บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ระบุ

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้คาดว่าแกว่งตัวลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวลง และตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนนี้ แม้ว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ 0.75% เป็นไปตามคาด แต่ประธานเฟดยังคงมีการส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปจนถึงปี 66 และไม่มีท่าทีว่าชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะเห็นการเริ่มลดดอกเบี้ยในปี 66 บ้าง ทำให้เป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นเข้ามา

ขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้กดดันต่อสินทรัพย์อื่นๆ รวมถึงสินทรัพย์เสี่ยงที่ยังมีแรงกดดันเข้ามา และอาจจะมีแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยเข้ามาเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ซึ่งอาจจะเป็นแรงกดดันต่อหุ้นพลังงานในวันนี้ และกดดันต่อดัชนีด้วย โดยให้แนวต้าน 1,640-1,650 จุด แนวรับ 1,620-1,610 จุด

ติดต่อโฆษณา!