World Bank คาด GDP ไทยปีนี้โต 3.1% เวียดนามนำเศรษฐกิจภูมิภาคโต 7.2%

World Bank คาด GDP ไทยปีนี้โต 3.1% เวียดนามนำเศรษฐกิจภูมิภาคโต  7.2%

Highlight

นับเป็นข่าวดีที่ธนาคารโลกได้ปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 2.9% เป็น 3.1% สอดคล้องกับ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่จะฟื้นตัวในปีนี้ หลังจากผลกระทบของโควิด-19 ลดลง และกำลังจะฟื้นฟูจากการท่องเที่ยว ในขณะที่ประเทศจีนสูญเสียโมเมนตัม เนื่องจากยังคงมาตรการควบคุมโควิดอย่างต่อเนื่อง และถูกลดประมาณการณ์เศรษฐกิจเติบโตเพียง 2.8% ด้านเวียดนามจะเติบโตถึง 7.2% สูงสุดในภูมิภาค


ธนาคารโลก หรือ World Bank  ปรับประมาณการเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทย จากเดิมที่ 2.9% เป็น 3.1% หลังภาคการบริโภค การท่องเที่ยว และการส่งออกฟื้นตัว แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้ายานยนต์ สำหรับปี 66 ธนาคารโลกคาดการเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ 4.1%

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้มีการตอบรับมาตรการการด้านคลังถ้วนหน้า ทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือน ปัญหาเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่งเริ่มปรับขึ้น ในส่วนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค มาจากแรงกดดันของเงินเฟ้อ และผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า

ทั้งนี้ ธนาคารโลกมองว่า ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จะฟื้นตัวในปีนี้ หลังจากที่ต้องเจอผลกระทบของโควิด-19 ในขณะที่ประเทศจีนสูญเสียโมเมนตัม เนื่องจากยังคงมาตรการควบคุมโควิดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อุปสงค์ หนี้ที่เพิ่มขึ้น และการแก้ไขเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อเตรียมรับมือกับราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการคาดการการเติบโตของเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนอกประเทศจีน คาดว่าในปี 65 จะเร่งขึ้นเป็น 5.3% จากในปี 64 ที่ 2.6%

ในส่วนของประเทศจีน ก่อนหน้านี้เป็นผู้นำการฟื้นตัวในภูมิภาค คาดว่าในปี 65 จะเติบโต 2.8% จากในปี 64 ที่ 8.1% ส่วนเวียดนามจะกลายเป็นผู้นำเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในปีนี้ โดย GDP น่าจะขยายตัวถึง 7.2%

สำหรับภูมิภาคโดยรวมคาดว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงเหลือ 3.2% ในปีนี้ จาก 7.2% ในปี 64 ก่อนที่จะเร่งขึ้นเป็น 4.6% ในปี 66

ทั้งนี้ การเติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกส่วนใหญ่ ได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัว จากการผ่อนคลายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโควิด และการเติบโตของภาคการส่งออก

รายงานยังระบุว่า การฟื้นตัวของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคมาจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ฟื้นขึ้นมาหลังจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาในปี 2021 และความต้องการจากทั่วโลกสำหรับการส่งออกของภูมิภาคยังคงอยู่ ขณะที่การคุมเข้มนโยบายการเงินหรือการคลังยังคงมีจำกัด

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่า GDP ของฟิลิปปินส์ ไทย และกัมพูชา จะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดภายในสิ้นปีนี้

“การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เริ่มส่งผลกระทบต่อความต้องการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ในภูมิภาค และสินค้า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศได้กระตุ้นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนและภาระหนี้สูงในบางประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก” ธนาคารโลก ระบุ

ธนาคารโลกยังเตือนอีกว่า มีปัจจัย 3 ประการที่เป็นภัยคุกคามต่อการเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืนของภูมิภาคนี้ ได้แก่

1. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะกดดันความต้องการส่งออก การผลิต และสินค้าโภคภัณฑ์ของภูมิภาค

2. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในต่างประเทศยังคงเร่งให้ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุน การอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น และทำให้ภาระในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น

3. มาตรการเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและหนี้สินบางประการกำลังบิดเบือนตลาดอาหาร เชื้อเพลิง และการเงิน

อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก ยังแนะนำให้รัฐบาลในภูมิภาคใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมๆ กับการปฏิรูปนโยบายที่ทำให้เกิดการบิดเบือนตลาดที่มีมายาวนาน ตัวอย่างเช่น การใช้มาตรการจ่ายเงินสดให้แก่ประชาชนแทนการควบคุมราคา จะไม่บิดเบือนทางเลือก และสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้ที่ต้องการที่สุดได้

ในด้านอาหาร รัฐบาลควรหันมาให้ความสำคัญกับจากความมั่นคงด้านอาหารที่เน้น “ข้าว”เป็นหลักไปสู่ “ความมั่นคงทางโภชนาการ”โดยการลดเงินอุดหนุนและอุปสรรคทางการค้าเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมข้าว และหันมาช่วยส่งเสริมการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลายแทน

ในด้านเชื้อเพลิง การตอบสนองนโยบายควรช่วยตอบสนองความต้องการพลังงานราคาไม่แพงในทันที โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานและความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนอาจช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล และช่วยรัฐบาลบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษได้

ในด้านการเงิน ควรต้องส่งเสริมความสามารถของภาคการเงินในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การรายงานคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอย่างโปร่งใสและทันเวลา จะสามารถช่วยประเมินและจัดการกับความเสี่ยงของการจัดสรรเครดิตที่ผิดพลาดที่เกิดในช่วงการระบาดใหญ่ได้

 

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/asia/world-bank-forecasts-thai-gdp-growth-31-this-year-2022-09-27/

BCC

ติดต่อโฆษณา!