“ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก "พล.อ.ประยุทธ์" ดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560

“ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก "พล.อ.ประยุทธ์" ดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560
Highlight

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งไม่ครบครบวาระ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 กำหนดไว้ สามารถกลับไปทำงานในตำแหน่งได้ตามเดิม โดยในวันจันทร์ที่ 3 ต.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับเข้าปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้นักธุรกิจตอบรับ และมองว่านโยบายด้านต่างๆ จะทำได้ต่อไปไม่สะดุด เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่ไม่ผลกระทบจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้


ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งพิจารณาเพื่ออ่านคำวินิจฉัย เรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 กำหนดไว้ เพราะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวประกาศใช้ปี พ.ศ.2560

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ส่วนการดำรงตำแหน่งก่อนหน้านั้น เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ประกาศใช้ให้ถือว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมถึงการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากรัฐสภา

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บางคนจะมีความเห็นว่าการนับวาระควรจะนับตั้งแต่เริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งนั้นเป็นเพียงความเห็นที่ถูกบันทึกไว้ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว จึงไม่มีผล และไม่ได้มีกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามความในมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 นับแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ถึงวันที่ 24 ส.ค.2565 ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า สำหรับมติคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 ต่อ 3 เสียงนั้น ปรากฎว่าเสียงข้างมาก 6 เสียง ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, และ 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน

ส่วนเสียงข้างน้อย 3 เสียง ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ 3.นายนภดล เทพพิทักษ์

ดันพล.ต.วิระ โรจนวาศ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย ผู้รับผิดชอบจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของศาลระบุว่านายกรัฐมนตรียังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถปฎิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้ และนายกรัฐมนตรีคงรับทราบแล้ว แต่หลังจากนี้ก็จะรายงานด้วยวาจาอีกครั้ง

ทั้งนี้ หากนับวาระของ พลเอก ประยุทธ์ ตั้งแต่ 6 เม.ย.2560 ถ้าจะลงเลือกตั้งสมัยหน้า และเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ก็จะครบในปี 68 ซึ่งพลตรีวิระ กล่าวว่า ก็ต้องเป็นแบบนั้น เพราะศาลได้บอกว่านับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ในปี 2560 ก็ต้องนับไป 8 ปี และช่วงที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราวก็คงจะไม่นับรวม

พล.ต.วิระ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะสามารถเรียกพล.อ.ประยุทธ์ ว่านายกรัฐมนตรีได้ทันที และจะเริ่มทำงานได้ทันที โดยในวันจันทร์ที่ 3 ต.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับเข้าปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาล

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยตอบรับนายกฯ ลุยต่อ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ให้นายกรัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งได้ต่ออีก 2 ปี โดยนับอายุการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 หอการค้าไทยเห็นว่า เป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่จะดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง

“ท่านนายกรัฐมนตรีสามารถกลับมาทำงานและยังมีอำนาจเต็มเหมือนเดิม การอนุมัติงบประมาณหรือการตัดสินใจต่าง ๆ ของรัฐบาล ก็สามารถเดินหน้าได้ ทำให้ความเชื่อมั่นทั้งของนักธุรกิจไทยและต่างชาติกลับมา เศรษฐกิจก็ยังสามารถดำเนินได้ต่อ รวมถึงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของประเทศไทยก็ดำเนินได้ต่อ โดยที่การเจรจาต่าง ๆ ยังสามารถให้คำมั่นสัญญาได้อย่างเต็มที่เชื่อว่าผลการตัดสินนี้ จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติได้อย่างมาก และยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% ในปีนี้”

โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ยังดีกว่าหลาย ๆ ประเทศ แม้ว่าขณะนี้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่ก็ดีกว่าหลาย ๆ ประเทศ พร้อมทั้งอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้ขึ้นสูงมาก เชื่อว่า ธปท.กำลังดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แต่หากไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่ามากกว่านี้ สิ่งสำคัญในขณะนี้ที่รัฐบาลควรดำเนินการ คือการดูแลปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งหอการค้าไทยและเครือข่าย พร้อมให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สิ่งที่ยังกังวล ก็คือ ปัญหาการเมืองนอกสภา ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลต้องใช้ความอดทนและประนีประนอม โดยไม่ใช้ความรุนแรง รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะปีหน้าก็มีการกำหนดวันเลือกตั้งไว้แล้ว หากสภาอยู่จนครบวาระ

หุ้นไม่เคลื่อนไหว

นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส กล่าวว่า คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลกระทบต่อตลาดมีน้อย เนื่องจากไม่ว่าผลออกมาด้านใดถือเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและไม่ได้นำไปสู่ทางตัน 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกร กล่าวว่า จากนี้ต้องติดตามการเมืองนอกสภา จะมีความเคลื่อนไหวต่อต้านผลการตัดสินหรือไม่  โดยรวมแล้วฝ่ายวิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมคือ ตลาดหุ้นไทยลงมารอบนี้แนะนำทยอยซื้อสะสม โเยคาดว่าจากเงินเฟ้อไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ตามราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่จีดีพีไทยกำลังฟื้นตัว 

ตลาดหลักทรัพย์ไทยแกว่งตัวแคบๆ หลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญออกมา เนื่องจากตลาดมองว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง นายกรัฐมนตรีคนเดิมอยู่ในตำแหน่งต่อไป ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยการลงทุนให้น้ำหนักปัจจัยภายนอกและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นหลัก

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง โดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง โดยนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับนั้น หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าว เชื่อได้ว่าจะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักวิชาการและประชาชนในวงกว้างที่ไม่เห็นด้วย

พรรคเพื่อไทยเคารพในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและผลผูกพันแห่งคำวินิจฉัย แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย เนื่องจากรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร การตีความต้องยึดตามบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญประกอบกัน เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 บัญญัติห้ามการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี และให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ แต่เมื่อถือเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 24 ส.ค. 2557 ก็ยังคงมีผลใช้อยู่ต่อเนื่องมาภายหลังวันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การตัดตอนเอาวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นวันเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อาจหาตรรกะใดมาอธิบายได้

อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏชัดในบันทึกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนวันรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับรวมด้วย อันถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็รับรู้เป็นการทั่วไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งมาแล้วตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. 2565

พรรคเพื่อไทย จึงเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการตีความที่นักวิชาการกฎหมายและสังคมต้องร่วมกันคิดว่าหลักคิดและเหตุผลในการวินิจฉัยนั้นมีเหตุผลที่สอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงช่วยกันทบทวนถึงบทบาทการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทบัญญัติที่ให้คำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กรนั้น ควรจะมีการทบทวนเพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบให้เกิดความเหมาะสมอย่างไร

อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยไม่ได้กังวลว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปจนถึงครบวาระในเดือน มี.ค.2566 และยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีก หลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า แต่สิ่งที่พรรคห่วงและกังวลก็คือ ปัญหารากเหง้าที่กลืนกินสังคมไทยที่สั่งสมมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา จะได้รับการเยียวยาแก้ไขเพื่อให้ประเทศกลับคืนสู่สังคมประชาธิปไตย มีหลักนิติรัฐนิติธรรมโดยแท้จริงอย่างไร

นอกจากนี้ ที่น่าห่วงกังวลอีกประการคือ บรรทัดฐานความความถูกต้องของการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเห็นว่าน่าจะมีปัญหา แต่ไม่มีกลไกใดที่จะตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นโจทก์ใหญ่ที่ทุกคน ในสังคมต้องช่วยกันคิดและหาทางออกต่อไป

ติดต่อโฆษณา!