ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า หลังจากมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือน พ.ย.

ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า หลังจากมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือน พ.ย.
Highlight

เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่ารอบใหม่ เมื่อประธานธนาคารกลางสหรัฐสาขาต่างๆ ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมในเดือนพ.ย.ประกอบกับตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ทำให้คาดการณ์ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบต่อไป อาจจะต้องปรับขึ้นอีก 0.75% จากก่อนหน้าที่คาดว่าจะปรับขึ้นเพียง 0.5% ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่ม ทั้งนี้ Fed จะยังคงเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1.25% ในปีนี้ และขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกราว 0.25% ในปีหน้า หลายประเทศก่อนหน้าที่ทุ่มเงินทุนสำรองเพื่อป้องกันค่าเงินตนเองผันผวนเท่ากับสูญเปล่า และวันนี้กลับมาอ่อนค่าเช่นเดิม


ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (6 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ในการประชุมเดือนพ.ย. ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 1.07% แตะที่ระดับ 112.2590

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 145.05 เยน จากระดับ 144.47 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9905 ฟรังก์ จากระดับ 0.9825 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3751 ดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3602 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.9798 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9895 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1151 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1344 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6408 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6507 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดยังคงหนุนการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 70.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. และให้น้ำหนักเพียง 29.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%

หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนพ.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย. ก.ค. และ ก.ย.

นายนีล แคชแครี ประธานเฟดสาขามินเนอาโพลิสกล่าวว่า เฟดไม่มีแนวโน้มที่จะชะลอการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ จนกว่าจะมีหลักฐานบ่งชี้ว่าอัตรา

เงินเฟ้อพื้นฐานได้ชะลอตัวลงแล้ว ซึ่งขณะนี้แทบไม่มีหลักฐานแสดงว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ขณะเดียวกันเขากล่าวว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน แต่การที่เฟดจะทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพียงเพื่อจะช่วยเหลือตลาดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยง่าย

ขณะที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์คาดการณ์ว่า คณะกรรมการเฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.25% ก่อนสิ้นปี 2565 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก

นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันพรุ่งนี้, รายงานการประชุมของเฟดประจำเดือนก.ย.ในวันที่ 12 ต.ค. และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันที่ 13 ต.ค. เพื่อหาสิ่งบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 26,975.92 จุด ร่วงลง 335.38 จุด หรือ -1.23%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 17,851.62 จุด ลดลง 160.53 จุด หรือ -0.89% ส่วนตลาดหุ้นจีนปิดทำการวันที่ 3 - 7 ต.ค. เนื่องในวันชาติ

ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนลบในวันนี้ (7 ต.ค.) โดยเมื่อเวลา 11.12 น. ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1,582.34-จุด ลดลง -6.19 จุด หรือ -0.39%

ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 18,741.64 ล้านบาท

คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้งและลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง กดดันให้ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง -1.02% หลังจากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างเน้นย้ำความจำเป็นในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ 

นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดก็ยังคงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ย อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ระดับ 219,000 ราย ซึ่งภาพดังกล่าวส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.80% อีกครั้ง

กดดันให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของหุ้นกลุ่มเทคฯ และ หุ้นสไตล์ Growth ออกมากบ้าง (Tesla -1.1%, Microsoft -0.9%, Amazon -0.5%) ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง (Exxon Mobil +3%, Chevron +1.8%) ตามราคาน้ำมันดิบ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่าตลาดน้ำมันจะยังคงเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องราว -0.64% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ภายใต้สถานการณ์ที่แนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปก็ชะลอตัวลงมากขึ้น โดยล่าสุด ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยูโรโซน ในเดือนสิงหาคม หดตัวต่อเนื่องราว -0.3% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้คนที่ลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูง การเร่งขึ้นดอกเบี้ยและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโดยรวม

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นราว +0.9% สู่ระดับ 112.2 จุด หนุนโดยท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ท่าทีระมัดระวังของผู้เล่นในตลาดยังคงหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวนในระยะนี้

ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,720 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินเฟด จากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันนี้ก่อน

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลสำคัญของตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกันยายน อาจสูงกว่า 2.6 แสนราย ทำให้อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 3.7% ส่วนการเติบโตของรายได้ (Average Hourly Earnings) อาจสูงราว 5.1%y/y สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและจะหนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุดของเฟด ซึ่งแปลว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1.25% ในปีนี้ และขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกราว 0.25% ในปีหน้า

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจกดดันบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งอาจยังคงหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง (หรืออย่างน้อยแกว่งตัว sideways หลังจากปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง) กดดันให้ เงินบาทในวันนี้มีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งต้องจับตาทั้งทิศทางของราคาทองคำว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องหรือยังคงแกว่งตัว Sideways โดยหากราคาทองคำปรับตัวลดลงใกล้โซนแนวรับ ก็อาจมีโฟลว์เข้าซื้อในจังหวะย่อตัว กดดันเงินบาทอ่อนค่าได้ 

ขณะเดียวกันทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา เพราะหากแรงขายสินทรัพย์ไทยยังมีต่อเนื่อง ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ แต่เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย หลังราคาปรับตัวลงมาจนน่าสนใจ อีกทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ทำให้ภาพรวมผลประกอบการของตลาดหุ้นไทยดูโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นเอเชียโดยรวม

อนึ่งเรามองว่า ควรระมัดระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดอาจยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงได้ หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก สะท้อนว่าเฟดอาจสามารถเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยตาม Dot Plot ได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว เราอาจเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทั้งนี้ แนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 37.60-37.80 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่ แนวรับของเงินบาทได้ลดลงมาสู่ระดับ 37.10-37.20 บาทต่อดอลลาร์

ติดต่อโฆษณา!