ประเทศต่างๆ ออกกฎหมายหลังเกิดเหตุกราดยิงอย่างไร?

ประเทศต่างๆ ออกกฎหมายหลังเกิดเหตุกราดยิงอย่างไร?
Highlight

นับเป็นเหตุสลดที่เกิดการยิงกราดในศูนย์ดูแลเด็กเล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองบัวลำภู ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ถึง 24 คน ขณะที่ รัฐบาลนานาชาติร่วมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในประเทศไทย และนับเป็นเหตุสะเทือนใจคนไทยและชาวโลกเป็นอย่างยิ่งต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น ในต่างประเทศนั้นมีการออกกฏหมายเข้มงวดในการพกพาอาวุธปืนและการฝึกอบรมเจ้าหน้าในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด เพื่อป้องกันอันตรายจากเหตุดังกล่าว


จากการรวบรวมของรอยเตอร์ เกี่ยวกับกฎหมายที่บางประเทศออกหลังเกิดเหตุกราดยิง ซึ่งมีด้วยกันหลายประเทศ

สหรัฐฯ เป็นประเทศหนึ่งที่เกิดเหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมหลายครั้ง ครั้งหนึ่งในรัฐเท็กซัสที่คร่าชีวิตนักเรียนถึง 19 คนและครูสองคน ทำให้มีกระแสเรียกร้องกฎหมายควบคุมความปลอดภัยของปืนในสหรัฐฯ อีกครั้ง  โดยสหรัฐฯ ถูกเปรียบเทียบกับประเทศรายได้สูงหลายประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯ มีจำนวนอาวุธปืนมากกว่าจำนวนประชากร และมีกฎหมายที่เอื้อต่อการครอบครองปืนมากกว่า 

ข้อมูลจากกลุ่มวิจัยไม่แสวงหาผลกำไร Gun Violence Archive ระบุว่า ในปีนี้ มีเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ แล้วกว่า 200 ครั้ง ขณะที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ ระบุว่า เมื่อปีค.ศ. 2020 มีผู้เสียชีวิตจากปืนรวมทั้งการฆ่าตัวตายในสหรัฐฯ กว่า 45,000 คน

มีการเสนอร่างกฎหมายควบคุมปืนอย่างเข้มงวดในรัฐสภาอเมริกัน หลังเกิดเหตุกราดยิงในแต่ละครั้ง แต่ร่างกฎหมายเหล่านี้มักถุกตีตกโดยนักการเมืองจากพรรครีพับลิกัน นักกการเมืองอิสระ และนักการเมืองสายกลางบางส่วนจากพรรคเดโมแครต

แคนาดา

แคนาดาออกกฎหมายกำหนดให้มีการอบรมหลักสูตรความปลอดภัย การตรวจประวัติ และเพิ่มบทลงโทษอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการใช้ปืนบางประเภท โดยมีการออกกฎหมายหลังเกิดเหตุกราดยิงที่วิทยาลัย École Polytechnique ในเมืองมอนทรีออล เป็นเหตุให้มีนักศึกษาหญิง 14 คน เสียชีวิต เมื่อปีค.ศ. 1989

ต่อมาในปีค.ศ. 2020 เกิดเหตุกราดยิงในรัฐโนวาสโกเชีย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน หลังเกิดเหตุครั้งนี้ แคนาดาสั่งห้ามครอบครองอาวุธปืนแบบจู่โจมและส่วนประกอบกว่า 1,500 ประเภท และจำกัดประสิทธิภาพการทำลายของกระสุนปืน

บทวิเคราะห์จากสถาบัน Institute for Health Metrics and Evaluation หรือ IHME ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า อัตราการเกิดเหตุฆาตกรรมจากปืนในแคนาดาอยู่ที่ 0.5 คนต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับอัตราของสหรัฐฯ ที่อยู่ที่ 4.12 คนต่อประชากร 100,000 คน 

ออสเตรเลีย 

หลังเกิดเหตุกราดยิงที่เมืองพอร์ท อาร์เธอร์ รัฐแทสเมเนีย จนมีผู้เสียชีวิต 35 คน เมื่อปีค.ศ. 1996 ออสเตรเลียสั่งห้ามครอบครองปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ และปืนลูกซองแบบ “ปั๊มแอ็คชั่น” ทุกประเภท ปืนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหลายพันกระบอกถูกนำมามอบให้ทางรัฐภายใต้โครงการนิรโทษกรรมผู้ครอบครองอาวุธปืนผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ผู้ครอบครองปืนที่ขึ้นทะเบียนต้องเข้าอบรมหลักสูตรความปลอดภัย

บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์จากข้อมูลของสำนักงานสถิติของออสเตรเลีย ระบุว่า เมื่อปีค.ศ. 2014 โอกาสที่จะถูกอาวุธปืนสังหารในออสเตรเลียลดลงเหลือ 0.15 คน ต่อประชากร 100,000 คน  ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลง 72% เมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อปีค.ศ. 2014 ที่อยู่ที่ 0.54 คนต่อประชากร 100,000 คน

อังกฤษ

เหตุกราดยิงสังหารเด็กนักเรียน 16 คนและครูหนึ่งคนในเมืองดันเบลนด์ของสกอตแลนด์ เมื่อปีค.ศ. 1996 จุดชนวนให้มีการรณรงค์ครั้งใหญ่จนอังกฤษออกกฎหมายควบคุมปืนที่เข้มงวดที่สุดฉบับหนึ่งของโลก โดยภายในสองปีหลังจากนั้น อังกฤษออกกฎหมายห้ามพลเมืองครอบครองปืนพก 

บทวิเคราะห์ของสถาบัน IHME เมื่อปีที่แล้วระบุว่า อัตราการเกิดเหตุฆาตกรรมจากอาวุธปืนในอังกฤษอยู่ที่ 0.04 คนต่อประชากร 100,000 คน

นิวซีแลนด์

ผู้นำนิวซีแลนด์ประกาศห้ามจำหน่ายอาวุธจู่โจมไม่กี่วันหลังเกิดเหตุกราดยิงมัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ชจนมีผู้เสียชีวิต 50 คน เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019  หลังจากนั้นไม่นาน รัฐสภาเห็นชอบให้มีการห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือและห้ามใช้อาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติ ส่วนประกอบดัดแปลงอาวุธปืนให้กลายเป็นอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติ ซองปืนที่บรรจุลูกปืนได้ระดับหนึ่ง และปืนสั้นบางประเภท

ทั้งนี้ นิวซีแลนด์มีเหตุฆาตกรรมจากอาวุธปืนต่ำ โดยเมื่อปีค.ศ. 2018 เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าว 12 ครั้ง และเมื่อปีที่แล้ว เกิดเหตุ 11 ครั้ง

สื่อต่างชาติรายงานเหตุยิงกราดหนองบัวลำภู-นานาชาติร่วมแสดงความเสียใจ

สื่อต่างชาติรายงานเหตุสลดยิงกราดในจังหวัดหนองบัวลำภู ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย ซึ่งรวมถึงเด็ก 24 คน ขณะที่ รัฐบาลนานาชาติร่วมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้

การยิงกราดที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งในวันพฤหัสบดี โดยอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการเมื่อปีที่แล้วเนื่องจากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับยาเสพติดและกำลังถูกดำเนินคดีในชั้นศาลจากข้อหาดังกล่าว กลายเป็นประเด็นข่าวที่สื่อทั่วโลกให้ความสนใจนำเสนอทันที

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานโดยอ้างข้อมูลจากสื่อในไทย ว่า ปัญญา คำราบ อดีตนายตำรวจวัย 34 ปี คือ ผู้ก่อเหตุสลดครั้งนี้

หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ 34 คนในศูนย์รับเลี้ยงเด็กแห่งนี้ที่มีเด็ก ๆ อยู่ราว 30 คน โดยมือปืนบุกเข้าไปในพื้นที่เวลา 12.30 น. ซึ่งเป็นเวลานอนพักกลางวันของเด็ก ๆ ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ โดยในกลุ่มเด็กที่เสียชีวิตนั้นมีบางรายที่มีอายุเพียง 2 ขวบเท่านั้น

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ Human Rights Watch บอกกับ วีโอเอ ว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการควบคุมปืน และควรมีการลงมือทำการบางอย่างเพื่อจัดการกับเรื่องนี้ด้แล้ว

โรเบิร์ตสัน ระบุในอีเมล์ที่ส่งให้ วีโอเอ ว่า “โศกนาฎกรรมที่ไม่มีใครคาดคิดถึงมาก่อนนี้คือ สัญญาณเรียกร้องให้มีการลงมือแก้ปัญหา สิ่งที่ชัดเจนแล้วก็คือ ประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยปืน ทั้งแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย และนี่คือเหตุยิงกราดครั้งที่สองในรอบสองปี ถึงเวลาที่ไทยจะตื่นขึ้นมาและตระหนักว่า การปกป้องประชาชนชนนั้นหมายถึง การควบคุมสถานการณ์ให้ได้ มากกว่าจะมองว่านี่คือ เหตุการณ์ที่ ‘เกิดขึ้นครั้งเดียว’ ซึ่งไม่ต้องใส่ใจมากก็ได้”

ที่มา : Reuters   BBC

https://www.voathai.com/a/gunman-in-thailand-kills-at-least-30-at-childcare-center-world-reactions/6778581.html

ติดต่อโฆษณา!