สภาพภูมิอากาศโลกรวน เกิดปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีซ้อน เกิดจากฝีมือมนุษย์ในการทำภาวะโลกร้อน
Highlight
ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในปีนี้ค่อนข้างรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และได้ความเสียหายทั้งกับชีวิตและทรัพย์สินกับหลายพื้นที่บนโลก ภาวะที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้มาได้รับผลกระทบมาจากภาวะโลกร้อน ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ น้ำมหาสมุทรแปซิฟิกด้านหนึ่งหนาว ด้านหนึ่งร้อนจนทำให้เกิดกระแสลมพัด เกิดฝนตกหนัก หรืออากาศแห้งยาวนานกว่าปกติ
เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ประกาศว่าปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ซึ่งทำให้ฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในแถบแปซิฟิก มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปอีกนานหลายเดือนในปีนี้และปีหน้า ทำให้นับเป็นปีที่สามแล้วที่สภาพภูมิอากาศแบบดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกัน
ปรากฏการณ์ลานีญารอบปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก.ย. 2020 และมีความเป็นไปได้ 55-70% ที่จะดำเนินต่อไปจนถึง ก.พ. 2023 หรือยาวนานยิ่งกว่านั้น
การเกิดลานีญาถึง 3 ปีซ้อน จัดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หาพบได้ยากมาก โดยเคยมีการบันทึกไว้เพียง 2 ครั้งในประวัติศาสตร์ ระหว่างช่วงปี 1973-1976 และ 1998-2001
ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ นำโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (UW) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานวิจัยว่าด้วยความผิดปกติของปรากฏการณ์ลานีญาดังข้างต้น ลงในวารสาร Geophysical Research Letters ฉบับวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา
ทีมผู้วิจัยระบุว่า หลักฐานจากการติดตามความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำ ทั้งในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ชี้ว่าปรากฏการณ์ลานีญาที่รุนแรงและยาวนานเกินกว่าที่เคยเป็นมา ไม่ใช่วงจรความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยฝีมือมนุษย์
ข้อมูลในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ชี้ว่าอุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณนอกชายฝั่งอเมริกาใต้เย็นตัวลง ในขณะที่อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก และมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันออกกลับร้อนขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับห้วงน้ำอื่น ๆ ของโลก
สภาพการณ์นี้ทำให้ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกกับตะวันออกเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดเป็นกระแสลมพัดแรงเข้าหาอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้ปรากฏการณ์ลานีญารุนแรงขึ้นตามไปด้วย
ดร. โรเบิร์ต เจนกลิน วิลส์ ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันบอกว่า “ตามปกติแล้ว มหาสมุทรแปซิฟิกจะมีวงจรของภูมิอากาศที่สลับสับเปลี่ยนไปมาปีละครั้ง ระหว่างปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) กับลานีญา แต่ภาวะโลกร้อนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก กำลังเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดลานีญาอย่างรุนแรงและยาวนาน ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา”
ทีมผู้วิจัยยังระบุในรายงานว่า ปรากฏการณ์ลานีญาแบบผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้น ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบในแบบจำลองภูมิอากาศโลก (climate model) ซึ่งใช้เป็นหลักในการทำนายความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศในปัจจุบัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ความผิดปกตินี้น่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มากกว่าจะเป็นวงจรความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยมองว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาว จะส่งผลเอื้อให้ปรากฎการณ์เอลนีโญซึ่งตรงข้ามกับลานีญาเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า โดยคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิก แทนที่ภาวะฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในขณะนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นเท่านั้น
ที่มา : BBC