“หยวน” สกุลเงินหลักค้าขายกับอาเซียน พาณิชย์เผยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดมาเป็นเวลา 13 ปีติดต่อกัน

“หยวน” สกุลเงินหลักค้าขายกับอาเซียน  พาณิชย์เผยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดมาเป็นเวลา 13 ปีติดต่อกัน

Highlight

ความสัมพันธ์ทางการค้า จีนและอาเซียนแนบแน่นมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จนอาเซียนกลายเป็นคู่ค้าลำดับหนึ่งของจีนแซงชาติยุโรป มูลค่าการค้าในปี 2564 ผ่านมา แตะ 4.8 ล้านล้านหยวน หรือราว 6.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% ท่ามกลางสถานการณ์โควิด เครือข่ายการชำระเงินและการชำระบัญชีของสกุลเงินหยวนระหว่างจีน-อาเซียน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ


การชำระเงินเงินข้ามพรมแดนของกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยเงิน ‘เหรินหมินปี้’ หรือสกุลเงิน ‘หยวน’ ยังคงรักษาระดับการเติบโตและเป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้น โดย Financial News อ้างรายงานเกี่ยวกับการใช้เงินหยวนในกลุ่มประเทศอาเซียนว่า ปริมาณเงินหยวนที่ใช้ในการชำระบัญชีระหว่างจีน-อาเซียน เพิ่มขึ้นเกือบ 20 เท่าในทศวรรษที่ผ่านมา

รายงานที่ถูกเปิดเผยโดยสมาคมการเงินแห่งกว่างซี ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำจีน-อาเซียนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินและการพัฒนาครั้งที่ 14 ระบุว่า ในปี 2564 มูลค่าการชำระบัญชีโดยใช้เงินหยวนแตะ 4.8 ล้านล้านหยวน หรือราว 6.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ภายในสิ้นปี 2564 จีนได้แยกลงนามในความตกลงทวิภาคีเพื่อชำระด้วยสกุลเงินหยวน กับเวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา รวมถึงความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตรา กับอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย มูลค่าราว 8 แสนล้านหยวน แสดงให้เห็นว่า เครือข่ายการชำระเงินและการชำระบัญชีของสกุลเงินหยวนระหว่างจีน-อาเซียน ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สถาบันการเงินในอาเซียนทั้งหมด 16 แห่ง ได้เข้าร่วมในระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามพรมแดน (CIPS) แบบทางอ้อม เมื่อปี 2564 ซึ่งทำให้ CIPS ได้รองรับธุรกิจการค้าข้ามพรมแดนระหว่างจีน-อาเซียน เป็นมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ต่อปี

ทั้งนี้ ด้วยการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ทำให้คาดว่าสกุลเงินหยวนจะถูกนำไปใช้ในประเทศอาเซียนในวงกว้างมากขึ้น

ขณะที่ ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่าจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนมาเป็นเวลา 13 ปีติดต่อกัน และอาเซียนได้แซงหน้าสหภาพยุโรป กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในปี 2563 เช่นกัน

นอกจากนี้ ข้อมูลของกรมศุลการกรระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม ปริมาณการค้าระหว่างจีนและอาเซียนสูงถึง 6.276 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.3% ขณะที่การค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิก RCEP อื่นๆ โตขึ้น 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ที่มา :  AEC Connect-ธนาคารกรุงเทพ

ติดต่อโฆษณา!