ญี่ปุ่น-เกาหลี สงครามในอดีต ชาตินิยมในปัจจุบัน ความขัดแย้งที่ฝังรากลึกตลอดกาล
Highlight
ความขัดแย้งญี่ปุ่น-เกาหลีมีมานาน ในอดีตญี่ปุ่นเคยรุกรานเกาหลี และครอบครองเกาหลีนานถึง 35 ปี ตั้งแต่ปี 1910 จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ในระหว่างสงครามทหารญี่ปุ่นได้สร้างรอยเจ็บช้ำให้กับคนเกาหลีไว้ไม่น้อย อย่างไรก็ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูไม่ได้คิดว่าด้อยไปกว่าญี่ปุ่น ประเด็นด้านประวัติศาสตร์ ชาตินิยม ที่เคยฝังรากลึกของทั้งสองชาติมีโอกาสที่เดินข้ามไป ส่วนทางเกาหลีเหนือคงยากที่จะเห็นพัฒนาการสันติในระยะใกล้นี้
ดร. ทรายแก้ว ทิพากร สถาบันเอเชียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงทรรศนะ ต่อความขัดแย้งของชาติญี่ปุ่น-เกาหลีในอดีตไว้ว่า เมื่อก่อนเราอาจเห็นความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้อยู่ในช่วงเสื่อมโทรมลงอย่างยิ่ง อันเนื่องจากจากหลายประเด็นของเหตุการณ์ในอดีต โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2018 ศาลฎีกาของเกาหลีใต้ได้ตัดสินให้บริษัทญี่ปุ่น Nippon Steel & Sumitomo Metal Corp และบริษัท Mitsubishi Heavy Industries ต้องชดใช้ค่าความเสียหายที่เกิดแก่จำเลย 4 ราย ซึ่งเป็นโจทย์ เป็นจำนวน 400 ล้านวอน คำตัดสินของศาลฎีกากลายเป็นชนวนให้ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ลุกลามใหญ่โตขึ้น
ทั้งสองฝ่ายต่างออกมาตรการทางการค้าเข้าใส่กัน ทั้ง ๆ ที่ความขัดแย้งด้านการค้าส่งผลกระทบต่อทั้งสองฝ่าย ไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์ ทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์ทางการทูตและการรักษาความมั่นคงของทั้งสองประเทศ
ในช่วงนั้นประเด็นด้านประวัติศาสตร์ ชาตินิยม และผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นประเด็นที่ถูกพิจารณาว่าเป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นในช่วงนี้
ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีอยู่เป็นเวลานานถึง 35 ปี ตั้งแต่ปี 1910 จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นส่วนหนึ่งของการขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นออกสู่ทวีปเอเชีย ในช่วงของการพัฒนาอุตสาหกรรมและการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย
ทั้งเพื่อประโยชน์ด้านการแสวงหาวัตถุดิบและเพื่อการแสวงหาแรงงาน ในช่วงต้นของการยึดครอง จึงได้มีการเปิดโอกาสให้ชาวเกาหลีเป็นจำนวนมากที่สมัครใจเข้าไปศึกษา ดูงาน และฝึกงานในญี่ปุ่น จนเมื่อญี่ปุ่นมีความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น ก็ได้มีการเกณฑ์แรงงานชาวเกาหลีเอาไปทำงานทั้งในญี่ปุ่นและในพื้นที่ต่างๆ
ทั้งสภาพการทำงานและภาระงานหนักก็ทำให้แรงงานเหล่านั้นได้รับความทุกข์ยาก มีทั้งกรณีที่เสียชีวิตและทุพพลภาพ การใช้แรงงานชาวเกาหลีในหลากหลายรูปแบบนี้นำไปสู่การย้ายถิ่นของชาวเกาหลีจำนวนมากมาที่ญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อสงครามสิ้นสุดลงแรงงานจำนวนหนึ่งก็ยังตกค้างอยู่ที่ญี่ปุ่น
ไม่เพียงเท่านั้น โดยธรรมชาติของการยึดครองประเทศ ยังมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ชาวเกาหลียังจดจำเป็นความฝังใจ ประเด็นที่กำลังถูกยกขึ้นมาให้เป็นความขัดแย้งรุนแรงอีกในช่วงหลังนี้อีกเรื่องหนึ่งคือ comfort women หรือผู้หญิงที่ถูกนำไปให้บริการทางเพศแก่ทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้หญิงเกาหลีเท่านั้น ยังมีชาวจีน ฟิลิปปินส์ และชาวเอเชียตะวันออกอีกหลายประเทศที่ญี่ปุ่นเข้าไปรุกราน ญี่ปุ่นจัดทำแหล่งบริการให้แก่ทหารของตน และอ้างว่าผู้หญิงเหล่านั้นเป็นโสเภณี
แต่จากการเปิดเผยของผู้หญิงที่ถูกกระทำดังกล่าว การทำงานในแหล่งบริการไม่ได้เป็นไปตามความสมัครใจ แต่เพราะถูกควบคุมจึงไม่สามารถหนีออกมาได้ จำนวนมากถูกทรมานและเสียชีวิตไป ส่วนที่รอดชีวิตก็ยังถูกหลอนจากความทรงจำเหล่านั้น บางคนตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถมีลูกมีครอบครัวได้อีก และจำนวนมากไม่กล้าออกมาเปิดเผยความจริง เพราะความอับอาย เมื่อเรื่องนี้เป็นที่เปิดเผยมากขึ้น ได้มีความพยายามจากครอบครัวและผู้หญิงผู้ถูกกระทำในประเทศต่างๆที่นำเรื่องขึ้นฟ้องศาล เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นรับผิดชอบ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธการกระทำดังกล่าว
ในปี 1991 หญิงชาวเกาหลีอดีต comfort women ได้ยอมเปิดเผยเรื่องราวของตนออกสู่สาธารณะ ทำให้ความพยายามอย่างเป็นทางการที่จะเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา เมื่อไม่สามารถทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นรับผิดชอบอย่างเป็นทางการได้ จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นราวปี 2015 และได้ใช้ทุนในการออกแบบและประดิษฐ์รูปปั้น comfort women เป็นรูปเด็กผู้หญิง แล้วนำไปตั้งไว้ตามจุดสำคัญๆต่างๆ ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา เช่น หน้าสถานทูตญี่ปุ่น ณ กรุงโซล
ซึ่งแม้รัฐบาลญี่ปุ่นและสถานทูตจะร้องเรียนให้มีการย้ายรูปปั้นออกไป แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จ อีกทั้งยังมีการตั้งรูปปั้นดังกล่าวขึ้นในอีกหลายๆ เมืองและประเทศที่มีชุมชนชาวเกาหลีอาศัยอยู่ เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา รูปปั้นนี้เป็นตัวแทนของผู้หญิงและการทำความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงในระหว่างสงคราม ซึ่งสื่อความหมายถึงทั้งผู้หญิงเกาหลี จีน และฟิลิปปินส์ที่พยายามเรียกร้องให้มีการชดใช้ต่อการกระทำรุนแรงดังกล่าวโดยทหารญี่ปุ่นในช่วงสงคราม
ในปัจจุบันมีชาวเกาหลีจำนวนมากที่อาศัยอยู่นอกประเทศ เราจึงได้เห็นอิทธิพลของชุมชนชาวเกาหลีทั้งในประเทศและนอกประเทศ ที่ต่างก็มีการตั้งกองทุนกันในหลายๆรูปแบบ แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือการเปิดโปงการกระทำทารุณของทหารญี่ปุ่นแก่ชาวเกาหลี และการที่ชุมชนชาวเกาหลีในแต่ละพื้นที่ในโลกชวนกันทำรูปปั้น comfort women ขึ้นมา แล้วขออนุญาตทางการในระดับท้องถิ่นในการจัดแสดงรูปปั้นในสถานที่และโอกาสต่างๆ ก็ทำให้เป็นการยากต่อรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะควบคุม หรือแม้แต่เจรจาเพื่อให้มีการถอนรูปปั้นออกไป
รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้นิ่งนอนใจกับความขัดแย้งเหล่านี้เลย ทั้งยังมีความพยายามที่จะจัดทำข้อตกลงและชดเชยให้กับความเสียหายเหล่านี้มาตลอด ในปี 1965 ในสมัยของนายกรัฐมนตรีซาโต้ของญี่ปุ่นและประธานาธิบดีปาร์กจุงฮีของเกาหลีใต้ ได้จัดการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยมีการทำสนธิสัญญา Treaty on Basic Relations between Japan and the ROK ซึ่งเป็นผลจากการเจรจากันมานานถึง 14 ปี ตั้งแต่ปี 1951
สืบเนื่องมาจากการทำสนธิสัญญาซานฟรานซิสโก ในสนธิสัญญา 1965 นี้ ญี่ปุ่นตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เกาหลีเป็นเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยให้เป็นสินค้าและบริการจากญี่ปุ่นในช่วงเวลา 10 ปี และเงินกู้อีก 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็น “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ” เพื่อเป็นการชดเชยให้แก่ความเสียหายทั้งหมดทั้งปวงที่เกิดขึ้นในระหว่างสงคราม โดยข้อตกลงนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด เกาหลีจะไม่เรียกร้องสิ่งใดอีก
ข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงในระดับรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลเกาหลี โดยรัฐบาลเกาหลีในขณะนั้นอ้างว่าจะนำเงินก้อนใหญ่นี้ไปจัดสรรเพื่อชดใช้ให้แก่ตัวบุคคลผู้เป็นเหยื่อการกระทำทารุณด้วยตนเอง แต่ในการตัดสินของศาลเกาหลีเมื่อปี 2018 ศาลถือว่าญี่ปุ่นยังไม่ได้ชดใช้ให้แก่เหยื่อสงครามในฐานะตัวบุคคล เหยื่อจึงมีสิทธิที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้อีก
ในส่วนกรณีผู้หญิงที่ถูกทำทารุณในระหว่างสงคราม หรือ comfort women รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีความพยายามที่จะดูแลให้มีการชดเชยให้แก่ผู้หญิงเหล่านี้มาตลอด ความชัดเจนในเรื่องนี้เห็นได้ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักว่าการที่ญี่ปุ่นจะพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต เป็นประเทศที่ยืนอยู่ในระดับผู้นำของโลกอย่างมีศักดิ์ศรี จำเป็นต้องจัดการให้ประเด็นภาระทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่จบสิ้น
นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (1995) นายมูรายามา ได้กล่าวแสดงความเสียใจและได้จัดตั้งกองทุนขึ้นเพื่อดูแลผู้หญิง comfort women ซึ่งไม่ได้มีเพียงชาวเกาหลีเท่านั้น กองทุนนี้เรียกว่า Asian Women Fund เป็นเงินทุนจากภาคเอกชนจำนวน 15 ล้านเยน เพื่อดูแลให้เหยื่อเหล่านี้ได้เดินทางไปเยี่ยมบ้าน เป็นค่าดูแลสุขภาพและสวัสดิการ แต่ปรากฏว่า ผู้หญิงชาวเกาหลีจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับเงินดังกล่าว จนภายหลังกองทุนก็ต้องยกเลิกไป
ต่อมานายกรัฐมนตรีอาเบะได้เจรจากับประธานาธิบดีปาร์คกยูนเฮ (Park Geun-hye) ของเกาหลีใต้ในปลายปี 2015 เป็นความพยายามที่จะจัดการกับภาระทางประวัติศาสตร์นี้อย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
โดยตกลงให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือและดูแลความเป็นอยู่ของ comfort women อีกครั้งหนึ่ง โดยจะถือว่าการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้เป็นที่สุด และเกาหลีจะไม่รื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาอีก รัฐบาลญี่ปุ่นโอนเงินให้เกาหลี 1 พันล้านเยนเพื่อจัดตั้งกองทุนนี้ในเดือนกันยายน 2016 โดยได้สรุปว่ามีผู้หญิงที่เป็นเหยื่อ 245 คน ผู้ที่เสียชีวิตไปก่อน ลูกหลานหรือญาติจะได้รับเงินชดใช้ 2 ล้านเยน ส่วนผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จะได้รับ 10 ล้านเยน เงินจำนวนนี้เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ และเป็นกองทุนสำหรับลูกหลาน แต่เมื่อความขัดแย้งระหว่างสองประเทศบานปลายในปี 2018 รัฐบาลมูนแจอิน ของเกาหลีก็สั่งยกเลิกกองทุนดังกล่าวนี้ในเดือนพฤศจิกายน 2018
ชาตินิยมของเกาหลีใต้วางอยู่บนพื้นฐานของการต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของชาตินิยมในยุคปัจจุบันของเกาหลี จากการที่เกาหลีเป็นชาติที่ถูกขนาบด้วยมหาอำนาจ เช่น จีน รัสเซีย และแม้แต่ญี่ปุ่นที่เกาหลีเคยดูถูกมาก่อน เมื่อญี่ปุ่นผนวกเกาหลีเข้ามาอยู่ใต้การดูแลโดยสนธิสัญญา Japan-Korea Annexation Treaty ในปี 1910 นั้น ที่จริงแล้วญี่ปุ่นเข้าไปยึดครองเกาหลีก่อนหน้านี้ถึง 5 ปี และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง หลายประเทศได้รับเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคมที่สูญเสียความเข้มแข็งไป
ทั่วโลกตื่นตัวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการดูแลปกครองตนเอง กระแสความตื่นตัวนี้ส่งอิทธิพลให้ชาวเกาหลีกลุ่มหนึ่งจัดกิจกรรมต่อต้านการปกครองของญี่ปุ่นในวันที่ 1 มีนาคม 1919 เรียกว่าเป็น March First Movement ซึ่งแพร่กระจายออกไปในกรุงโซลเป็นเวลาหลายวัน ผู้ประท้วงถูกตอบโต้อย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายทั้งทางฝ่ายญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นจำนวนมาก นอกจากจะไม่ช่วยให้เกาหลีได้เอกราชแล้ว ยังทำให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนนโยบาย จากการยึดครองทางการทหารเป็นการยึดครองด้วยวัฒนธรรม นำไปสู่การกดขี่ทางวัฒนธรรมเกาหลีในเวลาต่อมา แต่ความกล้าหาญในครั้งนี้ได้รับการยกย่องจากชาวเกาหลี ซึ่งถือว่าวันที่ 1 มีนาคมเป็นวันแห่งอิสรภาพ
จุดหักเหของเรื่องนี้อยู่ที่คนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ของเกาหลีไม่ได้มีประสบการณ์ตรงจากการกดขี่ของญี่ปุ่น ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมป๊อบจากญี่ปุ่น งานวิจัยของปาร์คซุนยังเรื่อง Shinsedae : Conservative Attitude of a ‘new generation’ in South Korea and the impact on the Korean Presidential election ได้แสดงว่า คนรุ่นใหม่ของเกาหลีที่เกิดในยุคหลังจากการเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นรุ่นที่เติบโตในช่วงที่เกาหลีกำลังเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ แต่ถูกผลกระทบโดยตรงจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะเมื่อถึงช่วงอายุที่เรียนจบ เศรษฐกิจของเกาหลีก็ถูกอิทธิพลของเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในภูมิภาคที่ส่งผลกระทบกว้างขวางออกไป ผนวกเข้ากับอิทธิพลของการพัฒนาทางเทคโนโลยีการสื่อสาร
คนรุ่นใหม่ของเกาหลีสนใจในเรื่องปากท้องมากกว่าคนรุ่นเก่า เป็นคนที่มีความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยม และใช้ชีวิตอยู่กับสื่อดิจิตอล แนวทางชาตินิยมของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ต่อต้านใครอย่างหัวปักหัวปำ ยังมีการมองถึงผลประโยชน์ว่าชาตินิยมให้ประโยชน์อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น คนรุ่นใหม่ไม่ได้มีทัศนคติว่าเกาหลีด้อยไปกว่าญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯ เป็นชาตินิยมที่อยู่บนความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชาติของตน
อีกทั้งจากการสำรวจทัศนคติยังพบว่าแท้จริงแล้ว ชาวเกาหลีรุ่นใหม่มีความรู้สึกประทับใจญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเกมส์คอมพิวเตอร์และการ์ตูนตลก ส่วนการเมืองในทัศนคติของคนรุ่นใหม่ ก็ไม่ต่างอะไรมากไปจากวงการบันเทิงที่เห็นได้ในสื่อโซเชียล นักการเมืองที่ได้รับความนิยมคือคนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ต้องรอฟังข่าวทางหนังสือพิมพ์ ผลงานที่ผ่านมาของนักการเมืองไม่ได้รับความสำคัญมากเท่า การเป็นคนที่สามารถติดต่อได้โดยตรงผ่านทางสื่อโซเชียล
ปัจจุบันเราจะเห็นเกาหลีใต้จับมือสหรัฐและญี่ปุ่นร่วมซ้อมรบ เกาหลีเหนืออาจมีจีนและรัสเซียหนุนหลัง ดูเหมือนเรื่องราวความขัดแย้งในอดีตระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นจะเบาลงชั่วขณะ และในขณะนี้มาสู้กับเกาหลีเหนือแทน