รัสเซียถล่มกรุงเคียฟ ตัดโครงสร้างพื้นฐานยูเครน แก้แค้นระเบิดสะพานเชื่อมไครเมีย
Highlight
รัสเซียโต้กลับยูเครนจากเหตุโจมตีสะพานเชื่อมไครเมียเมื่อสองวันก่อน โดยการส่งขีปนาวุธโจมตีกรุงเคียฟเป็นครั้งแรก พลเรือนชีวิตและบาดเจ็บหลายราย รวมทั้งโจมตีเมืองอื่นๆอีกหลายเมือง มุ่งเป้าตัดสาธารณูปโภค ความรุนแรงเริ่มปะทุหนักอีกครั้ง ชาติตะวันตกหวั่นรัสเซียจะใช้นิวเคลียร์ หวังจีนช่วยไกล่เกลี่ย ในขณะที่จีนเองประกาศชัดนโยบายต่างประเทศ “จีนต้องมาก่อน”
ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียบอกว่าได้สั่งการให้โจมตีพื้นที่หลายจุดของยูเครน โดยใช้ขีปนาวุธระยะไกลถล่มทั้งโครงสร้างพื้นฐานของยุเครน หน่วยทหารและการสื่อสาร เป็นการตอบโต้ที่สะพานถูกถล่มเมื่อ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "การกระทำของผู้ก่อการร้าย"
การโจมตีของรัสเซียในเมืองใหญ่ ๆ ของยูเครนล่าสุด ชี้ให้เห็นว่ารัสเซียยังมีขีดความสามารถในการใช้อาวุธโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำและในขอบเขตที่ใหญ่พอควรได้ และได้สร้างความเสียหายกับโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนในหลายเมือง ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากไฟฟ้าดับและไม่มีน้ำประปาใช้
ชาติตะวันตกออกมาประณามการกระทำของรัสเซีย ส่วน เบลารุสชาติพันธมิตรของรัสเซียก็ออกมาประกาศว่าจะส่งกองกำลังไปช่วยรัสเซียรบ
สื่อของเบลารุสรายงานอ้างคำพูดของนายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำเบลารุสว่าทหารที่จะส่งไปไม่มากเท่าไหร่ ประมาณ1,000 นาย แต่ไม่ได้บอกว่าจะส่งไปเมื่อไหร่
เขาบอกว่ารัสเซียกับเบลารุสเริ่มผนึกกำลังทางทหารหลังจากที่ยูเครนระเบิดสะพานเชื่อมต่อไปยังไครเมีย และรู้มาว่ายูเครนมีแผนจะโจมตีเบลารุสด้วย ซึ่งก็ต้องเตรียมพร้อม และเขาขู่ยูเครนด้วยว่าอย่าเข้ามาแตะดินแดนเบลารุสโดยเด็ดขาด
รัสเซียโจมตีเคียฟในช่วงเช้าตรู่ เสียชีวิต11 ราย บาดเจ็บ 24 ราย ตัดระบบสาธารณูปโภค ครั้งแรกที่รัสเซียโจมตีเมืองหลวง เหตุโจมตีเกิดขึ้นช่วงเช้าใกล้เมืองกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาที่รัสเซียไดเริ่มทำสงครามกับยูเครน
เหตุที่ดูเหมือนเป็นการโจมตีอย่างชัดเจนเกิดขึ้น 2 วันหลังเกิดเหตุรถบรรทุกระเบิดทำให้สะพานเคิร์ชซึ่งเป็นทางเชื่อมต่อเดียวระหว่างไครเมียกับรัสเซียได้รับความเสียหาย โดยในเวลาต่อมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกมากล่าวหาว่าเป็น “การก่อการร้าย” ของยูเครน
ล่าสุด ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยยูเครนระบุว่า มีพลเรือน 11 รายเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 24 ราย ในกรุงเคียฟ โดยรวมแล้ว ผู้บัญชาการทหารยูเครนบอกว่า มีการยิงขีปนาวุธอย่างน้อย 75 ลูกในการโจมตีระลอกใหม่
พอล อดัมส์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่กรุงเคียฟ บอกว่า มีการแจ้งเตือนว่ากรุงเคียฟอาจโดนขีปนาวุธโจมตีอีก เขาบอกว่านี่เป็นเรื่องที่ผิดปกติมากเพราะเป็นครั้งแรกที่ใจกลางเมืองเคียฟถูกโจมตีตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น
นอกจากกรุงเคียฟแล้ว เกิดการโจมตีขึ้นที่เมืองดนีโปรที่ใจกลางประเทศ ที่เมืองซาปอรีเชียทางตอนใต้ และที่เมืองลวิฟทางตะวันตกของประเทศด้วย ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ระบุผ่านเทเลแกรมว่า รัสเซีย “พยายามที่จะทำลายและลบล้างพวกเราออกจากโลก”
ระเบิดสะพาน
เหตุระเบิดบนสะพานเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคไครเมียกับรัสเซียเมื่อเสาร์ 9 ต.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 คน สะพานนี้ชื่อว่าเคิร์ช รัสเซียสร้างขึ้นหลังจากผนวกดินแดนไครเมียมาเป็นของรัสเซียในปี 2014 เป็นสัญลักษณ์ของการผนวกดินแดนในครั้งนั้น แต่ที่สำคัญสะพานนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของรัสเซีย เพราะเป็นสะพานเดียวที่เชื่อมไครเมียกับรัสเซีย และรัสเซียใช้ในการลำเลียงยุทโธปกรณ์และกำลังพลไปในพื้นที่สู้รบทางตอนใต้
ฝ่ายยูเครนนั้นไม่ได้ยอมรับตรง ๆ ว่าลงมือโจมตีสะพาน เหมือนที่นายปูตินยอมรับว่าโจมตีกรุงเคียฟกับอีกหลายเมือง แต่นายมิโคไล โพโดเลียก ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีวโลดีมีร์ เซเลนสกี บอกว่าความเสียหายนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น และทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างขึ้นมาอย่างผิดกฎหมายจะต้องถูกทำลาย อะไรที่ถูกขโมยไปจากยูเครน ต้องถูกนำกลับคืนมา พื้นที่ไหนที่รัสเซียยึดครองอยู่จะต้องถูกขับออกไป
ชาติตะวันตกกังวลการเกิดสงครามนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น
ในขณะที่ความกังวลเรื่องการเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกกำลังเพิ่มขึ้นสืบเนื่องจากสงครามในยูเครน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าจีนอาจเข้ามามีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยวิกฤตการณ์ครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนไม่เชื่อว่าจีนจะมีแรงจูงใจที่จะเข้ามารับหน้าที่เรื่องนี้ สตีฟ ชาง ผู้อำนวยการสถาบัยจีน แห่ง SOAS University of London กล่าวว่า "หากจะมีประเทศมหาอำนาจประเทศใดที่สามารถโน้มน้าวประธานาธิบดีปูตินได้ ประเทศนั้นคือจีน" แต่นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า ปัญหาคือ "นโยบายต่างประเทศของจีนภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คือ จีนมาก่อน" ซึ่งหมายความว่า จีนจะต้องเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมในเรื่องนี้อย่างละเอียด
ทั้งนี้ จีนคือสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเพียงประเทศเดียวที่รับปากว่าจะไม่เป็นฝ่ายใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน นอกจากนี้จีนยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของรัสเซียและเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางการเมืองต่อรัฐบาลกรุงมอสโกมากที่สุดประเทศหนึ่ง
แต่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า จีนจะมีผลพลอยได้เพียงเล็กน้อยจากการช่วยเหลือสหรัฐฯ บรรเทาวิกฤตด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ ประกอบกับจีนยังคงไม่พอใจต่อรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เกี่ยวกับนโยบายที่มีต่อจีน โดยเฉพาะประเด็นไต้หวัน หลังจากที่สหรัฐฯ ขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน และการที่นักการเมืองระดับสูงของสหรัฐฯ หลายคนเดินทางเยือนกรุงไทเปในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์หยวน จิงตง ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศจีนที่ University of Sydney กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะจีนจะทบทวนว่าได้อะไรจากการเข้าไปไกล่เกลี่ยเรื่องนี้ ในเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของจีนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การค้าไปจนถึงเทคโนโลยี ตั้งแต่ประเด็นไต้หวันไปจนถึงอินโดแปซิฟิก และหากจีนอยากเข้าร่วมไกล่เกลี่ยจริง ๆ ปักกิ่งก็อาจไม่มีความสามารถพอที่จะโน้มน้าวให้ปูตินยุติสงครามครั้งนี้ก็เป็นได้
ซู เฟ็ง คณบดีของสถาบันต่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยนานกิง ประเทศจีน กล่าวกับวีโอเอว่า "อิทธิพลของจีนต่อสงครามในยูเครนนั้นจำกัดอย่างยิ่ง" และหากจีนขอให้ปูตินยุติสงครามท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดในขณะนี้ ก็เหมือนการขอให้รัสเซียยอมรับความพ่ายแพ้ และเป็นการประหารปูตินทางการเมือง ซึ่งไม่มีทางที่ปูตินจะรับฟัง
ศาสตราจารย์หยวน จิงตง แห่ง University of Sydney เห็นคล้ายกันว่า ปูตินจะกล่าวสั้น ๆ ว่า "ขอบคุณ แต่ไม่เป็นไร" เพราะสิ่งที่ปูตินคำนึงถึงนั้นคืออนาคตและการอยู่รอดของตนเองและรัสเซียมากกว่า
ที่ผ่านมา จีนค่อนข้างมีท่าทีกำกวมในสงครามยูเครน คือทั้งไม่ร่วมประณามรัสเซีย แต่ก็ไม่ช่วยจัดหาการสนับสนุนทั้งทางการเมืองและการทหารแก่รัสเซียด้วย และก่อนหน้านี้ ทางการจีนได้ออกมาขอร้องอย่างเป็นทางการให้มีการเจรจาและหาทางออกอย่างสันติต่อสงครามในยูเครน
ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน หวัง อี้ กล่าวว่า "ในฐานะประเทศที่มีความรับผิดชอบ และสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ จีนยึดมั่นจ่อแนวทางการเจรจาเพื่อสันติภาพ การไม่ถอยออกไปยืนดูห่าง ๆ และไม่ราดน้ำมันลงบนกองเพลิง รวมทั้งไม่หาประโยชน์ส่วนตน จีนจะยืนหยัดในฝั่งเดียวกับสันติภาพและจะยังคงรับบทบาทสำคัญต่อไป"
ที่มา : BBC, VOA