IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเหลือ 2.7% ปีหน้า และเงินเฟ้อจะถึงจุดพีค 8.8% ในปีนี้

IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเหลือ 2.7% ปีหน้า และเงินเฟ้อจะถึงจุดพีค 8.8% ในปีนี้
Highlight

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกเติบโตลดลง โดยในปีนี้อยู่ 3.5% และปีหน้าอยู่ที่ 2.7% ลดลงจากการประมาณการก่อนหน้า ในขณะที่เงินเฟ้อจะพีคในปีนี้ที่ 8.8% และระบุว่าเศรษฐกิจโลก กว่า 1 ใน 3 จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวในปีนี้หรือปีหน้า เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง ส่งผลให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และนิเวศวิทยา ส่วนสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้เกิดวิกฤตค่าครองชีพ


20221012-a-01.jpg
20221012-a-02.jpg

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในวันนี้ โดยได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 สู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.9% ในการคาดการณ์เมื่อเดือน ก.ค.

"ภาวะเลวร้ายที่สุดกำลังรออยู่ข้างหน้า และประชาชนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า" รายงานไอเอ็มเอฟระบุ

ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า รายงานดังกล่าวเป็นการบ่งชี้การขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 นอกเหนือจากช่วงที่เกิดวิกฤติการเงิน และการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19

อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟยังคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ที่ระดับ 3.2%

รายงานระบุด้วยว่า เศรษฐกิจโลก กว่า 1 ใน 3 จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวในปีนี้หรือปีหน้า ขณะที่การขยายตัวของสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีนจะชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟชี้ว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่ การที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน วิกฤติค่าครองชีพ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และนิเวศวิทยา

ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้และปีหน้า สู่ระดับ 1.6% และ 1% ตามลำดับ โดยได้รับผลกระทบจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า สู่ระดับ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการใช้มาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด และวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกจะแตะจุดสูงสุดในช่วงปลายปีนี้ โดยแตะระดับ 8.8% จากระดับ 4.7% ในปี 2564 ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 6.5% ในปี 2566 และ 4.1% ในปี 2567

ก่อนหน้านี้ นางคริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ไอเอ็มเอฟจะเน้นย้ำในการประชุมสัปดาห์นี้ให้ธนาคารกลางของชาติต่าง ๆ ยังคงใช้ความพยายามสกัดเงินเฟ้อต่อไป แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

"ถ้าพวกเขาดำเนินการอย่างไม่เพียงพอ เราก็จะเผชิญปัญหาจากเงินเฟ้อที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางยิ่งต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น และจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ"

นอกจากนี้ นางจอร์เจียวา ระบุว่า การใช้มาตรการทางการคลังควรจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงการราด "เชื้อเพลิงเข้าสู่กองไฟแห่งเงินเฟ้อ"

ติดต่อโฆษณา!