‘สิงคโปร์’ แซง ‘ฮ่องกง’ คว้าอันดับ 1 ฮับการเงินของเอเชีย ส่วนไทยหล่นไป 4 อันดับ
Highlight
มหานครนิวยอร์กยังคงครองแชมป์ศูนย์กลางการเงินโลกอันดับหนึ่ง ในขณะที่สิงคโปร์ผงาดขึ้นมาเป็นอันดับ3ของโลกและอันดับหนึ่งในเอเชีย จากการจัดอันดับของ Global Financial Centres Index's (GFCI) ในขณะที่ฮ่องกงสูญเสียอันดับการเป็นผู้นำในเอเชียเนื่องจากต้องดำเนินการตามแนวทางของจีนในการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ให้ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุด ซึ่งสวนทางกับประเทศอื่นๆ ในโลกที่เปิดประเทศแล้ว
ดัชนีศูนย์กลางการเงินโลก หรือ Global Financial Centres Index's (GFCI) ได้จัดอันดับศูนย์กลางการเงินโลกทั้งหมด 119 แห่ง ตามรายงานล่าสุดระบุว่า มหานครนิวยอร์กและลอนดอนยังคงครองอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ ขณะที่ สิงคโปร์ ขยับขึ้น 3 อันดับ โดยเบียดชนะฮ่องกง คว้าอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 3 ของโลกไปครอง
ฮ่องกงร่วงลงมาอันดับ 4 หลังเผชิญกับมาตรการคุมเข้มโรคโควิด 19 และภาวะสมองไหล สูญเสียบุคลากรทักษะสูง ขณะที่ เมืองซานฟรานซิสโก ขยับขึ้น 2 อันดับ มาอยู่อันดับ 5 โดยฮ่องกงกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการพลิกฟื้นสถานะให้กลับมาเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลกได้อีกครั้ง เนื่องจากต้องดำเนินการตามแนวทางของจีนในการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 ให้ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุด ซึ่งสวนทางกับประเทศอื่นๆ ในโลกที่เปิดประเทศแล้ว
ทั้งนี้ การจัดประชุมสุดยอดของบรรดานายธนาคารทั่วโลกประจำเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมุ่งหวังเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นให้กลับมายังฮ่องกงนั้น มีบริษัทชั้นนำราว 20 แห่งของโลกได้ให้คำมั่นที่จะส่งผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมงานดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเรื่องกฎระเบียบการกักตัว ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นปัญหาอยู่
ในทางกลับกัน สิงคโปร์คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 4 ล้านคนในปี 2565 รวมถึงมีการจัดงานกิจกรรมต่างๆ ทั้งประชุมสุดยอด Milken Institute Asia Summit, ประชุม Forbes Global CEO Conference และงานแข่งขันรถ Singapore Grand Prix ซึ่งจะส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี เมืองต่างๆ ของจีนอย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และเซินเจิ้น ต่างยังคงติดอยู่ใน 10 อันดับแรก แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งทำให้จีนต้องถูกตัดขาดจากประเทศอื่นๆ ในโลกก็ตาม
ด้านเมืองที่อันดับตกลงไป ได้แก่ กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น หล่นไป 7 อันดับ อยู่ที่อันดับ 16 และกรุงมอสโกของรัสเซีย ร่วงไปกว่า 22 อันดับ ไปอยู่ที่อันดับ 73 หลังถูกแบนจากทั่วโลก โดยเฉพาะชาติตะวันตกที่ตัดรัสเซียออกจากระบบการเงิน ส่วนกรุงเทพฯ ประเทศไทย ตกจากอันดับที่ 58 ไปอยู่ที่อันดับ 61
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะประเทศที่อยู่ในกลุ่มอาเซียน จะมีเพียง 6 เมือง จาก 6 ประเทศที่ติดอยู่ในการจัดอันดับทั้งสิ้น 119 อันดับในครั้งนี้
สำหรับอันดับศูนย์กลางการเงินของอาเซียน ประจำปี 2022
- สิงคโปร์
- มาเลเซีย
- ไทย
- อินโดนีเซีย
- ฟิลิปปินส์
- เวียดนาม
สำหรับ 10 อันดับเมืองศูนย์กลางการเงินโลกประจำปี 2022
- นิวยอร์ก
- ลอนดอน
- สิงคโปร์
- ฮ่องกง
- ซานฟรานซิสโก
- เซี่ยงไฮ้
- ลอสแอนเจลิส
- ปักกิ่ง
- เซินเจิ้น
- ปารีส
ที่มา : AECConnect-ธนาคารกรุงเทพ