ลิซ ทรัสส์ ลาออกจากนายกฯ อังกฤษแล้ว หลังครองตำแหน่งเพียง 45 วัน เซ่นพิษนโยบายการเงินผิดพลาด เงินปอนด์ฟื้นแข็งค่า
Highlight
ในยุคสงครามเศรษฐกิจการวางนโยบายการเงินการคลังผิดพลาดส่งผลถึงตำแหน่ง เช่นเดียวกับนางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อวานนี้ ส่งผลให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษโดยอัตโนมัติ จากนโยบายสวนทางโลกที่ประกาศจะตัดลดภาษี และเพิ่มงบประมาณ 4.5 ล้านปอนด์โดยไม่ระบุที่มาของเงินอย่างชัดเจน ทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าฮวบ เงินเฟ้อสูง หลังการประกาศลาออกจากตำแหน่งเงินปอนด์แข็งค่า 0.44% สู่ระดับ 1.126 ดอลลาร์
นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมในเมื่อวานนี้ ส่งผลให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษโดยอัตโนมัติ
โดยการประกาศลาออกดังกล่าวมีขึ้น ท่ามกลางมรสุมทางการเมืองในอังกฤษ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นางทรัสส์ได้กล่าวขอโทษสำหรับความผิดพลาดในการประกาศมาตรการปรับลดภาษีวงเงิน 4.5 หมื่นล้านปอนด์ ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก และบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ทั้งนี้การเลือกตั้งผู้นำคนใหม่จะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้าเพื่อแทนที่ลิซ ทรัสส์ นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ จอร์จ แคนนิง เคยสร้างสถิตินี้ไว้ 119 วันในปี 2370
“ข้าพเจ้าทราบดีว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ข้าพเจ้าไม่สามารถมอบอำนาจซึ่งข้าพเจ้าได้รับเลือกจากพรรคอนุรักษ์นิยมได้ ข้าพเจ้าจึงได้กราบบังคมทูลเพื่อทรงแจ้งให้พระองค์ทราบว่าข้าพเจ้าลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม” ลิซ ทรัสส์ กล่าว
ขณะที่ปอนด์แข็งค่าขึ้นในวันนี้ ขานรับข่าวการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ของนางลิซ ทรัสส์ในวันนี้ ณ เวลา 20.10 น.ตามเวลาไทย ปอนด์แข็งค่า 0.44% สู่ระดับ 1.126 ดอลลาร์
เหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การลาออก
หลัง รมต.ลาออก และ ส.ส. พรรคตัวเองไม่หนุนรัฐบาล ลิซ ทรัสส์ จะเป็นนายกฯ สหราชอาณาจักรไปอีกนานเท่าไร หลังความวุ่นวายอลหม่านที่สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษเมื่อ 19 ต.ค. ตอนนี้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ลิซ ทรัสส์ อาจดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรไปได้อีกไม่นาน
ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมมากกว่า 12 คนได้ออกมาเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้เธอลาออกจากตำแหน่งแล้ว และล่าสุด นางทรัสส์ได้ขอเข้าพบเซอร์ เกรแฮม เบรดี ประธานคณะกรรมการ 1922 ของพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นคณะกรรมการทรงอิทธิพลที่ดูแลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม
ล่าสุด เมื่อเวลา 13.34 น. ของวันที่ 20 ต.ค. เวลาอังกฤษ นางทรัสส์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้วหลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 45 วัน
ย้อนดูนโยบายการเงินการคลังทำค่าเงินปอนด์ดิ่ง ดอกเบี้ยพุ่งพรวด
ก่อนหน้านี้ นางทรัสส์ต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้วหลังจากนายเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ประกาศต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าจะยกเลิกแผนการตัดลดภาษีแทบทั้งหมดของนางทรัสส์ ที่บรรจุอยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า "งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ" (mini-budget) มูลค่า 4.5 หมื่นล้านปอนด์
การที่รัฐบาลประกาศงบประมาณแผ่นดินฉบับย่อเมื่อ 23 ก.ย. โดยที่ไม่มีรายละเอียดว่า จะนำเงินจากไหนมาใช้สำหรับแผนนี้ ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ผันผวนร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์ก่อนดีดตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านพุ่งพรวด ราคาพันธบัตรรัฐบาลทรุดหนัก จนธนาคารกลางต้องเข้ามาแทรกแซง
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นายกวาซี กวาร์เทง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ซึ่งเป็นคนสนิทของนางทรัสส์ถูกปลดจากตำแหน่ง หลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 38 วัน
การตัดสินใจของนายฮันต์สร้างความยินดีให้แก่บรรดานักลงทุน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการฉีกแผนดำเนินงานทางเศรษฐกิจของนางทรัสส์จนไม่เหลือชิ้นดี และมีกระแสเรียกร้องให้เธอลาออกจากตำแหน่งหลังจากเข้าบริหารประเทศเพียงไม่กี่สัปดาห์
ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซี นางทรัสส์ยอมรับผิดชอบที่ “ไปไกลและเร็วเกินไป” และต้องการ “กล่าวขออภัยต่อความผิดพลาดที่ได้กระทำลงไป”
วิกฤตครั้งใหม่
นางทรัสส์กำลังเผชิญกับกระแสความไม่พอใจระลอกใหม่จนอำนาจของเธอกำลังสั่นคลอน เริ่มจากเมื่อ 19 ต.ค. ซูเอลลา เบรเวอร์แมน รัฐมนตรีว่าการวกระทรวงมหาดไทย ลาออกจากตำแหน่งกะทันหันโดยให้เหตุผลว่าตนละเมิดข้อห้ามของรัฐมนตรีที่ส่งเอกสารราชการให้คนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้สามารถดูเอกสารนั้นได้
อย่างไรก็ดี ในจดหมายลาออกของเธอ นางเบรเวอร์แมนก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยโดยกล่าวหาว่า รัฐบาลไม่ทำตาม “คำมั่นสัญญาหลัก ๆ” ที่ให้ไว้ และก็ไม่สามารถลดจำนวนผู้อพยพได้ นายแกรนต์ แชปป์ส ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ แม้เมื่อ 6 สัปดาห์ที่แล้วนายแชปป์สเพิ่งถูกนางทรัสส์ปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม
ส.ส. คอนเซอร์เวทีฟ 40 คน ไม่สนับสนุนพรรค
เมื่อ 19 ต.ค. มีการจัดการลงมติว่า ส.ส. จะมีสิทธิ์คัดค้านหรือสนับสนุนแผนของรัฐบาลที่จะกลับมาอนุญาตให้ขุดเจาะปิโตรเลียมด้วยเทคนิค “แฟรกกิ้ง” (Fracking) หรือไม่
“แฟรกกิ้ง” คือระบบการผลิตปิโตรเลียมด้วยการฉีดน้ำผสมสารเคมีและทรายจำนวนมหาศาลลงใต้ดินเพื่อทำให้เกิดรอยแตกในชั้นหิน เพื่อให้ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ หลุดออกมา
ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ หลายคนไม่เห็นด้วยกับแผนของรัฐบาลที่จะให้ขุดเจาะปิโตรเลียมด้วยเทคนิคนี้อีกครั้ง แต่ได้รับแจ้งว่าการลงมตินี้จะถูกมองว่าเป็นการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล
สุดท้ายแล้ว รัฐบาลชนะมติด้วยคะแนน 326 เสียงต่อ 230 เสียง โดยมี ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ถึง 40 คน ที่ไม่ลงคะแนนเสียง
ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษออกมาบอกว่า ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ที่ไม่ได้ลงมติสนับสนุนรัฐบาลจะโดน “มาตรการลงโทษอย่างสมควรแก่เหตุ”
ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษบอกอีกว่า ส.ส. ต่าง “รู้ดี” ว่าการลงมตินี้ถูกมองว่าเป็นการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล
นอกจากนี้ ส.ส.พรรคเลเบอร์ คริส ไบรอัน ยังอ้างอีกว่ามี ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ บางคนถูกเพื่อน ส.ส. ใช้กำลังฉุดดึงเพื่อให้มั่นใจว่า ส.ส. เหล่านั้นจะลงมติสนับสนุนรัฐบาล อย่างไรก็ดี ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการข่มเหงกันเกิดขึ้น
ที่มา : BBC