ใครจะเป็นนายกฯ อังกฤษคนต่อไป หลังการลาออกของลิซ ทรัสส์
Highlight
อังกฤษกำลังอยู่ในภาวะสูญญากาศอีกครั้งภายหลังจากการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟของนางลิซ ทรัสส์ เมื่อ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา มีผลให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจบลงไปโดยอัตโนมัติ อย่างไีรก็ตามนางลิซ อาจจะอยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกฯต่ออีกระยะหนึ่งจนกว่าจะได้นายกฯคนใหม่ จากการวิเคราะห์สื่อฝั่งคะวันตกปรากฏชื่อแคนดิเดทได้แก่ นายบอริส จอห์นสัน, นาย ริชี สุนัค, เจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศ และอีกหลายคน
นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังอยู่ในตำแหน่ง เพียง 45 วัน กลายเป็นผู้นำสหราชอาณาจักรที่มีวาระดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ
มีรายงานว่านายบอริส จอห์นสัน ถูกคาดหวังให้ร่วมสังเวียนชิงตำแหน่งผู้นำครั้งนี้ แต่ยังไม่สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้ เนื่องจากเขากำลังอยู่ในช่วงพักผ่อนในแถบแคริบเบียน
แม้ ริชี สุนัค ที่เพิ่งแพ้ต่อทรัสส์ ยังไม่ประกาศตัวลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟครั้งล่าสุด แต่มีการรายงานชี้ว่าเขาพร้อมที่จะเข้าร่วมการชิงตำแหน่งนี้
ในขณะที่ รมว. คลัง เจเรมี ฮันต์ ก็รีบปฎิเสธ เอาตัวเองออกจากการชิงชัยนี้อย่างรวดเร็ว ซึ่งบางคนชี้ว่าความเคลื่อนไหวนี้อาจเป็นการสนับสนุน ริชี สุนัค ได้
หลังจากการประกาศลาออกของทรัสส์ เพนนี มอร์เดินท์ ผู้ได้อันดับสามในการชิงตำแหน่งผู้นำพรรคฯ เมื่อช่วงฤดูร้อน กล่าวว่าจะ "สงบใจและเดินหน้าต่อไป" (keep calm and carry on) เธอเป็นคู่แข่งที่มีแนวโน้มว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำ แม้ว่าตอนนี้เธอจะยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการก็ตาม
ชื่ออื่นๆ ที่ถูกพูดถึง ได้แก่ เบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นาย เคมี บาเดนอค รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศ เจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศ และ ซูเอลลา เบรเวอร์แมน รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยที่เพิ่งลาออกเมื่อ 19 ต.ค.
ในขณะที่ทั้งสี่คนไม่ได้ออกมาประกาศถึงแผนการเข้าร่วมสังเวียนชิงตำแหน่งผู้นำของพวกเขาในช่วงบ่ายวันนี้ (ตามเวลาท้องถิ่น) แต่มีรายงานว่าพันธมิตรของทั้ง บาเดนอค และ เบรเวอร์แมน กล่าวว่าพวกเขามีความตั้งใจที่จะลงสมัครชิงชัย
ในขณะเดียวกัน มีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าอดีตสมาชิกพรรค 2 คน ที่เลยลงชิงชัยครั้งก่อน คือ ไมเคิล โกฟ และ ทอม ทูเกนด์แฮต ปฏิเสธที่จะลงแข่ง
ลิซ ทรัสส์ แถลงลาออกใช้เวลา 90 วินาที โดยไม่เปิดโอกาสสื่อถาม
นางทรัสส์แถลงการลาออกที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ต่อหน้าผู้สื่อข่าวหลายสิบชีวิตว่า เธอมารับตำแหน่งในภาวะที่ประเทศ "เผชิญกับความไร้เสถียรภาพครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจและการต่างประเทศ" และ เธอได้รับเลือกจากพรรคให้เข้ามา "เปลี่ยนแปลงเรื่องนี้"
เธอบอกว่ารัฐบาลของเธอได้แก้ปัญหาราคาพลังงานและลดเงินนำส่งประกันสังคม และมีแผนการที่จะสร้าง "อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงด้วยการเก็บภาษีต่ำ" แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน "ดิฉันไม่สามารถทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ ดังนั้น ดิฉันจึงได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อถวายรายงานว่าดิฉันขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ"
นายกฯ อังกฤษ ครองเก้าอี้ไม่ถึงหนึ่งปี มีทั้งหมด 7 คน รอยเตอร์รวบรวมข้อมูลโดยสังเขปของนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ดำรงตำแหน่งไม่ถึงหนึ่งปี
ลิซ ทรัสส์ – 44 วัน
ลาออกหลังโครงการเศรษฐกิจที่เธอเสนอส่งแรงกระแทกไปทั่วตลาดการเงินเมื่อเดือนที่แล้ว และทำให้เกิดความแตกแยกหนักภายในพรรคอนุรักษ์นิยม
จอร์จ แคนนิง – 118 วัน
แคนนิงเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ขณะมีอายุ 57 ปี เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 1827 โดยคาดว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคปอดบวมหรือวัณโรค เขามีชื่อเสียงจากการผลักดันนโยบายเลิกกีดกันชาวคริสต์นิกายคาทอลิก และยังเคยดวลต่อสู้กับรัฐมนตรีต่างประเทศด้วย
ไวเคานต์โกเดอริช – 143 วัน
ไวเคานต์โกเดอริช หรือชื่อจริงคือ เฟรเดอริค โรบินสัน รับตำแหน่งนายกฯ ต่อจากแคนนิง แต่ประสบปัญหาในการพยายามรวมเสียงสนับสนุน และพระเจ้าจอร์จที่ 4 กษัตริย์อังกฤษในขณะนั้น เริ่มทรงหมดความเชื่อมั่นในตัวเขา ไวเคานต์โกเดอริชจึงลาออกเมื่อเดือนม.ค. 1828 ขณะดำรงตำแหน่งได้ห้าเดือน
แอนดรูว์ โบนาร์ ลอว์ – 209 วัน
ลอว์ถูกบีบให้ลาออกเมื่อเดือนพ.ค. 1923 ขณะที่เขาเป็นโรคมะเร็งในลำคอ ทำให้เขามีปัญหาในการพูดในสภา ลอว์เสียชีวิตไม่ถึงหกเดือนหลังจากนั้น
ดยุคแห่งเดวอนไชร์ – 225 วัน
วิลเลียม คาเวนดิช ดยุคที่สี่แห่งเดวอนไชร์ เป็นนายกฯ โดยพฤตินัยของรัฐบาลรักษาการ และลงจากตำแหน่งเมื่อเดือนมิ.ย. 1757
เอิร์ลแห่งเชลเบิร์น – 265 วัน
วิลเลียม เพตตี เอิร์ลที่สองแห่งเชลเบิร์น เข้ารับตำแหน่งขณะที่มีการลงนามในสนธิสัญญาปารีส ซึ่งเป็นสัญญายุติสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา เขาลาออกเมื่อเดือนมี.ค. 1783 หลังถูกฝ่ายค้านกดดันและขัดแย้งกับฝ่ายเดียวกันเรื่องประเด็นการปฏิรูป
เอิร์ลแห่งบิวต์– 317 วัน
จอห์น สจ๊วต เอิร์ลที่สามแห่งบิวต์ เป็นนายกฯ คนแรกที่มาจากสกอตแลนด์ หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สหภาพเมื่อปี 1707 เขาเคยเป็นครูให้กับเจ้าชายจอร์จ ผู้ต่อมาทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 3 เขาขึ้นมามีบทบาทการเมืองจากเครือข่ายกับราชวงศ์ อย่างไรก็ตาม อำนาจทางการเมืองของเขาเสื่อมลงจากการเสนอกฎหมายเก็บภาษีไซเดอร์ จนเขาลาออกในเดือนมิ.ย. 1763
บอริส จอห์นสัน และเทเรซา เมย์ สองนายกฯ ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนลิซ ทรัสส์ ต่างถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง แต่ก็ดำรงตำแหน่งนานกว่าสามปี
ที่มา: รอยเตอร์, VOA