Highlight
สงครามการค้าที่เข้มข้นมากขึ้นระหว่าง จีน-สหรัฐ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่งต้องลดความเสี่ยงในการใช้จีนเป็นฐานการผลิต และต้องมองหาฐานการผลิตใหม่ หและคู่ช้าชิงที่สำคัญในการแย่งชิงฐานการผลิตแห่งใหม่คือ อินเดีย-เวียดนาม ทั้งสองประเทศนี้มีจุดเด่นและจุดด้อยต่างกัน แต่ก็ได้ประโยชน์ทางธุรกิจด้วยกันทั้งคู่ ประเทศที่มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ สังคม กฏเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นในการลงทุน ก็จะดึงดูดผู้ลงทุนได้มากกว่า
บรรดาบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ เช่น Apple, Google และ Samsung กำลังขยายการดำเนินงานต่าง ๆ นอกประเทศจีน โดยอินเดียและเวียดนามกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่สดใส
ด้วยการพึ่งพาโรงงานในจีนอย่างมากทำให้ Apple อาจอยู่ในภาวะที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่จีนเผชิญความวุ่นวาย ซึ่งสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน, สงครามในยูเครน และสถานการณ์หลังการบังคับใช้ข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อยับยั้งโรคระบาดโควิด 19 นั้นพิสูจน์ได้ว่าคำเตือนดังกล่าวนั้นสมเหตุสมผล ดังนั้น Apple จึงตัดสินใจมุ่งที่จะย้ายฐานการผลิต ซึ่งอินเดียและเวียดนามกลายเป็น 2 ประเทศผู้ท้าชิงที่สำคัญที่สุด
JPMorgan ประเมินว่า Apple จะย้ายการผลิต iPad (20%), MacBook (5%), Apple watch (20%) และ Airpod (65%) มายังเวียดนามภายในปี 2568 ส่วนที่อินเดีย Apple ประกาศว่าจะผลิต iPhone 14 (5%) ในอินเดียซึ่งนับเป็นย่างก้าวที่สำคัญในกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงของ Apple
ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ Apple เท่านั้นที่แสดงความมุ่งมั่นที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีน แต่มีแนวโน้มว่าบริษัทอื่น ๆ จะเลือกกลยุทธ์ที่คล้ายกันนี้ ซึ่งทั้งอินเดียและเวียดนามนั้นกลายเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ดึงดูดบริษัทต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุน แต่ผู้ประกอบการอาจมีคำถามผุดขึ้นในใจว่าทั้ง 2 ประเทศนี้ ประเทศใดที่มีข้อได้เปรียบมากกว่าเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ, ด้านการเมืองและกฎเกณฑ์ และด้านสังคม
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ
ด้วยอินเดียนับเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของเอเชีย ทำให้อินเดียมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมาก เพราะด้วยเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทำให้เกิดตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่, มีผู้บริโภคที่หลากหลายและเต็มไปด้วยแรงงานราคาถูกสำหรับบริษัทต่างชาติ
ขณะที่ ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียอยู่ที่ราว 8% และมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง อินเดียยังใช้ข้อได้เปรียบของผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศประกาศแผนแม่บทแห่งชาติ PM Gati Shakti
ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงแบบหลากหลายมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะกลายเป็นตัวเปลี่ยนสถานการณ์พลิกให้อินเดียกลายเป็นผู้ชนะแย่งบริษัทต่าง ๆ มาจากจีน
ส่วนเวียดนาม มีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กกว่ามากเมื่อเทียบกับอินเดีย แต่ยังมองเห็นข้อดีหลายข้อในเศรษฐกิจของเวียดนาม เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita) ของเวียดนามสูงกว่าอินเดีย, อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศและอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าอินเดียซึ่งในแง่ของเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าจะสามารถรับรองเสถียรภาพของราคาวัตถุดิบและต้นทุนต่าง ๆ
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในช่วงที่เกิดความวุ่นวายได้ และเวียดนามยังมีอัตราภาษีนิติบุคคลที่ต่ำกว่าเล็กน้อยที่ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ มีค่าใช้จ่ายด้านภาษีที่ลดลงด้วย
นอกจากนี้บริษัทต่างชาติยังมีแนวโน้มที่จะมาลงทุนในเวียดนามมากกว่าอินเดียเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านสกุลเงิน เนื่องจากเวียดนามมีอัตราความผันผวนของค่าเงินต่ำ อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบในมุมขนาดของตลาด อินเดียจะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าพิจารณาในมุมดัชนีความคล้ายคลึงด้านการส่งออก เวียดนามมีตะกร้าสินค้าส่งออกที่คล้ายกับจีนมากที่สุด นั่นอาจเป็นข้อชวนคิดว่าเวียดนามอาจได้รับประโยชน์ที่ดีกว่าจากการเข้าแทนที่ตะกร้าส่งออกของจีน
ปัจจัยด้านการเมืองและกฎเกณฑ์
ระบบการเมืองของอินเดียและเวียดนามนั้นแตกต่างกัน โดยอินเดียเป็นประเทศที่ปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย เมื่อพรรครัฐบาลเกิดการเปลี่ยนแปลงใดใดก็อาจจะส่งผลกระทบต่อวาระแห่งชาติ ขณะที่เวียดนามเป็นระบอบสังคมนิยมที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์
ซึ่งในแง่นี้เสถียรภาพทางการเมืองของเวียดนามจะมีมากกว่าอินเดีย อีกทั้งดัชนีข้อจำกัดการกำกับดูแลการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเวียดนามจะยืดหยุ่นมากกว่าอินเดีย แต่อินเดียจะมีนโยบายที่ใช้ได้จริงและเข้มงวดมากกว่า เพื่อยกระดับสถานะของประเทศภายในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก
ปัจจัยด้านสังคม
ด้านสังคมจะพิจารณาใน 2 ประเด็น ได้แก่ ภูมิศาสตร์และทรัพยากรมนุษย์ โดยในแง่ภูมิศาสตร์เวียดนามจะได้เปรียบอย่างชัดเจน เพราะตั้งอยู่ใกล้เมืองเซินเจิ้นของจีน ซึ่งหมายความว่าจะประหยัดทั้งเวลาและเงินทุนสำหรับการย้ายโรงงานการผลิต และในมุมของ Apple เวียดนามยังตั้งอยู่ใกล้จุดที่เป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ เช่น ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในด้านแรงงาน อินเดียยังคงรักษาข้อได้เปรียบด้านแรงงานที่มีจำนวนมากและค่าจ้างก็ไม่แพงมาก ซึ่งหากโต้แย้งว่าเวียดนามก็มีแรงงานราคาถูกเช่นกัน ข้อได้เปรียบนี้ของเวียดนามมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปในอนาคต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากแรงงานที่สูงวัยขึ้นและต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบจากปัจจัยทั้ง 3 ข้อข้างต้น จะเห็นว่าแต่ละประเทศต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไปซึ่งหากมองว่าอินเดียเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีข้อได้เปรียบเรื่องตลาดและแรงงาน ส่วนเวียดนามก็คือ ศูนย์กลางการผลิตที่มีความมั่นคง
ขณะที่ สถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกยังคงยุ่งเหยิง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน, ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบของโรคโควิด 19 ทำให้ดูเหมือนว่าขณะนี้ไม่มีชาติไหนต้องการการเผชิญหน้ากันที่ไม่จำเป็นซึ่งอินเดียและเวียดนามก็ไม่มีข้อยกเว้น
โดยทั้ง 2 ประเทศ เห็นพ้องที่จะทำให้สถานการณ์ปัจจุบันอยู่ภายใต้ความร่วมมือที่อินเดียและเวียดนามสามารถที่จะเติมเต็มซึ่งกันและกัน ผ่านนโยบายความร่วมมือแบบทวิภาคี เช่น อินเดียมองว่าเวียดนามเป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพในกระบวนการห่วงโซ่อุปทานใหม่ของอินเดีย และด้วยการเชื่อมต่อกับเวียดนาม อินเดียหวังว่าจะเพิ่มการส่งออกสินค้าของอินเดียไปสู่แถบตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกผ่านการทำธุรกิจในรูปแบบกิจการร่วมค้า (joint venture) ได้
ทั้งนี้ ความสัมพันธระหว่างอินเดียและเวียดนามนั้นนับว่าเติบโตอย่างมั่นคงมูลค่าการค้าจาก 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2543 ยกระดับสู่12,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2562-2563 ซึ่งความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้นสะท้อนถึงการตระหนักในผลประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย
ที่มา: https://www.vietnam-briefing.com/news/how-vietnam-and-india-complement-each-other-as-foreign-businesses-consider-their-china1-alternative.html/PM Gati Shakti - National Master Plan for Multi-modal Connectivity| National Portal of India
Bangkok Bank SME