สี จิ้นผิง พบกับ ไบเดน ในการประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย ย้ำจะไม่เกิดสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
Highlight
เป็นการพบกันครั้งแรกของสองผู้นำโลก ระหว่าง โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ และ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ในการประชุม G20 ที่ประเทศอินโดนีเชีย ในช่วง 14-15 พ.ย.นี้ สื่อนอกรายงานว่า ทั้งสองประเทศต้องการบริหารความสัมพันธ์ ภายหลังจากการขับเคี่ยวกันมาอย่างหนักผ่านตัวแทนของแต่ละฝ่ายในทุกๆด้าน ด้วยว่าสหรัฐฯ มองว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อการเป็นผู้นำโลกมากกว่ารัสเซีย การเจรจาร่วมกันใช้เวลานานหลายชั่วโมง ซึ่งสื่อคาดว่าประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาเจรจาน่าจะครอบคลุมการกีดกันทางการค้า ปัญหาการส่งออกชิป และเรื่องสันติภาพไต้หวัน
ประธานาธิบดีสหรัฐโจ ไบเดน ย้ำในการแถลงข่าวหลังพูดคุยกับนายสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ว่า เมื่อ 14 พ.ย.ว่าจะไม่มีสงครามเย็นเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
นายไบเดน ตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าวรายหนึ่งว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงสงครามเย็นครั้งใหม่ได้ไหม โดยเฉพาะจากความตึงเครียดเรื่องไต้หวัน โดยผู้นำสหรัฐฯ ตอบว่า “ผมเชื่ออย่างที่สุดว่าจะไม่มีสงครามเย็นครั้งใหม่… ผมไม่คิดว่าจีนจะพยายามบุกรุกรานไต้หวันในเร็ววันนี้”
อย่างไรก็ดี นายไบเดน บอกว่าเขาได้ย้ำกับนายสี ว่านโยบายของสหรัฐฯ เรื่องไต้หวันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย และเขาอยากให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น “ได้รับการแก้ไขอย่างสันติ”
ผู้นำสหรัฐฯ บอกอีกว่า ท่าทีของนายสี “ตรงไปตรงมา” เหมือนกับที่เขาเป็นมาตลอด แต่ก็บอกว่าดูนายสีพร้อมจะประนีประนอมในบางเรื่อง
ก่อนหน้านี้ สื่อของรัฐจีนรายงานถึงการพูดคุยยาวนานกว่า 3 ชั่วโมงของผู้นำทั้งสองว่า นายสีได้เตือนให้สหรัฐฯ อย่า “ล้ำเส้น” เรื่องไต้หวัน
ในเรื่องของยูเครน สื่อของจีนรายงานว่า นายสีบอกว่าเขากังวลมากเรื่องสถานการณ์การสู้รบในยูเครนที่ยืดเยื้อมาหลายเดือนแล้ว ก่อนหน้านี้ จีนได้ออกมาเรียกร้องให้รัสเซียยับยั้งชั่งใจแต่ก็ไม่ได้ถึงกับประณามรัสเซียซึ่งเป็นคู่ค้าของตน
สี พบ ไบเดน พบหน้ากันครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนายสี จิ้นผิง ผู้นำจีน พบกันที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อช่วงบ่ายของ 14 พ.ย. ก่อนเข้าร่วมประชุมผู้นำ G20 ซึ่งเป็นเวทีหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจขนาดใหญ่
เป็นครั้งแรกที่ผู้นำสหรัฐฯ และจีน พบกันด้วยตัวเองนับตั้งแต่นายไบเดน รับตำแหน่งเมื่อปี 2020 และเป็นการพบกันในขณะที่ความสัมพันธ์ของมหาอำนาจทั้งสองประเทศร้าวฉาน
คาดว่าหัวข้อสำคัญในการสนทนาจะอยู่ที่เรื่องของไต้หวันที่จีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ไต้หวันไม่คิดเช่นนั้น
ความสัมพันธ์อันเย็นชา
ก่อนหน้าการพบปะกันครั้งนี้ นายไบเดน ได้แสดงท่าทีประนีประนอมต่อจีน แต่ถึงอย่างนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยังเป็นไปอย่างเย็นชา
ที่ผ่านมาจีนต้องเผชิญสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และล่าสุดสหรัฐฯ ยังพยายามไม่ให้จีนเข้ามาแทรกแซงตลาดผลิตชิปซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับสูงของสหรัฐฯ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนเห็นว่าสหรัฐฯ ตั้งใจกีดกันจีน “ทุกวิถีทาง” ฝ่ายจีนเห็นว่าความสัมพันธ์อันเย็นชาของทั้งสองฝ่ายมีต้นตอจากความปรารถนาของสหรัฐฯ ที่ต้องการเป็นชาติที่เหนือกว่า
ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ มองจีนว่าเป็นภัยคุกคามต่อโลกมากกว่ารัสเซีย และสหรัฐฯ เริ่มออกมาชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จีนจะรุกรานไต้หวันจริง
รูปการณ์ความสัมพันธ์ในขณะนี้ผ่านพ้นจุดที่ทั้งสองฝ่ายเคยมองว่าพัฒนาการที่เท่าเทียมจะมีความสำคัญเหนือกว่าความแตกต่างทางความคิดและความขัดแย้งของชาติที่เป็นมหาอำนาจอยู่แล้วกับอีกชาติที่กำลังก้าวขึ้นมา
จีนต้องการสานสัมพันธ์
ผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยเรื่องจีน ระบุว่า จีนบอกมาโดยตลอดว่าไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อยู่ในสภาพติดหล่ม แต่เห็นว่าเป็นหน้าที่ของสหรัฐฯ ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น
ยาเหว่ย ลิว ผู้อำนวยการโครงการจีน ของ Carter Center องค์กรไม่แสวงหากำไร บอกกับบีบีซีแผนกภาษาจีนว่า “ขณะนี้จีนมีทัศนะที่ชัดเจนว่า…ต้องการรื้อฟื้นความสัมพันธ์
เขาบอกว่าก่อนการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ และบอกกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐฯ ว่า จีนและสหรัฐฯ “จะต้องหาทางให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ”
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยเรื่องจีนคนนี้ไม่ได้หวังผลมากมายจากการพบกันของสองผู้นำ “ที่ผ่านมาสหรัฐฯ มักจะทำอะไรที่ออกแนวแข็งกร้าว” เขาระบุถึงการห้ามส่งออกชิปไปยังจีน
ไบเดน ระบุสหรัฐฯ ไม่ต้องการความขัดแย้ง
นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ บอกกับนักข่าวที่เดินทางร่วมคณะมากับเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน ว่านายไบเดน จะชี้ชัดว่า “สหรัฐฯ เตรียมพร้อมรับการแข่งขันอย่างรุนแรงกับจีนแต่สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการเผชิญหน้า”
นายไบเดนจะกล่าวด้วยว่า “ทุกชาติ รวมทั้งสหรัฐฯ และสาธารณรัฐประชาชนจีน ควรบริหารจัดการตามกฎที่เป็นที่ตกลงกัน รวมทั้งเสรีภาพในการเดินเรือ, สนามแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม โดยปราศจากการคุกคามข่มขู่ หรือบีบบังคับ หรือรุกราน”
นายซัลลิแวนกล่าวด้วยว่านายไบเดนจะมีโอกาสได้พูดคุยกับนายสีอย่างตรงไปตรงมา และหวังว่านายสีก็จะมีท่าทีที่ตรงไปตรงมาเช่นกัน เพื่อที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะเข้าใจกันและกันมากขึ้นว่าจะบริหารความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร
จี 20 คืออะไร
กลุ่มจี 20 คือกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 20 ประเทศ เมื่อนับรวมผลผลิตทางเศรษฐกิจในกลุ่มจี 20 แล้ว มีมูลค่าราว 85% และมีมูลค่าการค้าคิดเป็น 75% ของทั้งโลก ขณะที่มีจำนวนประชากรราว 2 ใน 3 ของโลก
สมาชิกกลุ่มจี 20 ประกอบด้วยสหภาพยุโรป และอีก 19 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ขณะที่สเปน มักได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมเป็นประจำ
ที่มา : BBC