จับตา สี จิ้นผิง เยือนไทย ประชุมทวิภาคี 17 พ.ย.นี้ ไทยพร้อมต้อนรับ 15 ผู้นำโลกและตัวแทนเขตเศรษฐกิจ
Highlight
เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค มีโอกาสต้อนรับผู้นำโลกจาก 21 เศรษฐกิจ รวมประธานาธิบดีของจีน สี จิ้นผิง ซึ่งน่าจับว่าในการประชุมทวิภาคีทั้งสองฝ่ายในวันพรุ่งนี้จะมีความร่วมมือด้านใดเกิดขึ้นบ้าง จีนมีบทบาทเป็นคู่ค้าอาเซียนที่มีมูลค่าสูงสุดในปัจจุบัน ขณะที่โจ ไบเดนผู้นำสหรัฐไม่เข้าร่วมและส่งตัวแทน สำหรับวาระการประชุมปีนี้ เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจหลังยุคโควิด ภายใต้คอนเซ็ปท์ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เริ่มประชุมผู้นำอย่างเป็นทางการในช่วง 18-19 พ.ย.นี้
ผู้นำโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ จะเดินทางมากรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค จนถึงเวลานี้ ผู้นำโลก 15 คน และตัวแทนจากเขตเศรษฐกิจรวมทั้งผู้นำเขตรับเชิญพิเศษ
ผู้นำระดับโลกที่ร่วมยืนยันเข้าร่วมการประชุมแล้ว รวมถึง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ส่วนผู้นำที่หลายคนจับตาว่าจะเข้าร่วม อย่าง ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ยังไม่ยืนยันว่าจะเข้าร่วม แม้จะแสดง “ความสนใจเข้าร่วม” ก็ตาม
ผู้นำโลกคนสำคัญที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพ คือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่ส่งรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส มาแทน ด้วยเหตุผลว่า ช่วงการประชุมเอเปค เขาต้องไปร่วมพิธีแต่งงานของหลานสาวที่ทำเนียบขาว แม้ว่าตัวไบเดน จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกที่กัมพูชา และ จี20 ที่อินโดนีเซีย ก็ตาม
นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ชี้ว่า การประชุมสุดยอดผู้นำวันที่ 18-19 พ.ย. นี้ คือ “ผลการทำงานหนักมาตลอดปี” และเป็นโอกาสแสดงศักยภาพของไทย ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับนานาชาติ
จับตา สี จิ้นผิง เยือนไทย
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งพึ่งขึ้นรับตำแหน่งสมัยที่ 3 ครั้งประวัติศาสตร์ ไปเมื่อไม่นานมานี้ จะเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ก่อนจะเดินทางต่อมาประเทศไทย จึงถือว่าไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่นายสี เดินทางเยือนนับแต่เกิดโควิด และขึ้นรับตำแหน่งสมัย 3
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ มองว่า การที่ผู้นำจีนมาร่วมประชุมเอเปค สะท้อนว่าจีนให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือในภูมิภาค และจีนเอง มีบทบาทสูงมากในการส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า จีนเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของไทย เมื่อเดินทางถึงกรุงเทพฯ นายสี มีกำหนดหารือแบบทวิภาคีกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 17 พ.ย. ก่อนหน้าการประชุมจริงที่จะมีขึ้นวันที่ 18-19 พ.ย.
“เรามีความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับจีน ดังนั้น การที่จะมีการหารือกันในระดับสูงกับผู้นำจีน เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับจีน และกำหนดว่าในอนาคตเราจะมุ่งความร่วมมือไปด้านใด” นายธานี ระบุ
อย่างไรก็ดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กลับมองว่า การเข้าสู่เอเปคของจีน มีเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจการค้า ซึ่งจะเห็นชัดมากขึ้นในสมัยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ไม่เห็นด้วยการกับข้อกำหนดทางการค้า “เชิงบังคับ” ของชาติตะวันตก
“จีนไม่สนใจเลยนะ จีนโดดเดี่ยวตัวเองมาก่อน… ไม่ไว้ใจกลุ่มประเทศตะวันตก และมหาอำนาจที่อเมริกาหนุนหลัง” ผศ. ประพีร์ กล่าว พร้อมเสริมว่า จีนยังเห็นความสำคัญของเอเปค เพราะมีกิจกรรมน่าสนใจ มีพันธมิตรทางการค้าในเอเชีย-แปซิฟิกอยู่เยอะ แต่ที่สำคัญ คือเพราะ “เอเปครวมกลุ่มกันโดยไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายอะไร… สมัครใจล้วน ๆ”
ทำไมคนไทยควรสนใจเอเปค
นายธานี กล่าวว่า “การที่เราจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมในคราวนี้ อยากให้คนไทยทุกคนร่วมกันต้อนรับคณะที่จะมาทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพที่ดี เพื่อให้ทุกคนประทับใจในความเป็นคนไทย”
แล้วทำไมคนไทยถึงควรสนใจการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค มากกว่าแค่เป็นวันหยุดพิเศษนาน 3 วัน การปิดการจราจร การปรับภูมิทัศน์สถานที่จัดการประชุม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และการนำเสนออาหารไทยแก่ผู้นำโลก
ประเทศไทยเป็นประธานเอเปคครั้งแรกในรอบ 20 ปี ก่อนจะส่งมอบตำแหน่งต่อให้สหรัฐฯ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2564 จึงเห็นชอบวงเงินการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมตลอดปี 2565 รวมเป็นเงิน 3,283.10 ล้านบาท จากงบรายจ่ายปี 2565 จำนวน 2,342.28 ล้านบาท และงบรายจ่ายปี 2566 จำนวน 940.82 ล้านบาท
การประชุมตลอดปี 2565 ประกอบด้วย การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส 5 ครั้ง การประชุมระดับรัฐมนตรี 9 ครั้ง และการประชุมระดับผู้นำ 1 ครั้ง ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 18-19 พ.ย. นี้
รัฐบาลไทยมองว่า การเป็นเจ้าภาพการประชุมเมื่อปี 2546 กับปี 2565 มีความสำคัญที่แตกต่างกัน เพราะปีนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการก้าวสู่ยุค “หลังโควิด-19” และถือเป็นปีแรกหลังโควิดระบาด ที่จัดการประชุมแบบต่อหน้าได้ จึงมุ่งเน้น การปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดเป็นสำคัญ ภายใต้หัวข้อหลัก คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
“ในฐานะประธานการประชุมปีนี้ เรามีโอกาสช่วยกำหนดทิศทางว่า เอเปคจะเน้นอะไรบ้าง” นายธานีกล่าว
“แน่นอนว่า เราต้องเน้นประเด็นที่เป็นประโยชน์สำหรับไทยและภูมิภาคโดยรวม ในการเปิดตลาดและส่งเสริมการค้าการลงทุน” และ “คนไทยอาจจะไม่ทราบว่า การส่งออกของประเทศไทย มีมูลค่าประมาณร้อยละ 70 ของจีดีพี เพราะฉะนั้นการค้าขายสำคัญมากสำหรับประเทศไทย”
เขายังชี้ว่า คู่ค้าสิบอันดับแรกของไทย ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกเอเปคทั้งสิ้น การเป็นเจ้าภาพเอเปคจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยและประชาชนชาวไทย ได้รับประโยชน์จากการลงทุนที่เข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศยังชี้ว่า จำนวนคณะผู้แทนนับหมื่นคนที่เดินทางมาไทยในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรี ได้กระตุ้นธุรกิจและการพัฒนาในพื้นที่ที่จัดการประชุม ตามความตั้งใจของรัฐบาล อาทิ ขอนแก่น และเชียงใหม่ เป็นต้น
ความเห็นนี้ของนายธานี สอดคล้องกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุในบทความบนเว็บไซต์ของจุฬาฯ ว่า ผู้นำ รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ และกองทัพนักข่าวอีกนับพันคน ที่เข้ามาในไทย คือ “กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และช่วยให้เศรษฐกิจในไทยเกิดการขยายตัว”
“และยังถือเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี เพราะต้องอย่าลืมว่า โรงแรมทุกโรง อาหารทุกมื้อ ของที่ระลึกทุกชิ้น ภาคบริการเสริมที่เกี่ยวเนื่องกับการประชุม ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือ และความตั้งใจอย่างดีที่สุดของชาวไทย ที่จะนำเสนอต่อสายตาชาวโลก”
สนามอิทธิพลการเมืองโลก ?
แม้เป้าประสงค์หลักของเอเปคคือ ส่งเสริมการค้าแบบพหุภาคี และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก แต่ด้วยสมาชิกที่หลากหลาย และครอบคลุมมหาอำนาจโลกหลายแห่ง รวมถึง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เมื่อผู้นำชาติมหาอำนาจมารวมตัวกัน จะกลายเป็นการช่วงชิงอิทธิพลในภูมิรัฐศาสตร์โลก ตามสถานการณ์และวิกฤตโลกที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างในปีนี้ คือ ความตึงเครียดที่มากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งเรื่องการค้าและประเด็นไต้หวัน รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นต้น
ต่อประเด็นนี้ ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า อยากให้ดูถึงจุดเริ่มต้นของเอเปค ที่ริเริ่มโดยออสเตรเลีย ซึ่งมองว่า “ตัวเองจะไปอยู่กลุ่มไหนดี” ประกอบกับเห็นความสำเร็จของการประชุมในกรอบอาเซียน และในช่วงนั้นยังไม่เกิดองค์การการค้าโลก
“ออสเตรเลียกลัวจะถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ ทำให้อยากสร้างกลุ่มที่ได้เข้ามาเข้าร่วม” จึงเกิดเอเปคขึ้นในปี 2532 ซึ่งปัจจุบัน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึง สหรัฐฯ จีน จีน-ไทเป (ไต้หวัน) และ จีน-ฮ่องกง โดยเรียกเป็น “เขตเศรษฐกิจ” มากกว่า “ประเทศ” ซึ่งการเลือกใช้คำแบบนี้เอง ทำให้แม้จีนและไต้หวัน ซึ่งมีความขัดแย้งกัน สามารถเข้าร่วมการประชุมในกรอบของเอเปคได้
สาเหตุของการเข้าร่วมเอเปคของ “เขตเศรษฐกิจ” ต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้ว จะเกิดจากความกลัว “ตกขบวน” ยกตัวอย่าง อเมริกา ที่เล็งเห็นผลประโยชน์ไม่ใช่เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป้าประสงค์หลัก คือ “ป้องกันไม่ให้มหาอำนาจอื่น ๆ เข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาค”
“อีกอย่าง เขาก็แพร่ค่านิยมทางเศรษฐกิจและการเมืองสไตล์อเมริกัน มาในภูมิภาคนี้ได้ อเมริกาถึงตระหนักถึงผลประโยชน์ที่ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ” โดยเฉพาะยิ่งจีนมีอิทธิพล และแสนยานุภาพทางทหารมากขึ้น เชื่อมสัมพันธ์เชิงรุกกับหลายประเทศในภูมิภาค แต่การที่สหรัฐฯ จะเข้ามายับยั้งอิทธิพลของจีนโดยตรง ในฐานะประเทศนอกภูมิภาคนั้นทำได้ยาก การเข้าร่วมเอเปคจึงช่วยให้ “การปรากฏตัวของสหรัฐฯ มันเนียน ๆ ไม่แทรกแซงตรง ๆ”
รายชื่อผู้นำโลก ผู้แทน และแขกพิเศษ ที่ยืนยันแล้วว่าจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค มีดังนี้
ผู้นำเขตเศรษฐกิจ
- นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน
- นายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย
- นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
- สมเด็จพระราชาธิบดี พระองค์ที่ 29 แห่งบรูไนดารุสซาลาม
- นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา
- นายกาบริเอล โบริก ฟอนต์ ประธานาธิบดีชิลี
- นายจอห์น ลี คา-ชิว ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในชื่อเขตเศรษฐกิจจีนฮ่องกง
- นายโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
- นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม
- นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
- นางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์
- นายแฟร์ดีนันด์ โรมูอัลเดซ มาร์โคส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
- นายเจมส์ มาราเป นายกรัฐมนตรีฟาปัวนิวกินี
ผู้แทนผู้นำ
- นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
- นายฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้
- ตัน ซรี ดาโตะ เซอรี โมฮามัด ซูกี บิน อาลี เลขาธิการรัฐบาลมาเลเซีย
- นายเบร์นาโด กอร์โดบา เตโย เอกอัครราชทูตเม็กซิโก ประจำประเทศไทย
- นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา รองประธานาธิบดีคนที่ 1 ของเปรู
- นายอันเดรย์ เบโลอูซอฟ รองนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย คนที่ 1
- นายมอร์ริส จาง ผู้แทนจีนไทเป (ไต้หวัน)
แขกพิเศษ
- สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา(ยกเลิกการเดินทาง เนื่องจากติดโควิด)
- นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส
- มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรี เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด แห่งซาอุดีอาระเบีย
อ้างอิง : BBC