นายกฯ หวังผู้นำเอเปครับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG คาดดันการค้าการลงทุนเพิ่มหลังเอเปค
Highlight
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวเปิดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ภายใต้หัวข้อ “การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน (Balanced, Inclusive and Sustainable Growth)อย่างเป็นทางการ หวังผู้นำเอเปครับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG และเตรียมเจรจาทวิภาคีด้านการค้าและการลงทุนกับสมาชิกเอเปคหลายประเทศในวันนี้ เช่นฝรั่งเศส กัมพูชา ญี่ปุ่น ซาอุดิอาระเบีย ในขณะที่สื่อนอกรายงาน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกแถลงการณ์ ว่า “เอเปคไม่ใช่สนามหลังบ้านของใคร”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวเปิดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ภายใต้หัวข้อ “การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน (Balanced, Inclusive and Sustainable Growth)” ว่า หวังว่าผู้นำทุกประเทศมีความสุขกับค่ำคืนงานเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจที่ทางประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา และทุกคนจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ซึ่งนับเป็นเกียรติที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ หลังจากไม่ได้พบหน้ากันถึง 4 ปี และการประชุมเอเปคต่อจากนี้จะเป็นการร่วมมือกันฟื้นฟูและนำพาภูมิภาคนี้ไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น
ในวันนี้จะหารือกันว่า เอเปคควรทำอย่างไรเพื่อจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน จนถึงปัจจุบันยังต้องต่อสู้กับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และถูกซ้ำเติมจากความท้าทายของสถานการณ์โลก ที่สำคัญยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบ ไม่ใช่แค่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงมนุษยชาติทั้งหมด จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันบรรเทาผลกระทบและปกป้องโลกของเรา โดยไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้อีกต่อไป ดังนั้นทุกคนจะต้องปรับมุม วิธีการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจแบบใหม่
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ประเทศไทยได้นำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติมาเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูจากผลกระทบโควิด-19 และเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนา และการเติบโตในระยะยาว ที่เข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืนและครอบคลุม
เศรษฐกิจBCG จะประสานแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเข้าด้วยกัน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อที่จะสร้างคุณค่าเพิ่มประสิทธิภาพ ในการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า และส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
– เศรษฐกิจชีวภาพ เกี่ยวข้องกับการผลิตที่เน้นการนำเทคโนโลยีนวัตกรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้า ที่เป็นทรัพยากร และวัตถุดิบชีวภาพ ที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดไป
– เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นระบบการผลิตและการบริโภคสินค้า บริการ โดยมีการวางแผนและการออกแบบระบบ ให้ความสำคัญกับการลดขยะ ในขณะเดียวกันต้องพยายามใช้วัตถุดิบซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
– เศรษฐกิจสีเขียว คือ การส่งเสริมพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบ และแนวคิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งสร้างผลกำไรควบคู่กับการสร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและสังคมด้วย โดยแนวทางทั้ง 3 ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG แตกต่างออกไปคือ การตระหนักว่าความท้าทาย หลากหลายที่ผสมอยู่ เชื่อมโยงคาบเกี่ยวกัน ดังนั้นการแก้ปัญหา จึงจะต้องไม่เป็นแบบแยกส่วน ด้วยเหตุนี้เศรษฐกิจ BCG จึงให้ความสำคัญ และไทยผลักดัน 3 แนวทางดังกล่าวอย่างเป็นองค์รวม เพื่อเป็นผลลัพธ์ที่มีผลทวีคูณและหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่ได้อย่างเสียอย่าง
นายกรัฐมนตรี หวังว่า การสร้างความร่วมมือและการมีความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เป็นรูปธรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และฟื้นความสมดุล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นไทยเชื่อว่าแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มีความเป็นสากล
การที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค จึงขอเสนอแนวคิดนี้เข้าสู่การพูดคุยกันในกรอบการประชุม ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศ และทำให้ความพยายามของเอเปคในการขับเคลื่อนภูมิภาคไปข้างหน้า ตอบสนองความท้าทาย ที่เร่งด่วนในปัจจุบันบนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจ BCG
ทั้งนี้ ไทยยังได้ริเริ่มการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อเป็นผลลัพธ์แห่งความจดจำ สำหรับการประชุมเอเปค 2565 โดยเป้าหมายกรุงเทพฯ จะเป็นกรอบแนวทาง ผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเปคอย่างชัดเจน พลิกโฉม สมดุล และทะเยอทะยาน โดยมุ่งหวังขับเคลื่อนงานภายใต้ 4 เป้าหมายได้แก่
1. สนับสนุนความพยายามการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศ
2. ขับเคลื่อนการค้าการลงทุนอย่างยั่งยืน
3. ผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
4. ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์
“ประเทศไทย ขอขอบคุณที่ผู้นำเศรษฐกิจที่จะสนับสนุนเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG จนบรรลุฉันทามติด้วยดี และหวังว่าผู้นำทุกคน จะได้ร่วมกันรับรองเอกสารสำคัญดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะเป็นมรดกสำคัญของการประชุมเอเปค ประจำปี 2565 เพื่อต่อยอดเป้าหมายกรุงเทพฯ จึงอยากเสนอให้ทุกคนหารือกันว่า แนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะสามารถแปลงวิสัยทัศน์และทิศทางตามที่ระบุไว้ในวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ.2040 และแผนปฎิบัติการ ROTROR ไปสู่การดำเนินการที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นหลัง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ดังนั้น เอเปคต้องมองให้ไกลกว่าการฟื้นตัวของการระบาดโควิด-19 ไปสู่การฟื้นสร้างสภาพแวดล้อมให้มีความยืดหยุ่น และเอื้อต่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน ในฐานะกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำของเรา และแหล่งบ่มเพาะทางความคิด โดยเอเปคจะเร่งสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพ เอื้อประโยชน์ทุกคนอย่างเป็นรูปธรรมแก่ทุกคนในระยะยาว แล้วเราจะร่วมมือให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจ ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเราจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนของเราปรับมุมมองและเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นผู้บริโภค และพลเมืองของโลกที่มีความรับผิดชอบได้อย่างไร จึงขอรับฟังความคิดเห็นของผู้นำเศรษฐกิจทุกท่าน
สำหรับวันนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะหารืออย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับแขกพิเศษ (APEC Leaders’ Informal Dialogue with Guests) ภายใต้หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน ระหว่างเอเปคกับหุ้นส่วนด้านการค้า” ประกอบด้วยประเทศฝรั่งเศส กัมพูชา และซาอุดิอาระเบีย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะหารือทวิภาคีกับ Ms. Kristalina Georgieva ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จากนั้นจะเป็นการหารือระหว่างอาหารกลางวัน ระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับแขกพิเศษ (Working Lunch) ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤตเงินเฟ้อ”
ส่วนช่วงบ่าย เป็นการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) โดยช่วงหารือเต็มคณะ ABAC Chair จะนำเสนอรายงานประจำปีต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะกล่าวตอบเกี่ยวกับความคาดหวัง และแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม
ต่อด้วยการหารือกลุ่มย่อย แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วย ผู้นำ 4 เขตเศรษฐกิจ และผู้แทน ABAC 10 คน โดยแต่ละกลุ่มหารือในหัวข้อเดียวกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมรับฟังผลสรุปของแต่ละกลุ่ม
สี จิ้นผิง เขียนแถลงการณ์ เอเปคไม่ใช่สนามหลังบ้านของใคร
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เขียนแถลงการณ์ถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในประเทศไทยว่า เอเชียแปซิฟิก “ไม่ใช่สนามหลังบ้านของใคร” พร้อมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มากขึ้นในด้านการพัฒนาและความมั่นคง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สุนทรพจน์ของปธน.สีได้รับการเผยแพร่ต่อกลุ่มผู้บริหารธุรกิจไม่นานหลังจากที่ปธน.สีเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค 2022) โดยการประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนทางการทูตของปธน.สี รวมถึงการพบปะกับปธน.โจ ไบเดนของสหรัฐนอกรอบการประชุม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
“เอเชียแปซิฟิกไม่ใช่สนามหลังบ้านของใคร และไม่ควรเป็นเวทีสำหรับการแข่งขันแย่งชิงอำนาจของประเทศใหญ่ ความพยายามที่จะก่อสงครามเย็นครั้งใหม่จะไม่มีทางได้รับการยอมรับจากประชาชนหรือยุคสมัยของเรา” ปธน.สีระบุ
แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศ แต่วาทะดังกล่าวก็เข้าใจได้ว่ามุ่งหมายถึงประเทศสหรัฐ โดยเมื่อช่วงต้นปีนี้ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ก็ได้แสดงความเห็นในลักษณะเดียวกันพร้อมเตือนว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไม่ควรกลายเป็นสถานที่ที่จีนกับสหรัฐฯ ใช้เผชิญหน้ากัน
ทั้งนี้ คณะผู้จัดงานประชุมเอเปคกล่าวว่า เดิมทีปธน.สีมีกำหนดการกล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมสุดยอดซีอีโอเอเปค แต่ได้ยกเลิกกำหนดการกะทันหันเนื่องจากตารางเวลาชนกัน โดยในแถลงการณ์ที่เผยแพร่หลังการประกาศดังกล่าว ปธน.สีระบุว่า โลกได้มาถึง “ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการฟื้นตัวหลังโควิด” และเรียกร้องให้มีการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ “มั่นคงและไม่ถูกกีดกั้นขัดขวาง”
ปธน.สีใช้แถลงการณ์ดังกล่าวเพื่อนำเสนอความคิดริเริ่มของตนในเรื่องความมั่นคงและการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และโน้มน้าวให้มีการพัฒนาให้ทันสมัยตามแนวทางของจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่จีนหนุนให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่แตกต่างไปจากแนวทางการพัฒนาแบบตะวันตก
ไทย-ญี่ปุ่น ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้หารือกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. KISHIDA Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และกระชับความสัมพันธ์อย่างรอบด้าน รวมทั้งติดตามและสานต่อผลการหารือระหว่างผู้นำทั้งสอง ประเทศ หลังจากที่ได้พบกันเมื่อพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
โอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศ ต่างยินดีในโอกาสครบรอบ 135 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในปีนี้ และการครบรอบ 10 ปีของความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ โดยไทยและญี่ปุ่นยังได้ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนา “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคต เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ประชาชนและภูมิภาค ซึ่งการลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี จะยิ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านต่อไป
ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยและญี่ปุ่น ยินดีที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนกับญี่ปุ่นในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมพิจารณาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอาเซียนด้วย โดยญี่ปุ่นยังได้กล่าวเสนอเพิ่มพูนความร่วมมือธุรกิจ startup ของทั้งสองประเทศด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอให้ญี่ปุ่นพิจารณาขยายการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทยเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว เชื่อมั่นว่าทรัพยากรมนุษน์เหล่านี้ จะเป็นกำลังสำคัญในภาคอุตสาหกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับไทยและญี่ปุ่นต่อไป
ด้านพลังงาน ไทยและญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทันสมัย และการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำร่วมกัน ผ่านข้อเสนอความร่วมมือด้านพลังงาน (White Paper) ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Zero-Emission Community (AZEC) ของญี่ปุ่น ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย
นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความยินดีกับการเป็นเจ้าภาพ World Expo 2025 Osaka ของญี่ปุ่น ไทยพร้อมสนับสนุนการจัดงานอย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นว่างานจะประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยไทยหวังจะได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) 2028 ที่จังหวัดภูเก็ตเช่นกัน เชื่อมั่นว่าจะเป็นเวทีให้นานาประเทศนำเสนอทางออกและแลกเปลี่ยนความร่วมมือสู่ความยั่งยืน
ด้านความมั่นคง ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านการทหาร และการป้องกันประเทศที่ใกล้ชิด เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบต่างๆ โดยทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการมอบโอนยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีป้องกันประเทศเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนไทย ซึ่งขณะนี้กระทรวงกลาโหม อยู่ระหว่างการพิจารณาสาขาความร่วมมือที่ประสงค์ร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นต่อไป
ด้านประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ ไทยได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประเทศที่สามอย่างต่อเนื่อง ไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือกับญี่ปุ่นในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ต้องการของประเทศผู้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมบทบาทที่แข็งขันในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมมีบทบาทอย่างแข็งขันเพื่อให้ความร่วมมือและกิจกรรมต่างๆ บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีไทยและญี่ปุ่น ยังได้ร่วมกันยินดีที่ทั้งสองประเทศมีการหารือจนมีผลเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน สามารถพัฒนาและยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ฉลองครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปีนี้ และการครบรอบ 10 ปีของความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ที่ถือเป็นอีกก้าวสำคัญทางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ