24 พฤศจิกายน 2565
1,170

9 เดือนทำสงคราม ‘ยูเครน’ เตรียมถูกแช่แข็ง จากอากาศหนาว ทหารรัสเซียพลีชีพกว่า 8 หมื่นราย

9 เดือนทำสงคราม ‘ยูเครน’ เตรียมถูกแช่แข็ง จากอากาศหนาว  ทหารรัสเซียพลีชีพกว่า 8 หมื่นราย
Highlight

สงคราม รัสเซีย-ยูเครน ล่วงเลยมาเป็นเวลา 9 เดือน ยังไม่มีทีท่าจะสงบลงและยังไม่รู้ผลแพ้-ชนะ มีแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่ายและทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการประเมินว่าทหารรัสเซียเสียชีวิตมากถึง 84,000 นาย ด้านยูเครน มีความเสียหายอย่างหนักทั้ง อาคาร ไฟฟ้า ประปา ระบบสื่อสาร   พลเมืองยูเครนเดือนร้อนมาก ในขณะที่ฤดูหนาวใกล้เข้ามา ล่าสุดมีการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยไม่ทราบฝ่าย สร้างความวิตกทำให้ชาวยุโรปอย่างมาก หากสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกไป


สถานการณ์ล่าสุดของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รัสเซียโจมตีรอบใหม่ใส่เครือข่ายไฟฟ้าและพลังงานของยูเครน ซึ่งดูเหมือนเป็นความตั้งใจของกองทัพรัสเซียที่จะสร้างความเสียหายต่อภาคพลังงานของยูเครนก่อนที่ฤดูหนาวจะมาถึง

การโจมตีล่าสุดของรัสเซียมีลักษณะคล้ายกับในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คือเน้นทำลายโรงไฟฟ้าในหลายเมืองของยูเครน ทำให้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง

เจ้าหน้าที่ในกรุงเคียฟกล่าวว่า มีประชาชนเสียชีวิต 3 คนจากการโจมตีของรัสเซียใส่อาคารสองแห่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ขณะที่มีรายงานไฟฟ้าดับในหลายเมืองทั่วประเทศ รวมทั้งบางส่วนของกรุงเคียฟ และในมอลโดวาที่อยู่ติดกับชาวยูเครนกำลังเผชิญกับอากาศหนาวเย็นจัดในฤดูหนาว แต่หลายพื้นที่ รวมทั้งกรุงเคียฟ กลับมีไฟฟ้าใช้เพียงเล็กน้อย หรือไม่มีไฟฟ้าเลย ที่จะทำให้ระบบเครื่องทำความร้อนสามารถทำงานขับไล่ความหนาวเย็นภายในที่พักอาศัยได้

การที่รัสเซียโหมโจมตีทางอากาศโรงไฟฟ้าต่างๆ เกือบครึ่งประเทศของยูเครน ทำให้ประชาชนต้องประสบกับการไม่มีไฟฟ้าใช้
เซอร์เกย์ โควันเลนโค หัวหน้าการไฟฟ้า YASNO ในกรุงเคียฟ ที่จัดหากระแสไฟฟ้ามาให้แก่ประชาชนในเมืองหลวง เตือนประชาชนให้กักตุนเสื้อผ้า ผ้าห่มไว้มากๆ เพราะคาดว่าชาวส่วนใหญ่ของประเทศจะมีชีวิตท่ามกลางความมืดไม่มีไฟฟ้าใช้ ไปจนถึงอย่างน้อยปลายเดือนมีนาคม 2566

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวว่า โรงไฟฟ้านับครึ่งประเทศในยูเครนได้ถูกรัสเซียยิงจรวดโจมตีจนได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยูเครนรายงานว่า รัสเซียโจมตีใส่โรงพยาบาลผดุงครรภ์แห่งหนึ่งทางใต้ของยูเครนเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา ทำให้มีเด็กทารกเสียชีวิตหนึ่งคนและมารดาได้รับบาดเจ็บ

เจ้าหน้าที่ระบุว่า ขีปนาวุธได้ทำลายอาคารสองชั้นแห่งหนึ่งในเมืองวิลนิแอนสก์ ในเขตซาปอริซห์เชีย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ผดุงครรภ์ดังกล่าว

นายเซเลนสกีกล่าวว่า รัสเซียยังคงโจมตีใส่เป้าหมายพลเรือนและสังหารประชาชนยูเครน พร้อมระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ต้องถูกลงโทษจากการกระทำอันโหดร้ายนี้

ผู้นำยูเครนยังได้แสดงความยินดีที่สภายุโรปได้ตัดสินใจเมื่อวันพุธ ให้ระบุชื่อรัสเซียว่าเป็น "รัฐสนับสนุนการก่อการร้าย" ด้วย ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ประกาศมอบความช่วยเหลือทางการทหารให้แก่ยูเครนเพิ่มเติมเป็นมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ ทำให้ยอดความช่วยเหลือที่อเมริกาจัดส่งให้ยูเครนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มเป็นมากกว่า 19,000 ล้านดอลลาร์แล้ว

สรุปสงคราม 9 เดือน มีแต่เสียกับเสียทั้งสองฝ่าย

ยูเครน เผยความสูญเสียของฝ่ายข้าศึก-รัสเซีย นับตั้งแต่ทำสงครามในยูเครนใกล้ครบ 9 เดือนเต็ม ทหารรัสเซียสิ้นชีพแล้วกว่า 84,000 ศพ รถหุ้มเกราะกว่า 5,000 คัน

เมื่อ 21 พ.ย. 2565 อัลจาซีรา รายงาน กระทรวงกลาโหมยูเครนแจ้งความสูญเสียของฝ่ายข้าศึก-รัสเซีย นับตั้งแต่ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ส่งกองทหารรัสเซียบุกยูเครน ตั้งแต่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา และสงครามในยูเครนกำลังใกล้จะครบ 9 เดือนเต็ม ว่ามีทหารรัสเซียเสียชีวิตแล้วประมาณ 84,210 นาย ระหว่าง 24 ก.พ.-20 พ.ย. 2565

นอกจากนั้น กองทัพรัสเซียยังได้สูญเสีย รถถังไปแล้ว 2,887 คัน รถหุ้มเกราะ 5,819 คัน ปืนใหญ่อัตตาจร 1,869 คัน เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง 393 อัน ระบบป้องกันภัยทางอากาศ 209 อัน เครื่องบินรบ 278 ลำ และ เฮลิคอปเตอร์ 261 ลำ

ขณะที่เว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติยูเครน แจ้งความคืบหน้าการดำเนินคดีอาญาทหารรัสเซียที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมาย ทั้งควบคุมตัว และทรมานพลเรือนชาวยูเครนนั้น ในขณะนี้มีถึง 44,662 คดี ในพื้นที่ 47 แห่ง รวมทั้งกรุงเคียฟ เมืองคาร์คิฟ โดเนตสก์ เคอร์ซอน และซูมีย์

ส่วน Tetyana Berezhna รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจยูเครน เผยว่ามีชาวยูเครนต้องตกงาน นับ 5 ล้านคน นับตั้งแต่รัสเซียทำสงครามในยูเครน พร้อมกับกล่าวว่าสงครามครั้งนี้กำลังทำลายตลาดแรงงานของยูเครน

นายเซเลนสกียังได้สั่งการให้ทูตของยูเครนประจำสหประชาชาติ (UN) ขอให้มีการประชุมฉุกเฉินกับคณะมนตรีความมั่นคงของ UN เพื่อหารือเรื่องการโจมตีครั้งล่าสุดของรัสเซีย รวมถึงการโจมตีใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองซาปอริซห์เชีย ซึ่งอาจนำไปสู่หายนะด้านนิวเคลียร์ในยูเครนและทั่วยุโรปได้

ปธน.เซเลนสกี กล่าวว่า "การสังหารประชาชน ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน เป็นการกระทำของผู้ก่อการร้าย" และ "ยูเครนยังคงขอร้องให้มีการตอบโต้ของประชาคมโลกต่ออาชญากรรมเหล่านี้"

ยูเครนยังเรียกร้องให้ชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รับรองการให้การคุ้มกันปกป้องโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งของยูเครนจากการถูกรัสเซียก่อวินาศกรรม

ทบวงพลังงานปรมาณูสากลของสหประชาชาติ เผยว่าจากการที่ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบความเสียหายที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ซึ่งรัสเซียยึดครองไว้ได้ตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา และตกเป็นเป้าโจมตีด้วยปืนใหญ่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าขณะนี้ยังไม่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยจากกัมมันตรังสี หรือ กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่อาจได้รับความเสียหายออกมาอย่างทันที

สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ของสหประชาชาติ ออกมาประณามการยิงปืนใหญ่โจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับเตือนว่า ‘หยุดความบ้าคลั่งนี้ได้แล้ว’ โดย IAEA เรียกร้องให้ยุติการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชียทันที ก่อนจะเกิดหายนะ

ในขณะที่ทั้งทางฝ่ายรัสเซีย และยูเครนต่างโทษกันไปมาว่าเป็นฝ่ายยิงปืนใหญ่โจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย

ผู้อำนวยการ IAEA ออกแถลงการณ์ พร้อมกับระบุว่า เหตุระเบิดหลายครั้งจากกระสุนปืนใหญ่ถูกยิงมาตกที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชียเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง และไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ “ต้องหยุดทันที”

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ถือเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรป แต่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย ตั้งแต่ 5 มี.ค. 2565 หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้เปิดฉากส่งกองทหารรัสเซียทำสงครามในยูเครน เมื่อ 24 ก.พ. 2565

โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชียได้ตกเป็นเป้าหมายโจมตีบ่อยครั้ง จนทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะได้รับความเสียหาย จนกัมมันตรังสีอาจรั่วไหลออกมา ซึ่งจะก่อให้เกิดหายนะภัยครั้งใหญ่ และหากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ กระแสลมจะพัดพาสารกัมมันตรังสีปกคลุมประเทศยุโรป ทำให้ชาวยุโรปหวาดกลัวกับความเสี่ยงนี้มาก

อ้างอิง : เอเอฟพี  รอยเตอร์  VOA

ติดต่อโฆษณา!