Moody’s คาด 'ฟิลิปปินส์-เวียดนาม' โตเร็วสุดในอาเซียนปี 2566
Highlight
อาเซียนถูกจับตาในฐานะจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวและการลงทุนไปแล้วในเวลานี้ เพราะภูมิภาคอาเซียนตั้งอยู่ในเขตที่ห่างไกลจากความขัดแย้งทางการเมืองโลก ผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจึงน้อยกว่าภูมิภาคอื่น เราจึงเห็นการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวมายังภูมิภาคนี้อย่างไม่ขาดสาย ด้านเศรษฐกิจก็เป็นแรงดึงดูดมหาศาล เพราะคาดว่าจะเป็นเขตที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดย Moody’s Analytics สถาบันวิจัยชื่อดัง ยกให้เวียดนามและฟิลิปปินส์ เด่นสุด
บริษัทวิจัย Moody’s Analytics คาดว่าฟิลิปปินส์และเวียดนามจะเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีหน้า (2566) ถึงแม้ว่าการขยายตัวของกลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงก็ตาม
บริษัทวิจัยดังกล่าวระบุในรายงานว่า เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกกำลังชะลอตัว เนื่องจากการค้าที่ชะลอตัวลงและจีนเจออุปสรรคท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี คาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะยังไม่เกิดขึ้นในปี 2566 นี้ ถึงแม้ว่าการเติบโตที่ชะลอตัวลงในยุโรปและอเมริกาเหนือจะกลายเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคก็ตาม
เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญหน้ากับความเติบโตต่ำและเงินเฟ้อสูงที่ยืดเยื้อเป็นระยะเวลานาน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) กลับมีทิศทางบวก จากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง การเติบโตอย่างรวดเร็ว และอนาคตที่ส่องสว่าง
นอกจากนี้ Moody’s ยังระบุว่า ฟิลิปปินส์จะสัมผัสได้ถึงผลกระทบจากการกลับมาเปิดประเทศหลังการแพร่ระบาดได้ช้า เนื่องจากมีมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ด้วยเหตุนี้ อุปสงค์สินค้าและบริการที่ถูกยับยั้งไว้ทั้งจากในภาคธุรกิจและครัวเรือนจะผลักดันให้เกิดการเติบโตในปีหน้า ขณะที่นโยบายการคลังของรัฐบาลก็ส่งเสริมเรื่องของการศึกษา สาธารณสุข และการกลับไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกัน
“อาเซียน” เนื้อหอมไม่หยุดจนทั่วโลกต้องจับตา
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสดงศักยภาพให้เห็นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านไป กับความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด G20 ที่อินโดนีเซีย และเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ที่ไทย
โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ GDP ของภูมิภาคนี้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา จาก 4.9% ขึ้นเป็น 5.1% และ HSBC คาดว่าไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม จะเติบโตที่ 3.2%-7.6% ในปีนี้ท่ามกลางความผันผวนและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
สากลนิยม คือกุญแจสำคัญ
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ฝังตัวเองลงไปกับบรรดาข้อตกลงทางการค้าที่เป็นประโยชน์ทั้งภายในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งอาเซียนเป็นกลุ่มการค้าระหว่างประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันกินสัดส่วนเกือบ 8% ของการส่งออกทั่วโลก
ปัจจัยที่ขับเคลื่อนความน่าสนใจระหว่างประเทศได้มี 3 ข้อ คือ 1) ข้อมูลประชากร 2) ดิจิทัล และ 3) พลวัตนิยม ซึ่งอาเซียนมีจำนวนประชากรถึง 680 ล้านคน และกำลังมีความมั่งคั่งและมีการศึกษามากขึ้น ทำให้ได้แรงงานที่มีทักษะและค่าแรงยังสามารถแข่งขันได้ ประกอบกับประชากรวัยหนุ่มสาวก็กำลังจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่จะได้รับอำนาจและถูกเชื่อมต่อด้วยโอกาสทางดิจิทัลที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สำนักงานสถิติทั่วไปของเวียดนาม รายงานตัวเลขคาดการณ์มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศช่วงเดือนม.ค.- พ.ย. อยู่ที่ 2.51 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5% เมื่อเทียบรายปี
รายงานระบุว่า เวียดนามออกใบอนุญาตโครงการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ จำนวน 1,812 โครงการ ซึ่งมีทุนจดทะเบียนรวมกว่า 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.9% ในเชิงปริมาณ แต่ลดลง 18% ในเชิงเงินทุน เมื่อเทียบรายปี
ขณะเดียวกัน เวียดนามมีโครงการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน จำนวน 994 โครงการ มีมูลค่าเกือบ 9.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 11 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 18.9% เมื่อเทียบรายปี
รายงานเสริมว่า มูลค่าการเบิกจ่ายเงินทุนของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนามในช่วง 11 เดือนแรก รวมอยู่ที่ประมาณ 1.96 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.1% เมื่อเทียบรายปี
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามมากที่สุดคือญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าการลงทุน 3.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยมูลค่าการลงทุนจากสิงคโปร์ 1.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ