“ปูติน” ย้ำรัสเซียจะปักหลักต่อสู้ในยูเครนไปอีกนาน และนิวเคลียร์มีไว้ป้องกันตัวไม่ชิงโจมตีก่อน

“ปูติน” ย้ำรัสเซียจะปักหลักต่อสู้ในยูเครนไปอีกนาน และนิวเคลียร์มีไว้ป้องกันตัวไม่ชิงโจมตีก่อน
Highlight

สงครามที่มีแต่ความสูญเสีย  9 เดือนผ่านไปรัสเซียทำศึกยูเครนไม่สำเร็จ และเพิ่มกำลังพลอีก 3 แสนนาย โดย 150,000 นายนั้นเข้าไปอยู่ในพื้นที่ยูเครนเรียบร้อยแล้ว ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ย้ำว่ารัสเซียจะปักหลักทำศึกกับยูเครนอีกนาน และความเสี่ยงนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น แต่รัสเซียจะไม่เป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีก่อน นักวิเคราะห์ประเมินว่ารัสเซียมีทุนทรัพย์มากพอที่จะยืนระยะทำศึกยืดเยื้อ

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ย้ำรัสเซียจะปักหลักต่อสู้ในยูเครนไปอีกนาน แต่ยัง ไร้เหตุผลในการเพิ่มกำลังทหารในตอนนี้ ท่ามกลางสงครามที่ยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 10 ในยูเครน ตามรายงานของรอยเตอร์

ผู้นำรัสเซีย กล่าวถึงสถานการณ์ในยูเครนเมื่อวันพุธว่า “ประเด็นเรื่องช่วงเวลาของปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร แน่นอนว่า นี่จะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นยาวนาน” และว่ารัสเซียอาจ “ป้องกันตนเองด้วยวิถีทางทุกอย่างที่ทำได้” พร้อมทั้งกล่าวว่ารัสเซียถูกชาติตะวันตกมองว่าเป็น “ประเทศชั้นสองที่ไม่มีสิทธิ์จะดำรงอยู่เลยแม้แต่น้อย”

ปธน.ปูติน กล่าวว่าความเสี่ยงด้านสงครามนิวเคลียร์นั้นเพิ่มมากขึ้นแล้ว แต่รัสเซียเห็นว่าอาวุธที่มีนั้นเป็นเครื่องมือในการตอบโต้ ไม่ใช่การชิงโจมตีก่อน โดยกล่าวว่า “เราไม่ได้เสียสติ เราตระหนักรู้ดีว่าอาวุธนิวเคลียร์คืออะไร” และว่า “เรามีเครื่องมือที่มีความล้ำหน้าและทันสมัยกว่าประเทศที่ครอบครองนิวเคลียร์ประเทศอื่น ๆ ... แต่เราคงไม่เที่ยววิ่งวุ่นไปทั่วโลกและกวัดแกว่งอาวุธดังกล่าวเหมือนกับว่าเป็นมีดโกนอย่างนั้นได้”

ผู้นำรัสเซีย กล่าวด้วยว่า “ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การเพิ่มกำลังทหารเป็นเรื่องไร้เหตุผล” หลังจากการระดมพลสำรอง 300,000 นาย เมื่อช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมา โดยจากจพนวนดังกล่าว กองกำลังรัสเซียราว 150,000 นาย ได้ประจำการอยู่ในยูเครนเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง 77,000 นายอยู่ในหน่วยรบ และส่วนที่เหลือ 150,000 นายยังอยู่ในศูนย์ฝึก

ทั้งนี้ ผู้นำรัสเซียแทบไม่พูดถึงระยะเวลาการทำสงครามกับยูเครนว่าจะกินเวลานานแค่ไหน แม้ว่าจะเคยกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมว่ารัสเซียแค่เริ่มต้นทำสงครามเท่านั้น โดยที่ผ่านมารัสเซียนั้นล่าถอยครั้งใหญ่อยู่หลายครั้งในการทำสงครามกับยูเครน แต่ปูติน กล่าวว่า เขาไม่เสียใจเลยที่เริ่มต้นทำสงครามที่ถือว่าเลวร้ายที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

รัสเซียเหลือทุนทรัพย์แค่ไหนในการทำสงครามกับยูเครน ?

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ รัสเซียยังมีทุนทรัพย์เพียงพอในการทำสงครามยืดเยื้อกับยูเครนหรือไม่หลังผ่านมา 9 เดือนแล้วนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศเริ่ม ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนชวนให้เกิดความสงสัยว่า จากการต่อสู้ที่คาดว่าจะจบลงอย่างรวดเร็วกลับกลายเป็นศึกที่ยืดเยื้อใกล้จะข้ามปีนี้ รัสเซียยังมีทุนทรัพย์เหลือในการทำสงครามต่อหรือไม่ ?

ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และพันธมิตร ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย โดยมุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ ธุรกิจการนำเข้าและส่งออก อุตสาหกรรมหนัก และรายได้จากน้ำมันและก๊าซ

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าการคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย และส่งผลให้พญาหมีขาวยุติสงคราม อย่างไรก็ตาม เซอร์เกย์ อเล็กซาเชนโก อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังรัสเซีย ประเมินว่า รัสเซียจะไม่ประสบกับข้อจำกัดทางเศรษฐกิจซึ่งหมายความว่า โอกาสที่รัสเซียจะยุติสงครามเพราะทุนทรัพย์ไม่พอนั้น เป็นไปได้น้อยมาก

มาตรการคว่ำบาตร ได้ผลไม่มาก

การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยชาติตะวันตกทำให้เศรษฐกิจในรัสเซียตกต่ำได้ประมาณหนึ่ง จากข้อมูลของรัฐบาลรัสเซีย ในปี 2022 GDP ลดลงประมาณ 2.9% ขณะที่ธนาคารกลางระบุว่าจะลดลง 3-3.5%

รัสเซียยังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งขึ้น 10% ในช่วง 8 สัปดาห์แรกของการรุกราน แต่เมื่อถึงเดือน พ.ค. ดัชนีราคาก็ลดระดับลง

นอกจากนี้ ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียยังร่วงลงอย่างมากในเดือน ก.พ.-มี.ค. จาก 75 รูเบิลต่อดอลลาร์เป็น 135 รูเบิลดอลลาร์ ทางการรัสเซียจึงกำหนดข้อจำกัดทางการเงินอย่างเข้มงวดในการทำธุรกรรมและเงินทุน ในที่สุดค่าเงินรูเบิลก็ทรงตัวที่ระดับ 60-70 รูเบิลต่อดอลลาร์

การคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ควบคู่ไปกับอุปสงค์ที่ลดลง ทำให้การนำเข้าสินค้าไปยังรัสเซียลดลงอย่างมาก โดยลดลง 23% และ 14% ในไตรมาสที่สองและสามของปี 2022 ตามลำดับ ส่งผลให้รายได้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าลดลง 20% รวมถึงภาษีและอากรศุลกากรในช่วง 10 เดือนแรกของปี

ความขัดแย้งกับตะวันตกในเรื่องสงครามยูเครนยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกเชื้อเพลิงของรัสเซีย ซึ่งในปี 2021 คิดเป็นเกือบ 50% ของการส่งออกทั้งหมดและ 45% ของรายได้งบประมาณของรัฐบาลกลาง

ทั้งนี้ ก่อนการรุกรานยูเครน บริษัทก๊าซพรอม (Gazprom) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของรัสเซีย ก็ได้เริ่มลดการจัดหาก๊าซไปยังยุโรปตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานและเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้น

ในเดือน เม.ย. ปูตินประกาศให้บริษัทยุโรปชำระค่าเชื้อเพลิงของรัสเซียเป็นเงินรูเบิลเท่านั้น แต่ประเทศในยุโรปจำนวนหนึ่งปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม ทำให้รัสเซียหยุดจ่ายก๊าซให้กับประเทศเหล่านั้น ประกอบกับเหตุการก่อวินาศกรรมท่อส่งนอร์ดสตรีม (Nord Stream) ก็ทำให้ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่ส่งไปยังยุโรปแทบจะถูกตัดขาดโดยสมบูรณ์

ดังนั้น ณ กลางเดือน พ.ย. การส่งออกของก๊าซพรอมไปยังยุโรปจึงลดลง 43% แต่เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้รายได้ของรัสเซียลดลง ในทางตรงกันข้าม ก๊าซพรอมและงบประมาณของรัฐบาลกลางมีผลกำไรก้อนใหญ่จากราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเดือน ส.ค. ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งแตะจุดสูงสุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 460% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ผลกำไรของก๊าซพรอมเพิ่มขึ้นอย่างมากจนรัฐบาลรัสเซียสามารถเก็บภาษีชั่วคราวจากรายได้ของบริษัทตั้งแต่เดือน ก.ย.-พ.ย. ได้ โดยนำเงิน 1.24 ล้านล้านรูเบิล (ราว 6.9 แสนล้านบาท) เข้าสู่กองทุนของรัฐ

ที่มา: รอยเตอร์, VOA

ติดต่อโฆษณา!