เผยเทคนิคป้องกันภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรออนไลน์
Highlight
ภัยไซเบอร์ระบาดหนักในปัจจุบัน ประชาชนได้รับความเสียหายสูญเสียทรัพย์สิน จากการหลวกลวงผ่านการทำรายการบนระบบออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทั้งการหลอกให้โอนเงิน การกดรับแอพ การดาวน์โหลด หรือการหลอกให้กรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคล และค่อนข้างยากที่จะป้องกันภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ธนาคารแนะนำว่าบัญชีที่ใช้สำหรับการใช้จ่ายสินค้า ไม่ควรเปิดวงเงินไว้มาก เผื่อกรณีมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูล ความเสียหายจะจำกัด และควรเปิดระบบแจ้งเตือนข้อความ เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ จะได้ทราบและแก้ไขได้ทันท่วงที
สมาคมธนาคารไทย ระบุว่า จากกรณีที่มีผู้ใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และผูกบัญชีธนาคารเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ประสบปัญหาการทำรายการโดยที่ไม่ได้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง สมาคมฯ ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าของสถาบันการเงินทุกแห่ง และเร่งดำเนินการติดตามตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานกับบริษัทผู้ให้บริการดังกล่าวในการตรวจสอบธุรกรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน
สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ สมาคมธนาคารไทย โดยชมรมป้องกันการทุจริตและศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) แนะแนวทางควรปฏิบัติ ดังนี้
- หากต้องการผูกบัญชีธนาคารเพื่อใช้ซื้อสินค้า ลูกค้าควรกำหนดวงเงินใช้งานเท่าที่จำเป็น โดยผูกกับบัญชีที่มีจำนวนเงินไม่สูงมาก หรือในวงเงินที่รับความเสี่ยงได้
- ยกเลิกการผูกบัญชีธนาคารกับร้านค้าออนไลน์ หากไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานแล้ว
- ตั้งค่าแจ้งเตือน เพื่อรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ทันท่วงที
- ไม่เปิดเผยรหัสผ่าน PIN หรือข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น
- ศึกษาทำความเข้าใจข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้งาน รวมถึงมาตรการความปลอดภัยของแพลตฟอร์มก่อนตกลงทำธุรกรรมใดๆ
ส่วนกรณีที่สงสัยว่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ควรปฏิบัติดังนี้
- เปลี่ยนรหัสผ่านของระบบบัญชีออนไลน์นั้น
- ติดต่อธนาคาร หรือผู้ให้บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของบัญชีหรือธุรกรรมโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ สมาคมฯ ขอให้ประชาชนผู้ใช้บริการ ศึกษาวิธีการรักษาข้อมูลตนเองให้ปลอดภัย เพื่อป้องกันภัยจากมิจฉาชีพที่มาหลากหลายรูปแบบ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแนะ 4 วิธีไม่เป็นเหยื่อโจรไซเบอร์!
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับเรื่องร้องเรียนจากธุรกิจและประชาชนหลายรายว่า มีมิจฉาชีพโทรศัพท์หรือส่งข้อความไปยังผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน โดยแอบอ้างชื่อกรมฯ ขอตรวจสอบธุรกิจหรือให้ปรับปรุงข้อมูลนิติบุคคลหรือโครงการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจจากโควิด-19 ซึ่งต้องแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลผ่านทางแอปพลิเคชัน Line ที่สร้างปลอมขึ้นมาให้หลงเชื่อว่าเป็นช่องทางการติดต่อกับกรมฯ หลอกให้ประชาชนดาวน์โหลดจนนำไปสู่การโจรกรรมออนไลน์สูญเสียทรัพย์สินตามมา
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าฯ ห่วงใยประชาชนที่อาจจะตกเป็นผู้เสียหายได้หากไม่รู้เท่าทันมิจฉาชีพ และย้ำชัดว่าไม่มีนโยบายทักหาใครก่อน รวมถึงขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือเสนอเงินช่วยเหลือธุรกิจด้วย จึงขอแนะแนวทางในการป้องกันตัวให้รอดพ้นจากรูปแบบการโจรกรรมข้อมูลใน 4 วิธี ดังนี้
- ก่อนเข้าใช้งานเว็บไซต์จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า URL ของเว็บไซต์นั้นสะกดถูกต้องตรงกับหน่วยงานที่จะติดต่อ ต้องไม่มีสระขาดหรือเกินมา URL เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ถูกต้องคือ www.dbd.go.th เท่านั้น และการพิมพ์ตัวอักษรด้วยตนเองแทนการกดผ่านลิ้งค์ที่ได้รับต่อมาจะเป็นวิธีการใช้งานที่ปลอดภัยที่สุด
- ไม่กดลิ้งค์/SMS/โหลดแอปพลิชัน ที่ไม่รู้จักหรือได้รับแชร์มาจากที่ต่างๆ เพราะอาจมีกลโกงจากมิจฉาชีพแฝงอยู่เพื่อหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลผ่านลิ้งค์
- ไม่หลงเชื่อคำเชิญชวน หากได้รับโทรศัพท์หรือการติดต่อจากบุคคลที่อ้างว่ามาจากกรมฯ โดยไม่ได้มีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกันมาก่อน หรือเสนอเรื่องต่างๆ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ขอให้พึงระวังว่าเป็นมิจฉาชีพ
- การโจรกรรมทรัพย์สินผ่านระบบออนไลน์จะต้องใช้ข้อมูลที่ระบุได้ถึงตัวบุคคล จึงต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บัตรประชาชน อีเมล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ และข้อมูลบัตรเครดิต เป็นต้น รวมทั้ง ต้องปกปิดข้อมูลดังกล่าวกับบุคคลที่ไม่รู้จัก และไม่นำขึ้นบน Social Media ซึ่งทำให้คนทั่วไปเข้าถึงได้
“ปัจจุบันมิจฉาชีพได้เปลี่ยนกลโกงให้เข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งใช้ชื่อหน่วยงานภาครัฐที่มีความน่าเชื่อถือมาหลอกกลวงให้เชื่อใจ ประชาชนจึงต้องระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลาและรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยม เพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อและสูญเสียทรัพย์สิน ทั้งนี้ กรมฯ กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับมิจฉาชีพที่ได้แอบอ้างชื่อและปลอมโลโก้กรมฯ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และยอมไม่ได้ ซึ่งจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพราะสร้างความเสียหายกับธุรกิจและประชาชน” นายทศพล กล่าว