ส่องพลเมืองเวียดนามใกล้แตะ 100 ล้านคนปีหน้า โอกาสหรือความเสี่ยง

Highlight
เวียดนามประเทศเพื่อนบ้านเป็นกำลังเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตาของอาเซียนในหลายด้าน ทั้งจำนวนประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจ-การลงทุน แต่ก็มีความท้าทายในด้านการวางแผนครอบครัวและการดูแลสุขภาพสำหรับวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว ในขณะที่ประเทศไทย มีอัตราการเกิดที่ลดลงและกำลังก้าวไปสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งมีความท้าทายด้านการรับมือสุขภาพประชากรรออยู่ข้างหน้า ส่วนประชากรโลกจะแตะ 9.7 พันล้านคนในภายในปี 2050 ซึ่งสูงกว่าจำนวนในปี 2020 เกือบ 2.4%
ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเวียดนามพบว่า ปัจจุบัน (พ.ย.2565) เวียดนามมีจำนวนพลเมืองประมาณ 99 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะแตะระดับ 100 ล้านคนในปีหน้า
ดร. Pham Vu Hoang รองอธิบดีฝ่ายประชากรและการวางแผนครอบครัวกล่าวในการประชุมเมื่อปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาว่า เวียดนามอาจมีพลเมืองครบ 100 ล้านคนได้ในเดือนเมษายน ปี 2566 และจากข้อมูลของ General Department of Population พบว่า ในเวียดนามมีทารกเกิดใหม่ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ ดร. Hoang ยังเสริมว่า จำนวนประชากรขนาดใหญ่สร้างประโยชน์มากมายได้ก็จริง แต่ก็มีความท้าทายในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเช่นกัน โดยหนึ่งในความท้าทายหลักคือการวางแผนครอบครัวและการดูแลสุขภาพสำหรับวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว
เวียดนาม มีผู้หญิงจำนวนเกือบ 25 ล้านคน ช่วงอายุ 15-49 ปีอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านคนภายในปี 2573 ซึ่งหมายความว่าความจำเป็นในการวางแผนครอบครัวก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะยังคงมีปัญหาและความท้าทายเรื่องการให้บริการการวางแผนครอบครัวโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ 67% ของประชาชนชาวเวียดนามก็มีการใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบสมัยใหม่ ซึ่งความจำเป็นเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ สุขภาพทางเพศ การวางแผนครอบครัว และความปลอดภัยทางเพศในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวก็เป็นหนึ่งในความท้าทายของรัฐบาลเวียดนามเช่นกัน
สำหรับจำนวนประชากรเวียดนามในปัจจุบันมีมากกว่า 99 ล้านคน อยู่อันดับที่ 15 ของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และอยู่อันดับที่ 8 ในเอเชียและอันดับที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ UNFPA ยังรายงานว่า ประชากรโลกได้แตะระดับ 8 พันล้านคนแล้วในวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา
สำนักข่าวบีบีซี เมื่อเดือน ก.ย.65 รายงานว่า ตลาดแรงงาน-ผู้บริโภคเวียดนามกำลังเติบโต โดยโครงสร้างประชากรของเวียดนาม ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งในแง่จำนวนแรงงาน ที่ค่าจ้างยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับไทย ขณะเดียวกันในส่วนของการผลิตเพื่อป้อนความต้องการในประเทศก็ยังถือว่ามีโอกาส เพราะฐานประชากรที่ใหญ่โต และที่สำคัญคือ อัตราการเกิดในเวียดนามยังอยู่ในอัตราที่ดี นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โจทย์ใหญ่ของไทยคือ ประชากรกว่า 70 ล้านคน กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ขณะที่เวียดนาม ซึ่งมีประชากรใกล้แตะ 100 ล้านคนกลับเต็มไปด้วยคนวัยแรงงาน และยังมีอัตราการเกิดสูงกว่าด้วย
ในปี 2022 จำนวนประชากรของไทยมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ในอันดับที่ 4 ของอาเซียน สำนักเศรษฐกิจและกิจการสังคม องค์การสหประชาชาติ (World Population Prospects 2022) คาดการณ์ว่าประชากรโลกแตะ 8,000 ล้านคนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และอินเดียจะขึ้นเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดของโลกในปี 2023 แซงหน้าจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อดูข้อมูลจำนวนประชากรใน 20 อันดับแรก พบว่า ล่าสุดจีนยังมาเป็นอันดับที่ 1 แต่ตัวเลขไม่ทิ้งห่างจากอินเดียนัก ขณะที่อัตราการเติบโตของอินเดียมีมากกว่าจีน 0.66% อินเดียจึงมีโอกาสขึ้นเป็นอันดับหนึ่งตามที่ได้คาดการณ์ไว้
ด้านประเทศในอาเซียนที่อยู่ใน 20 อันดับนี้ ได้แก่ อินโดนีเซีย ในอันดับที่ 4 ของโลก (ราว 280 ล้านคน) รองจากสหรัฐฯ แต่มีอัตราการเติบโตมากกว่า 0.43% ขณะที่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อยู่ในอันดับที่ 13 (ราว 112 ล้านคน) และ 15 (ราว 98 ล้านคน) ตามลำดับ
ส่วนประเทศไทยมีขนาดของประชากรประมาณ 0.88% ของโลก อยู่ในอันดับที่ 20 มีจำนวนอยู่ประมาณ 70,080,000 คน มีการเพิ่มขึ้นของประชากรเพียง 0.18% เท่ากับปี 2019 ส่วนความหนาแน่นของประชากรคิดเป็น 137 คน/ตร.กม.
ในระดับอาเซียน อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด ตามด้วยฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ในขณะที่ประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดในอาเซียน ได้เเก่ ลาว (ราว 7.5 ล้านคน) สิงคโปร์ (ราว 5.9 ล้านคน) และบรูไน (ราว 4 แสนคน)
ข้อมูลจาก World Population Data Sheet รายงานอัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลง และ 39 ประเทศรวมไทยจะมีประชากรในปี 2050 น้อยกว่าปัจจุบัน โดยคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9.7 พันล้านคนในภายในปี 2050 ซึ่งสูงกว่าจำนวนในปี 2020 เกือบ 2.4% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่คาดการณ์ใหม่ในรายงานฉบับนี้ต่ำกว่าปีที่แล้วที่กำหนดตัวเลขไว้ที่ 9.9 พันล้าน ภายในปี 2050
รายงานได้แสดงข้อมูลอัตราการเจริญพันธุ์ (fertility rate) ตามช่วงอายุของผู้หญิง และตามระดับรายได้ของประเทศ โดยมีข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้
🔹กลุ่มประเทศรายได้สูง
อัตราการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงทุกกลุ่มอายุลดลงตั้งแต่ปี 1950 และหญิงวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี และผู้หญิงในวัย 40 ปี มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุด
🔹กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง
อัตราการเจริญพันธุ์คงที่ในหญิงช่วงวัย 30 ปี ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีบุตรในช้าในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ดังที่เป็นในประเทศรายได้สูง
🔹กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ
อัตราการเจริญพันธุ์ของหญิงทุกกลุ่มอายุลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีสัญญาณบ่งชี้การมีบุตรช้า และอัตราการเจริญพันธุ์ของหญิงวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปีในประเทศเหล่านี้อยู่ที่ 94 คนต่อหญิง 1,000 คน
นอกจากนั้นยังมีข้อค้นพบสำคัญเพิ่มเติม ได้แก่
- จีน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในปัจจุบัน ที่4 พันล้านคน
- อัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมทั่วโลก (จำนวนการเกิดรอดโดยเฉลี่ยตลอดชีวิตต่อผู้หญิง) คือ3 ต่อผู้หญิง 1,000 คน ลดลงจากปี 1990 ที่ 3.2 คน
- อายุขัยคาดเฉลี่ยระดับโลกของผู้หญิงอยู่ที่ 75 ปี และ ผู้ชาย อยู่ที่ 71 ปี
- ภายในปี 2050 อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศจีน ไทย และยูเครน เป็นหนึ่งใน 39 ประเทศที่จะมีประชากรในปี 2050 น้อยกว่าปัจจุบัน
ที่มา : AEC Connect, BBC
2021 Population Data Sheet Highlights Declining Fertility Rates (IISD Knowledge Hub)
ข่าวยอดนิยม

ค้างค่างวด แต่ไม่อยากให้รถ “โดนยึด” มีวิธีไหนช่วยได้บ้าง?

สวัสดีปีเถาะ 2566 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ดี ใส่สีอะไรให้ปัง! ใช้เลขอะไรเด็ด! หมอช้างมีคำตอบ

เงินทุนต่างชาติทะลักเข้าอินโดนีเซีย 4.3 หมื่นล้านล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 65 เพราะอะไร ?

ฟินแลนด์ได้รับอนุมัติเป็นสมาชิกนาโตแล้ว รวมเป็น 31 ประเทศ
