ส่องพลเมืองเวียดนามใกล้แตะ 100 ล้านคนปีหน้า โอกาสหรือความเสี่ยง

ส่องพลเมืองเวียดนามใกล้แตะ 100 ล้านคนปีหน้า โอกาสหรือความเสี่ยง
Highlight

เวียดนามประเทศเพื่อนบ้านเป็นกำลังเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตาของอาเซียนในหลายด้าน ทั้งจำนวนประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจ-การลงทุน  แต่ก็มีความท้าทายในด้านการวางแผนครอบครัวและการดูแลสุขภาพสำหรับวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว ในขณะที่ประเทศไทย มีอัตราการเกิดที่ลดลงและกำลังก้าวไปสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งมีความท้าทายด้านการรับมือสุขภาพประชากรรออยู่ข้างหน้า ส่วนประชากรโลกจะแตะ  9.7 พันล้านคนในภายในปี 2050 ซึ่งสูงกว่าจำนวนในปี 2020 เกือบ 2.4%


ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเวียดนามพบว่า ปัจจุบัน (พ.ย.2565) เวียดนามมีจำนวนพลเมืองประมาณ 99 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะแตะระดับ 100 ล้านคนในปีหน้า

ดร. Pham Vu Hoang รองอธิบดีฝ่ายประชากรและการวางแผนครอบครัวกล่าวในการประชุมเมื่อปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาว่า เวียดนามอาจมีพลเมืองครบ 100 ล้านคนได้ในเดือนเมษายน ปี 2566 และจากข้อมูลของ General Department of Population พบว่า ในเวียดนามมีทารกเกิดใหม่ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ ดร. Hoang ยังเสริมว่า จำนวนประชากรขนาดใหญ่สร้างประโยชน์มากมายได้ก็จริง แต่ก็มีความท้าทายในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเช่นกัน โดยหนึ่งในความท้าทายหลักคือการวางแผนครอบครัวและการดูแลสุขภาพสำหรับวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว

เวียดนาม มีผู้หญิงจำนวนเกือบ 25 ล้านคน ช่วงอายุ 15-49 ปีอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านคนภายในปี 2573 ซึ่งหมายความว่าความจำเป็นในการวางแผนครอบครัวก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะยังคงมีปัญหาและความท้าทายเรื่องการให้บริการการวางแผนครอบครัวโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ 67% ของประชาชนชาวเวียดนามก็มีการใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบสมัยใหม่ ซึ่งความจำเป็นเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ สุขภาพทางเพศ การวางแผนครอบครัว และความปลอดภัยทางเพศในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวก็เป็นหนึ่งในความท้าทายของรัฐบาลเวียดนามเช่นกัน

สำหรับจำนวนประชากรเวียดนามในปัจจุบันมีมากกว่า 99 ล้านคน อยู่อันดับที่ 15 ของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และอยู่อันดับที่ 8 ในเอเชียและอันดับที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ UNFPA ยังรายงานว่า ประชากรโลกได้แตะระดับ 8 พันล้านคนแล้วในวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา

สำนักข่าวบีบีซี เมื่อเดือน ก.ย.65 รายงานว่า ตลาดแรงงาน-ผู้บริโภคเวียดนามกำลังเติบโต โดยโครงสร้างประชากรของเวียดนาม ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งในแง่จำนวนแรงงาน ที่ค่าจ้างยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับไทย ขณะเดียวกันในส่วนของการผลิตเพื่อป้อนความต้องการในประเทศก็ยังถือว่ามีโอกาส เพราะฐานประชากรที่ใหญ่โต และที่สำคัญคือ อัตราการเกิดในเวียดนามยังอยู่ในอัตราที่ดี นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โจทย์ใหญ่ของไทยคือ ประชากรกว่า 70 ล้านคน กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ขณะที่เวียดนาม ซึ่งมีประชากรใกล้แตะ 100 ล้านคนกลับเต็มไปด้วยคนวัยแรงงาน และยังมีอัตราการเกิดสูงกว่าด้วย

ในปี 2022 จำนวนประชากรของไทยมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ในอันดับที่ 4 ของอาเซียน สำนักเศรษฐกิจและกิจการสังคม องค์การสหประชาชาติ (World Population Prospects 2022) คาดการณ์ว่าประชากรโลกแตะ 8,000 ล้านคนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และอินเดียจะขึ้นเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดของโลกในปี 2023 แซงหน้าจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อดูข้อมูลจำนวนประชากรใน 20 อันดับแรก พบว่า ล่าสุดจีนยังมาเป็นอันดับที่ 1 แต่ตัวเลขไม่ทิ้งห่างจากอินเดียนัก ขณะที่อัตราการเติบโตของอินเดียมีมากกว่าจีน 0.66% อินเดียจึงมีโอกาสขึ้นเป็นอันดับหนึ่งตามที่ได้คาดการณ์ไว้

ด้านประเทศในอาเซียนที่อยู่ใน 20 อันดับนี้ ได้แก่  อินโดนีเซีย ในอันดับที่ 4 ของโลก (ราว 280 ล้านคน) รองจากสหรัฐฯ แต่มีอัตราการเติบโตมากกว่า 0.43%  ขณะที่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อยู่ในอันดับที่ 13 (ราว 112 ล้านคน) และ 15 (ราว 98 ล้านคน) ตามลำดับ

ส่วนประเทศไทยมีขนาดของประชากรประมาณ 0.88% ของโลก อยู่ในอันดับที่ 20 มีจำนวนอยู่ประมาณ 70,080,000 คน มีการเพิ่มขึ้นของประชากรเพียง 0.18% เท่ากับปี 2019  ส่วนความหนาแน่นของประชากรคิดเป็น 137 คน/ตร.กม.

ในระดับอาเซียน อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด ตามด้วยฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ในขณะที่ประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดในอาเซียน ได้เเก่ ลาว (ราว 7.5 ล้านคน) สิงคโปร์ (ราว 5.9 ล้านคน) และบรูไน (ราว 4 แสนคน)

ข้อมูลจาก World Population Data Sheet รายงานอัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลง และ 39 ประเทศรวมไทยจะมีประชากรในปี 2050 น้อยกว่าปัจจุบัน โดยคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9.7 พันล้านคนในภายในปี 2050 ซึ่งสูงกว่าจำนวนในปี 2020 เกือบ 2.4% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่คาดการณ์ใหม่ในรายงานฉบับนี้ต่ำกว่าปีที่แล้วที่กำหนดตัวเลขไว้ที่ 9.9 พันล้าน ภายในปี 2050

รายงานได้แสดงข้อมูลอัตราการเจริญพันธุ์ (fertility rate) ตามช่วงอายุของผู้หญิง และตามระดับรายได้ของประเทศ โดยมีข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้

🔹กลุ่มประเทศรายได้สูง

อัตราการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงทุกกลุ่มอายุลดลงตั้งแต่ปี 1950 และหญิงวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี และผู้หญิงในวัย 40 ปี มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุด

🔹กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง 

อัตราการเจริญพันธุ์คงที่ในหญิงช่วงวัย 30 ปี ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีบุตรในช้าในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ดังที่เป็นในประเทศรายได้สูง 

🔹กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ

อัตราการเจริญพันธุ์ของหญิงทุกกลุ่มอายุลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีสัญญาณบ่งชี้การมีบุตรช้า และอัตราการเจริญพันธุ์ของหญิงวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปีในประเทศเหล่านี้อยู่ที่ 94 คนต่อหญิง 1,000 คน

นอกจากนั้นยังมีข้อค้นพบสำคัญเพิ่มเติม ได้แก่

  • จีน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในปัจจุบัน ที่4 พันล้านคน
  • อัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมทั่วโลก (จำนวนการเกิดรอดโดยเฉลี่ยตลอดชีวิตต่อผู้หญิง) คือ3 ต่อผู้หญิง 1,000 คน ลดลงจากปี 1990 ที่ 3.2 คน
  • อายุขัยคาดเฉลี่ยระดับโลกของผู้หญิงอยู่ที่ 75 ปี และ ผู้ชาย อยู่ที่ 71 ปี
  • ภายในปี 2050 อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศจีน ไทย และยูเครน เป็นหนึ่งใน 39 ประเทศที่จะมีประชากรในปี 2050 น้อยกว่าปัจจุบัน


ที่มา : AEC Connect, BBC

2021 Population Data Sheet Highlights Declining Fertility Rates (IISD Knowledge Hub)

ติดต่อโฆษณา!