รวมแพ็กเกจของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลปี’66 ไม่ว้าวมาก..แต่ไม่ควรพลาดรับสิทธิ์!!
Highlight
คณะรัฐมนตรี เห็นชอบของขวัญปีใหม่ 2566 ทั้ง ช้อปดีมีคืน-ลดภาษีที่ดิน- ค่าธรรมเนียมโอน ภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นแพ็คเกจที่ประชาชนรอคอย รวมของขวัญอื่นๆ จากกระทรวงต่างๆ อีกมากมาย สำหรับ“ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษีได้ถึง 40,000 บาท โดยรวมค่าใช้จ่ายการเติมน้ำมันได้ แต่ไม่รวมอีก 10 รายการ คาดมีเงินสะพัดในระบบ 56,000 ล้านบาท ด้านกระทรวงต่างๆพร้อมใจมอบของขวัญปีใหม่ เช่น คมนาคมฟรีค่าทางด่วนช่วง 29 ธ.ค.65-4 ม.ค.66 กระทรวงการต่างประเทศ ให้บริการหนังสือเดินทางด่วนภายในวันเดียวในช่วง จันทร์-ศุกร์ เป็นต้น
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 20 ธ.ค.2565 โดย ครม. เห็นชอบมาตรการการดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน หลายโครงการในหลายกระทรวง รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่ประชาชนรอคอย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี’66” เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 2566 โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยแบ่งเป็น
- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวน 30,000 บาทแรก ออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์
- ค่าซื้อสินค้าหรือบริการ อีกจำนวน 10,000 บาท ออกใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับสินค้าที่เข้าร่วมมาตรการ เช่น ค่าซื้อสินค้า และค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าสินค้า OTOP
“ช้อปดีมีคืน” เติมน้ำมันได้
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า โครงการช้อปดีมีคืน ปี 2566 นี้ จะเปิดให้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการเติมน้ำมันเข้าร่วมโครงการได้ด้วย โดยมีการประเมินว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 1.4 ล้านราย สูญเสียรายได้ 6.2 พันล้านบาท แต่จะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 4.2 หมื่นล้านบาท
แต่สินค้าและบริการที่ “ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ภายใต้มาตรการ ช้อปดีมีคืน ปี 2566” มีดังต่อไปนี้
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสารในรูปแบบกระดาษ และค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์
- ค่าที่พักในโรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
- ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าบริการที่มีข้อตกลงให้บริการระยะยาวที่เริ่มก่อน 1 ม.ค.66 หรือสิ้นสุดหลัง 15 ก.พ.66
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี’66” จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นราว 56,000 ล้านบาท และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี และสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
2. มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 โดยลดภาษีให้ในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปีภาษี พ.ศ. 2566
3. มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2566 โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม ร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา
4. มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง สำหรับอากาศยานภายในประเทศ โดยลดอัตราภาษีตามปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศ จากลิตรละ 4.726 บาท เหลือลิตรละ 0.20 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2566 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและบรรเทาผลกระทบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสายการบินภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
5. มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตาม พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ให้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อเนื่อง ณ สถานประกอบการเดิม ประเภทใบอนุญาตเดิม ที่ยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2566 เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์โควิด-19
มาตรการและโครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เช่น โครงการชำระดีมีคืน ลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน มาตรการส่งเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟู
2. ธนาคารออมสิน เช่น โครงการวินัยดี มีเงิน
3. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เช่น ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ (ธพว.) เช่น ผ่อนดีมีคืน (บัตรกำนันสูงสุด 300 บาท) มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
มาตรการและโครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง 5 โครงการ
1. มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 จากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
2. มาตรการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ให้กับลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน/ผู้ค้ำประกัน จากบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บสอ.)
3. โครงการเที่ยวปีใหม่สุขใจไปกับพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน จากกรมธนารักษ์
4. โครงการสนับสนุนตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อความสุขที่มั่นคงของทุกภาคส่วน จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทัพย์ (ก.ล.ต.)
5. โครงการส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี และมีภูมิคุ้มกัน ไม่ถูกหลอกลวง จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทัพย์ (ก.ล.ต.)
6. โครงการกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) สำหรับเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกบิธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
7. โครงการ “ชม ชิม ช็อป ยาสูบเชียงราย” จากการยาสูบแห่งประเทศไทย
กระทรวงคมนาคม
2. นครราชสีมา ช่วงอำเภอปากช่อง – อำเภอสีคิ้ว – อำเภอขามทะเลสอ และยกเว้นค่าผ่านทาง มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และหมายเลข 9 และ ยกเว้นค่าผ่านทาง ทางพิเศษบูรพาวิถีและกาญจนาภิเษก ระหว่างเวลา 0.01 น. ของวันที่ 29 ธันวาคม จนถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 4 มกราคม 2566
3. ยกเว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ระหว่างเวลา 12.00 น. ของวันที่ 31 ธ.ค.2565 ถึงเวลา เวลา 12.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค. 2566, เรือไฟฟ้า (EV Boat) จะให้บริการฟรี ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2565 -1 มกราคม 2566, ลดค่าโดยสาร บขส. 10% ทุกเส้นทาง สำหรับผู้โดยสารที่จองตั๋วรถ บขส. ล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ ตรวจรถฟรี โดยกรมการขนส่งทางบก ตลอดเดือนธ.ค. 2565
4. ขยายเวลาการเดินรถเมล์ ในเขตกรุงเทพฯ ในเส้นทางที่ผ่านสถานที่จัดงานเคานท์ดาวน์ (Count Down) เช่น สยามพารากอน ไอคอนสยาม และเอเชียทีค ถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค. 2566 ขยายเวลาเปิดให้บริการเดินรถของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันที่ 31 ธ.ค. 2565 จนถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค. 2566 และขยายเวลาให้บริการของอาคารและลานจอดรถ MRT ทั้ง 2 สาย ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 31 ธ.ค. 2565 จนถึงเวลา 03.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค. 2566 บริการจอดรถฟรี ณ ลานจอดรถระยะยาว โซน C ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ ท่าอากาศยานภูเก็ต 29 ธ.ค. 2565 ถึงวันที่ 3 ม.ค. 2566
กระทรวงพลังงาน
1. ดำเนินมาตรการตรึงราคาน้ำมันทุกชนิดในช่วงวันที่ 24 ธ.ค. 2565- 3 ม.ค. 2566
2. เตรียมการขอขยายระยะเวลาคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG โดยกำหนดราคาขายปลีกอยู่ที่ 408 บาท/ถัง 15 กก. ตั้งแต่ 1-31 ม.ค. 2566
3. ให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาท/คน/3เดือน และให้แก่ร้านค้าหาบเร่ จำนวน 100 บาท/คน/เดือน ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2566
4. บริการตรวจสภาพรถโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
5. แจกส่วนลดครึ่งราคาที่พักที่เขื่อน กฟผ. จำนวน 30,000 สิทธิ์
กระทรวงการต่างประเทศ
1. ให้บริการหนังสือเดินทางด่วนภายในวันเดียว (ทำเช้า รับบ่าย) โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเล่มด่วนตั้งแต่วันที่ 3-13 ม.ค. 2566 (ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ)
2. บริการแปลเอกสารภาษาอังกฤษโดยไม่คิดค่าบริการ (จำกัดคนละ 1 เอกสาร) ตั้งแต่วันที่ 3-31 ม.ค. 2566 ณ กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ
และในช่วงเวลาและสถานที่เดียวกันนี้ยังจะมีบริการรถทะเบียนเคลื่อนที่ของ กทม. ณ กรมการกงสุล โดยรถทะเบียนเคลื่อนที่ของ กทม. จะจอดให้บริการที่ลาดจอดรถกรมการกงสุล เพื่อให้บริการทำบัตรประชาชนใหม่ การคัดสำเนาเอกสารทะเบียนราษฎรภาษาไทย-อังกฤษ 3 ประเภท ได้แก่ ทะเบียนบ้าน สูติบัตร และมรณบัตร
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่กระทรวงการต่างประเทศจะให้บริการตลอดปี คือ บริการหนังสือเดินทางวันหยุดสุดสัปดาห์ (เสาร์-อาทิตย์) ณ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวปทุมวัน(ศูนย์การค้า MBK Center) และบางใหญ่ (ศูนย์การค้า Central Plasa West Gate) ทั้งรูปแบบบูธปกติและเครื่องทำหนังสือเดินทางด้วยตนเอง และการให้บริการกงสุลสัญจร ของขวัญตลอดปี เพื่อให้บริการหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ เดือนละ 1 ครั้ง รวม 12 ครั้ง เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่จังหวัดที่ไม่มีสาขาสำนักงานหนังสือเดินทางตั้งอยู่
กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
1. แจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางออนไลน์และข่าวปลอม ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ตั้งแต่เดือน ม.ค. 66 เป็นต้นไป ให้ประชาชนรู้เท่าทันและสามารถรับมือกับการหลอกลวงรูปแบบใหม่ได้
2. ยกเว้นบริการค่าโทร เช่น บริการ NT Voice ยกเว้นค่าโทรที่โทรไปยังเลขหมายปลายทางที่เป็น Fixed Line/IP Phone ของ NT ทั่วไทย (วันที่ 30 ธ.ค. 65 - 2 ม.ค. 66) และบริการ my โทรฟรีในเครือข่าย และส่ง SMS ฟรี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (วันที่ 31 ธ.ค. 65 - 1 ม.ค. 66)
3. ส่วนลดค่าบริการไปรษณีย์ไทยด่วนพิเศษ (EMS) ในประเทศ ร้อยละ 19-48 สำหรับประชาชนที่ใช้บริการแบบ Walk In (วันที่ 26 ธ.ค. 65 - 5 ม.ค. 66)
4. ให้ผู้ประกอบการ SMEs ยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ช่วยลดค่าใช้จ่าย ร้อยละ 250 ในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษา/ฝึกอบรม หรือในการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้าง โดยเฉพาะทักษะดิจิทัล
5. จัดให้มีบริการ/นวัตกรรมด้านดิจิทัลภาครัฐสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เช่น ระบบการหางาน ห้องสมุดออนไลน์ ระบบการเดินทาง และระบบสวัสดิการด้านสุขภาพ
6. เพิ่มจำนวนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้สามารถรองรับการใช้งานของคนพิการและคนทุกกลุ่ม
7. ยกเว้นค่าบริการข้อมูลสารสนเทศด้านอุตุนิยมวิทยาและสถิติภูมิอากาศของประเทศ (1-15 ม.ค. 66) ผ่านเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา
8. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมให้ดาวโหลดสติ๊กเกอร์ “อัศวินต่อต้านข่าวปลอม” ฟรี ผ่าน Line Sticker Shop : @antifakenewscenter สามารถใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 90 วัน
9. จัดงาน NSO Data Camp งานประชุมเสวนาวิชาการและนิทรรศการการใช้ประโยชน์ข้อมูลสถิติ และกิจกรรมนักสถิติรุ่นเยาว์สัญจร เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสถิติ (เดือน ม.ค. - ก.พ. 66)
10. สร้างความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้กับประชาชน ผ่านสื่อวีดิทัศน์ และอินโฟกราฟิก ผ่านสื่อส่วนกลางของ สนง. คกก. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (วันที่ 28 ธ.ค. 65 – 3 ม.ค. 66)
11. ส่งเสริมการมี Digital ID เพื่อให้ประชาชนประหยัดเวลา/ค่าใช้จ่าย และปลอดภัยในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนได้สะดวก ลดความเสี่ยงการถูกปลอมแปลงตัวตน (คาดว่าจะประกาศใช้ภายในเดือน ม.ค. 66)
12. นำผลสำรวจความต้องการของประชาชน สำหรับการวางแผนช่วยเหลือประชาชนของหน่วยงานรัฐ ปี 66เสนอ ครม. ต่อไป เช่น เรื่องควบคุมราคาสินค้าอุปโภค - บริโภค ลดค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา/ค่าอินเทอร์เน็ต และแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร
กระทรวงแรงงาน
1. ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ตาม ม.33 ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 15,000 ราย ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท ตั้งแต่ ม.ค. 66 เป็นต้นไป
2. ให้เข้าถึงสิทธิการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด 7,500 คน ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่มดลูก โรคนิ่ว โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 30 มิ.ย. 66 เป็นต้นไป
3. ให้งานทำ “ต้องการทำงาน ต้องได้งานทำ” โดยมีตำแหน่งงานว่าง ที่หลากหลายไว้ให้บริการ รวม 613,754 อัตรา แบ่งเป็นต่างประเทศ 50,000 อัตราและในประเทศ 563,784 อัตรา
4. ฟรี ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการสำหรับผู้ประกันตน 300,000 คน ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จ. สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ให้ได้รับการตรวจสุขภาพ โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตนต่อหัว เฉลี่ยรายละ 910 บาท (กลุ่มเสี่ยง) และ 340 บาท (กลุ่มไม่เสี่ยง) ตั้งแต่ ม.ค. 66 เป็นต้นไป
5. ฟรี อบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ 10,000 คน โดยมีหลักสูตรการอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัย ในการทำงาน เช่น กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทักษะการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย ในการทำงาน ตั้งแต่ ม.ค. - มี.ค.66
6. ลดอัตราค่าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ คงเหลือ 1-3 บาท นาน 3 เดือน มีผู้เข้าร่วมทดสอบ 5,000 คน ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 66