ธนาคารโลกหั่นเป้าการเติบโตเศรษฐกิจโลกเหลือ 1.7% ในปีนี้ ต่ำสุดในรอบ 30 ปี

ธนาคารโลกหั่นเป้าการเติบโตเศรษฐกิจโลกเหลือ 1.7% ในปีนี้ ต่ำสุดในรอบ 30 ปี
Highlight

ธนาคารโลกปรับประมาณการณ์เติบโตลงเหลือ 1.7% ลกลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 3.0% สหรัฐฯ และยุโรป อาจจะมีเศรษฐกิจโตเพียง 0.5% จีนได้รับการคาดการณ์เติบโตลดลง 0.9% เช่นกัน เหลือเพียง 4.3% ในปีนี้  ปัจจัยหลักที่ยังคงกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจคือ ดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นตัวกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ปัจจัยที่จะนำเศรษฐกิจสู่ภาวะถดถอย ปัจจัยควรระวังเพิ่มคือ การกลับมาระบาดของโควิด-19


ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงค์ หั่นเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในวันอังคาร ไปสู่ระดับที่ใกล้ถึงภาวะถดถอยสำหรับหลายประเทศทั่วโลก จากผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย สงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังดำเนินอยู่ และฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกยังทำงานได้ไม่เต็มกำลัง ตามรายงานของรอยเตอร์

เวิลด์แบงค์ ปรับลดประมาณการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปีนี้ ลงมาเหลือเพียง 1.7% ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี โดยเมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อน เวิลด์แบงค์ ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวที่ 3.0% ธนาคารโลกคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกว่าอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยหั่นเป้าผลผลิตมวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ของสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร หรือ ยูโรโซน และประเมินว่า จะขยายตัวเพียง 0.5% ซึ่งอาจสะท้อนภาพของเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งใหม่ในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี

แถลงการณ์ของเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก ระบุว่า “ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจอันเปราะบาง ปัจจัยที่ไม่พึงประสงค์ อย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงกว่าคาด การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ การกลับมาระบาดของโควิด-19 หรือความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยกระดับขึ้น อาจผลักให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ทั้งสิ้น”

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ไม่สู้ดีนัก อาจเห็นได้ชัดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ในทัศนะของเวิลด์แบงค์ ที่หั่นเป้าเศรษฐกิจกลุ่มนี้โตที่ระดับ 3.5% ตลอดระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในระยะ 20 ปี เนื่องจากประเทศเหล่านี้ประสบปัญหาภาระหนี้สูง ค่าเงินอ่อนค่าหนัก และการลงทุนภาคธุรกิจที่ชะลอลง ส่วนเศรษฐกิจจีน ธนาคารโลกคาดว่าจะโต 4.3% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการปรับลดคาดการณ์ลงราว 0.9% จากปีก่อน เนื่องจากความรุนแรงของการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ธนาคารโลกเรียกร้องให้นานาประเทศช่วยเหลือกลุ่มประเทศรายได้น้อยในการรับมือกับผลกระทบด้านอาหารและพลังงาน การพลัดถิ่นจากสงครามความขัดแย้ง และความเสี่ยงด้านวิกฤตหนี้ ทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่าหรือการให้เงินกู้กับกลุ่มประเทศเหล่านี้ ร่วมกับการระดมความช่วยเหลือจากภาคเอกชนในการกระตุ้นการลงทุนด้านต่าง ๆ มากขึ้น

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้นจากการคาดการณ์ของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนธันวาคม 2565 ที่ประชุม กกร. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3-3.5% ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าประเทศคู่เทียบในภูมิภาคอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่การส่งออกประเมินว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 1-2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7-3.2%

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังขยายตัวสอดคล้องกับกรอบการประมาณการที่เคยคาดไว้ จากอานิสงส์ของการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรก และตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศ

 

ที่มา: รอยเตอร์,  VOA, กกร.

ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC
ติดต่อโฆษณา!