“อ็อกซ์แฟม” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลก ตีแผ่คนรวย 1% ของโลกถือครอง 2 ใน 3 ความมั่งคั่งโลก แนะรัฐเก็บภาษีเพิ่ม 5% ช่วยคนยากจนทั่วโลก
Highlight
Oxfam International องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อดัง เปิดเผยบทวิจัย 1% ของบรรดามหาเศรษฐีและอภิมหาเศรษฐี ถือครองทรัพย์สินมากถึง 2 ใน 3 บนโลกใบนี้ และความร่ำรวยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตโควิดและสงคราม ถึง 42 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่มนุษย์เงินเดือน คนยากจนเพิ่มขึ้นทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้น รวมทั้งวิกฤตโควิด-19 องค์กรอ็อกซ์แฟมมักจะออกมาเรียกร้อง ประเด็นความเท่าเทียมให้แต่ละประเทศเก็บภาษีคนร่ำรวยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีการประชุม World Economic Forum ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
- องค์กรอ็อกซ์แฟม (Oxfam) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อบรรเทาความยากจนทั่วโลก ชี้ผลการศึกษาล่าสุดในหัวข้อ “Survival of the Richest” ภาวะความร่ำรวยสุดโต่งและความยากจนสุดขีดทั่วโลกเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กันเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ระบุมหาเศรษฐีและอภิมหาเศรษฐีทั่วโลกนั้นกำลังรวยขึ้นเรื่อย ๆ
- Oxfam ต้องการให้ผลการศึกษาเรื่องนี้ ออกมาตรงกับช่วงที่มีการประชุมการประชุมเศรษฐกิจระดับโลก เวิล์ด อีคอโนมิก ฟอรัม 2023 (World Economic Forum – WEF) ที่เมืองดาวอส ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งกำลังดำเนินการประชุมกันอยู่ในสัปดาห์นี้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มคน 1% ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
- นาบิล อาห์เหม็ด ผู้อำนวยการฝ่ายความยุติธรรมทางเศรษฐกิจของอ็อกซ์แฟมกล่าวว่า ขณะที่ ภาพของผู้มีอันจะกินจำนวนหลายร้อยคน พร้อมกับรัฐมนตรีและผู้ว่าการธนาคารกลางหลายสิบคนเดินทางมาร่วมงาน WEF นี้แสดงให้เห็นว่า “เทศกาลของความร่ำรวย” ได้เวียนมาถึงอีกครั้ง ทางองค์กรต้องการจะนำเสนอการค้นพบครั้งใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ร่ำรวยมากที่สุดเพียง 1% ของโลกคือผู้ถือครองความมั่งคั่งเกือบ 2 ใน 3 ของความมั่งคั่งที่กำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020”
- อ็อกซ์แฟม เปิดเผยว่า มูลค่าของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงไม่ถึง 3 ปีนี้อยู่ที่ประมาณกว่า 42 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 เท่าของรายได้ที่ประชากรโลกอีก 99% จะหาได้
- รายงานดังกล่าวระบุว่าที่มาของความมั่งคั่งดังกล่าวนั้น ส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาล ซึ่งก็คือ เงินงบประมาณฉุกเฉินที่ทางการประเทศต่าง ๆ อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกในช่วงที่การระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสบีบให้ประเทศทั้งหลายต้องดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ปิดประเทศ
- นอกจากนี้แรงงานอย่างน้อย 1,700 ล้านคนนั้นใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าค่าแรง ซึ่งหมายความว่า คนเหล่านั้นยิ่งจนลงไปอีก ขณะที่ ความร่ำรวยของบรรดามหาเศรษฐีและอภิมหาเศรษฐีนั้นกลับพุ่งขึ้น ตามราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นเพราะอัตราเงินเฟ้อ
- องค์กรแห่งนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ขยายกรอบการดำเนินการเก็บภาษีเพิ่มสำหรับบริษัทพลังงาน ไปยังบริษัทอาหารต่าง ๆ ที่ทำกำไรได้มหาศาล และให้มีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีกถึง 5% จากมหาเศรษฐีและอภิมหาเศรษฐีทั่วโลกด้วย
- จากข้อมูลในรายงาน ในระหว่างปี 2020-2021 ที่โลกกำลังต่อสู้ และเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด มหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดของโลก 1% มีทรัพย์สินรวมขึ้นถึง 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (854 ล้านล้านบาท) หรือเฉลี่ยราว 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ราว 8.9 หมื่นล้านบาท) ซึ่งมากเป็นเกือบ 2 เท่าของคนอีก 99% ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันเพียง 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจัยที่ทำให้มหาเศรษฐีเหล่านี้ร่ำรวยขึ้นอย่างมากในระหว่างปี 2020-2021 คือ
1. การที่รัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ทำให้หุ้นของบริษัทใหญ่ต่างๆ รวมไปถึงสินทรัพย์อื่นๆ มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งเงินปันผล หรือผลตอบแทนส่วนมากก็ตกอยู่กับนักลงทุนรายใหญ่ที่ร่ำรวยอยู่แล้ว
2. ภาวะเงินเฟ้อและวิกฤติพลังงานที่ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพุ่งสูงขึ้น ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและพลังงานมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าทั่วโลกในปี 2022 ซึ่งเงินปันผล หรือผลตอบแทนส่วนมากจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ก็ตกอยู่กับนักลงทุนรายใหญ่ที่ร่ำรวยอยู่แล้วเช่นกัน
3. การล่มสลายขององค์กรปกป้องสิทธิแรงงาน รวมไปถึงสหภาพแรงงานต่างๆ ทำให้ลูกจ้างมีอำนาจต่อรองลดลง รายได้ไม่เพิ่มขึ้นถึงแม้ราคาสินค้าจะเพิ่ม โดยจากรายงานของ Oxfam ในขณะนี้มีคนงานกว่า 1.7 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งมากกว่าประชากรของอินเดียทั้งประเทศ มีรายได้ไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะในขณะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น รายได้พวกเขากลับไม่ขึ้นตาม
นอกจากนี้ Oxfam ยังเผยอีกว่าในระยะเวลา 2 ปีที่โลกอยู่กับโควิด อัตราผู้ที่ต้องอาศัยอยู่กับความยากจนยังเพิ่มขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นในรอบ 25 ปี หลังจากที่โลกสามารถลดจำนวนผู้ที่อาศัยอยู่ในความยากจนมาได้อย่างต่อเนื่องจากการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ
ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สะท้อนความล้มเหลวของระบบเก็บภาษี
- นอกจากสภาวะทางเศรษฐกิจแล้ว Oxfam ยังชี้อีกว่า อีกสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาลในโลกนี้ก็คือ "ระบบการเก็บภาษี" ที่เอื้อคนรวยมากกว่าคนจน
- จากข้อมูลของ Oxfam มีเพียง 1 ใน 3 ของประเทศในโลกนี้เท่านั้นที่มีภาษีมรดก และครึ่งหนึ่งของมหาเศรษฐีทั่วโลกที่ทรัพย์สินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่มีภาษีมรดก เช่น แคนาดา สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
- การหลบเลี่ยงภาษีทำให้เศรษฐีหลายคนสามารถถ่ายทอดเงินมูลค่ารวมกันถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังลูกหลานในตระกูลคนรวยได้หลายชั่วอายุคนแบบไม่ต้องเสียภาษีเลย
- นอกจากนี้ อัตราการเก็บภาษีเงินได้ยังมีแนวโน้มลดลง และมีการเก็บเป็นขั้นบันได (progressive) ลดลง โดยอัตราการเก็บภาษีประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดของแต่ละประเทศโดยเฉลี่ยลดลงจาก 58% ในปี 1980 มาเป็น 42%
- ในปี 2022 และประเทศส่วนมากยังมีการเก็บภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gains tax) ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ของคนรวย 1% น้อยกว่าภาษีเงินได้ โดยมีเพียง 3 ประเทศในโลกที่มีการเก็บภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์มากกว่าภาษีเงินได้ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีจากเหล่าคนรวยที่ทำรายได้จากการลงทุนได้มากเท่าที่ควร
Oxfam เสนอจัดเก็บภาษีอภิมหาเศรษฐี
เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ Oxfam จึงเสนอให้มีการ “Tax The Rich” หรือ การเก็บภาษีคนรวยในอัตราที่มากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้การเกิดการกระจายรายได้ โดยเสนอให้รัฐบาลทั่วโลก
1. เก็บภาษีทรัพย์สินของคนรวยครั้งใหญ่ 1 ครั้ง ภาษีโชคลาภ โดยเฉพาะกับบริษัทน้ำมันและพลังงานที่รายได้ส่วนมากได้มาจากสถานการณ์ภายนอกที่ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ไม่ใช่การทำธุรกิจของตัวเอง รวมไปถึงภาษีจากเงินปันผลจากหุ้น
2. เพิ่มอัตราการเก็บภาษีของคนรวย 1% อย่างถาวร โดยเก็บให้ได้ 60% ของทั้งเงินได้ และเงินกำไรที่ได้มาจากการซื้อขายหุ้นหรือหลักทรัพย์
3.ใช้เงินภาษีที่ได้มาจากคนรวยมาใช้จ่ายในโครงการที่ลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนมาก เช่น ระบบสาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมไปถึงโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยในผู้ยากจนในประเทศต่างๆ ไม่ต้องรับผลกระทบหนักจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวน
โดยจากข้อมูลของ Oxfam ถ้าหากรัฐบาลทั่วโลกเก็บภาษีเพียง 5% กับ เศรษฐีทั่วโลกที่มีเงินหลายล้านไปจนถึงหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลจะระดมเงินภาษีได้ถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งสามารถช่วยให้คนถึง 2 พันล้านคนทั่วโลกพ้นจากความยากจนได้
ที่มา : Oxfam International, CNN, VOA , บางส่วนจากเอพี
ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ
🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC