01 กุมภาพันธ์ 2566
773
พันธมิตรยูเครนปฏิเสธส่งเครื่องบินรบช่วยเหลือ หวั่นสงครามบานปลาย
Highlight
สื่อต่างประเทศรายงาน ประเทศพันธมิตรยูเครน นำโดยสหรัฐฯ อังกฤษ พากันปฏิเสธการจัดส่งเครื่องบินรบประสิทธิภาพสูง อย่างเช่น F16 ตามการร้องขอของยูเครน แม้ว่าจะถูกโจมตีอย่างหนักจากรัสเซียในขณะนี้ เพราะห่วงสถานการณ์บานปลาย ด้านเลขาธิการนาโต เดินทางพบปะผู้นำญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ทำจีนกังวล กล่าวหาสหรัฐฯ พยายามจัดตั้งพันธมิตรคล้ายนาโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
- ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนร้องขอประเทศพันธมิตรเพื่อจัดส่งอาวุธประสิทธิภาพสูง เช่นเครื่องบินรบต่างๆสนับสนุนการสู้รบกับรัสเซีย แต่จนถึงตอนนี้ เหล่าพันธมิตรรายใหญ่ที่สุดของยูเครนต่างปฏิเสธที่จะจัดหาเครื่องบินรบให้แก่ยูเครน ก่อนที่การสู้รบจะลุกลามบานปลาย จากการรายงานของ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ระบุเมื่อวันจันทร์ (30 ม.ค.) ว่า สหรัฐจะไม่จัดหาเครื่องบิน F-16 ให้แก่ยูเครน ขณะที่อังกฤษและเยอรมนีก็ปฏิเสธที่ส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครนด้วยเช่นกัน
- อังกฤษระบุว่า การส่งเครื่องบินรบไปยังยูเครนนั้นไม่สามารถทำได้ แม้ว่านายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษจะกล่าวกับคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) ว่า อังกฤษกำลังเร่งให้การสนับสนุนยูเครนมากขึ้นก็ตาม
- นายแม็กซ์ เบลน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวกับนักข่าวเมื่อวานนี้ว่า “เครื่องบินรบของอังกฤษนั้นเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีความสลับซับซ้อน ดังนั้นเราจึงคิดว่า การจัดส่งเครื่องบินรบไปให้ยูเครนนั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ”
- อังกฤษให้เหตุผลเกี่ยวกับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการเรียนรู้วิธีใช้งานยุทโธปกรณ์ที่มีความ “สลับซับซ้อนอย่างมาก”
- ด้านเบลเยียม ระบุว่า ไม่มีแผนจะส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครน
- นายอันดริจ เมลนีค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูเครน ระบุผ่านทวิตเตอร์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ยูเครนจะได้รับชัยชนะโดยปราศจากกองกำลังทางอากาศสมัยใหม่ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเรียกร้องขอเครื่องบินรบจากชาติตะวันตก เช่น F-16 และ F35 รวมถึงยูโรไฟเตอร์ (Eurofighter) และ ทอร์นาโด (Tornado)”
- แม้ยูเครนจะประสบความสำเร็จในการป้องกันการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย แต่ยูเครนก็ยังจะได้รับประโยชน์จากการมีระบบป้องกันภัยทางอากาศเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันการระดมยิงอย่างรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอีก ขณะที่เครื่องบิน F-16 อาจมีศักยภาพที่จะยิงสกัดขีปนาวุธร่อนแบบเดียวกับที่รัสเซียยิงใส่โครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยูเครน โอเลกซี เรซนิคอฟ ยังคงเดินทางเยือนกรุงปารีสในวันอังคารเพื่อหารือกับผู้นำฝรั่งเศส โดยมีจุดประสงค์เพื่อขอให้ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินรบไอพ่นไปช่วยยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย
- ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาคร็อง ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ เมื่อถูกถามว่าจะส่งเครื่องบินรบให้ยูเครนหรือไม่ โดยระบุว่า "ไม่มีทางเลือกไหนที่ถูกตัดออกไป" แต่ชี้ว่า ยังมีขั้นตอนและเงื่อนไขมากมายที่จะทำเช่นนั้นได้ รวมถึงเงื่อนไขที่ว่ายุทโธปกรณ์เหล่านั้นต้องไม่รุกล้ำเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย ต้องไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดยิ่งกว่าเดิม และต้อง "ไม่ทำให้กองทัพฝรั่งเศสอ่อนแอลง"
- รัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศสเปิดเผยในวันอังคารว่า ฝรั่งเศสตกลงส่งปืนใหญ่ฮาววิตเซอร์แบบติดตั้งบนรถบรรทุกจำนวน 12 กระบอก เพิ่มเติมจาก 18 กระบอกที่ส่งไปแล้ว รวมทั้งส่งระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศชุดใหม่ให้แก่ยูเครน
- รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย ริชาร์ด มาร์เลส และรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย เพนนี หว่อง อยู่ระหว่างเดินทางเยือนยุโรปเพื่อหารือกับชาติพันธมิตร โดยรัฐมนตรีมาร์เลสกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงปารีสระหว่างร่วมหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศส เซบาสเตียน เลอคอร์นู เมื่อวันจันทร์ว่า ออสเตรเลียและฝรั่งเศสขอยืนหยัดเคียงข้างยูเครน
- เจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสและออสเตรเลีย ระบุว่า บริษัท เนกซ์เตอร์ (Nexter) ของฝรั่งเศส จะร่วมผลิตกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มิลลิเมตร จำนวนหลายพันลูก ขณะที่ ออสเตรเลียจะผลิตดินปืนสำหรับใช้ในกระสุนเหล่านั้น โดยคาดว่า กระสุนชุดแรกจะไปถึงยูเครนในช่วงสิ้นเดือนเมษายน
- ออสเตรเลีย ในขณะนี้คือประเทศนอกองค์การนาโต้ที่ส่งอาวุธให้แก่ยูเครนมากที่สุด ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธและยานพาหนะหุ้มเกราะ บุชมาสเตอร์ (Bushmaster) และยังส่งทหารไปประจำการที่อังกฤษเพื่อช่วยฝึกฝนทหารยูเครน
- นอกจากนี้ รัฐบาลออสเตรเลีย ยังใช้มาตรการลงโทษรัสเซียอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยใช้กับรัฐบาลต่างชาติอีกด้วย
- สื่อต่างประเทศรายงาน จีนวิตกกังวล หลังเลขาธิการนาโตเดินทางเยือนญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ทำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตื่นตระหนก!
- นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เข้าพบนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในระหว่างการเดินทางเยือนเอเชีย ส่งผลให้จีนเกิดความคลางแคลงใจเกี่ยวกับความพยายามของนาโตในการสร้างความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
- สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเดินทางเยือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่นของนายสโตลเทนเบิร์ก มีขึ้นหลังจากผู้นำญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา โดยนายสโตลเทนเบิร์กได้เดินทางเยือนฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งและจะขึ้นกล่าวปราศัยร่วมกับนายกฯคิชิดะ เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.)
- นับตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย รุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปีที่ผ่านมา จีนได้ตำหนิที่นาโตทำให้รัสเซียเป็นปฏิปักษ์ และกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าพยายามจัดตั้งพันธมิตรที่คล้ายกับนาโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
- ก่อนหน้านี้ในระหว่างเดินทางเยือนเกาหลีใต้ นายสโตลเทนเบิร์กได้กล่าวปราศรัยที่สถาบันการศึกษาระดับสูงเชย์ (Chey Institute for Advanced Studies) ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปมีความสำคัญต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และสิ่งที่เกิดขึ้นในเอเชียมีความสำคัญต่อนาโตเช่นกัน” พร้อมเน้นย้ำว่า การเพิ่มความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะจะช่วยผลักดันให้รัสเซียเข้าสู่โต๊ะเจรจาได้
- นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันจันทร์ (30 ม.ค.) ว่า “นาโตได้ล้ำเส้นขอบเขตการป้องกันตนเองดั้งเดิมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังกระชับความสัมพันธ์ทางทหารและความมั่นคงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” พร้อมเสริมว่า “ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคต้องคอยเฝ้าระวังอย่างสูง”
ที่มา : VOA Bloomberg
ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ
🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC