02 กุมภาพันธ์ 2566
834

ปีทองของอาเซียน เศรษฐกิจโต 4.7% เหนือค่าเฉลี่ยโลกในปี 66

ปีทองของอาเซียน เศรษฐกิจโต 4.7% เหนือค่าเฉลี่ยโลกในปี 66
Highlight

ธนาคารโลกหั่นแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2566 ลงเหลือ 1.7% จากความกดดันหลายด้าน ในขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชียคาดว่าเศรษฐกิจ 6 ประเทศอาเซียน ยังเติบโตอยู่ที่ 4.7% ในปีนี้ อาเซียนเจิดจรัสท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้กลับมา หลังจากโควิดคลี่คลาย และกลายเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนทางตรง รองรับการย้ายฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมจากจีนเพื่อหลบเลี่ยงปัญหาทางรัฐศาสตร์และนโยบายกีดกันทางการค้าต่างๆ

  • อาเซียน เป็นหนึ่งในเขตที่เติบโตอย่างรวดเร็วของโลกในปี 2565 โดยเบื้องต้นธนาคารพัฒนาเอเชียคาดการณ์ไว้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะอยู่ที่ 5.5% ในปี 2565

  • ขณะนี้เราก้าวสู่ปี 2566 ที่เต็มไปด้วยความกดดันทางเศรษฐกิจต่างๆ แล้ว ซึ่งความกดดันบางเรื่องเป็นตัวฉุดความเติบโตของโลก ด้วยเหตุนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชียจึงได้ทบทวนการคาดการณ์ลดลงมาอยู่ที่ 4.7% สำหรับอาเซียน เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกลดลง

  • สำหรับนักวิเคราะห์จากเครดิต สวิส คาดว่าการเติบโตของ 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จะอยู่ที่ 4.4% ในปี 2566 จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.6% ในปี 2565

  • เมื่อมองดูตัวเลขเหล่านี้แล้วจะเห็นได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนยังคงเหนือกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ไว้ว่า การเติบโตของโลกจะเติบโตที่ 3.2% ในปี 2565 และล่าสุดได้ปรับประมาณการณ์ใหม่เป็น 2.9% ในปี 2566 จากเดิม 2.7% เนื่องจากเงินเฟ้อลดลง จีนเปิดประเทศเร็วขึ้น และยุโรปไม่ได้เจอภัยหนาวมากอย่างที่คาดไว้

  • ในขณะที่ธนาคารโลกหั่นแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2566 เป็น 1.7% จากที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ไว้ที่ 3% ดังนั้น “อาเซียน” ยังเติบโตสูงกว่ามากและยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดใจสำหรับการลงทุนต่างประเทศ เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้สัมผัสกับหนึ่งในพื้นที่ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

  • พร้อมกันนี้บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนอาจจะได้รับประโยชน์จากสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีสิทธิพิเศษในอนาคต เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทวีความรุนแรงขึ้น และมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศต่างก็มองหาโอกาสที่จะกระชับความสัมพันธ์ภายในภูมิภาคนี้มากขึ้นด้วย

  • ในการทำมาค้าขายกับประเทศอาเซียนต่างๆ จะเน้นไปที่พันธสัญญา เช่น จีนนั้นจะค้าขายผ่านความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ส่วนสหรัฐฯ มีเพียงแค่ข้อตกลงการค้าเสรีกับบางประเทศที่ถูกเลือกจากภูมิภาคนี้เท่านั้น

  • มหาอำนาจทั้ง 2 ชาติ ไม่ได้เป็นแค่ปัจจัยเดียวที่อาจจะมีส่วนช่วยด้านความเติบโตของอาเซียนในปี 2566 ซึ่งหลายประเทศมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างประเทศขนาดใหญ่และสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับโรคระบาดที่ดีขึ้นจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ในปี 2566

  • โดย Goldman Sachs ระบุว่า ไทยและมาเลเซียอาจเติบโต 4% เนื่องจากการเดินทางและการท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาเป็นปกติ อีกทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์และไทยมีแนวโน้มจะเห็นภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดโควิด 19 ในปี 2566 ด้วย

  • ทั้งนี้ หลายประเทศในอาเซียนจะเผชิญการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แต่ Goldman Sachs มองว่า “ไทย” อาจเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ต้านเทรนด์เศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ต้นทุนการขนส่งทางเรือทั่วโลกลดลง และแรงฉุดในสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ น้อยลง

  • ขณะที่ นักวิเคราะห์ของ S&P แนะนำว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบน้อยต่อประเทศที่เน้นการเติบโตจากอุปสงค์ภายในประเทศอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศคาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 5% ในปี 2566 อย่างไรก็ดี การเติบโตที่ลดลง ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศพัฒนาแล้วจะลดกิจกรรม่ทางเศรษฐกิจในแง่อุปสงค์ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน

  • ในด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประเทศในอาเซียนเป็นแหล่งดึงดูด FDI ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยนำเสนอทางเลือกที่เย้ายวนสำหรับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการลดการค้าขายกับจีนที่เพิ่มอุปสรรคทางการค้ามากขึ้น และต้องการหาแหล่งผลิตที่ถูกกว่า

  • ปัจจุบันบรรดาบริษัทข้ามชาติมองว่า “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นทางเลือกในแง่ ‘ศูนย์กลางการผลิต’ มากขึ้น โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ค่าจ้างที่แข่งขันได้ การปรับปรุงกฎเกณฑ์การทำธุรกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และอุปสงค์ภายในประเทศที่มากขึ้น

  • ตัวอย่างประเทศที่ดึงดูด FDI ได้มาก หนึ่งในนั้น คือ อินโดนีเซีย โดย FDI ทั้งหมดในอินโดนีเซีย ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 แตะ 894 ล้านล้านรูเปียห์ หรือราว 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 75% ของ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเป้าหมายของปี 2565 และแม้ว่าจะยังไม่เปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ทางการอินโดนีเซียเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ ขณะที่ ในปี 2566 รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าหมายเพิ่มเป้าหมาย FDI สู่ 92,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • อีกประเทศที่น่าสนใจ คือ เวียดนาม ที่นำเสนอการเข้าถึงอุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ในระดับโลก การเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ และความแน่นอนได้ดีกว่าจีน โดยท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เวียดนามได้กลายเป็นผู้จำหน่ายทางเลือกของสินค้าประเภทไม้ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักของการส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไม้ เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมสิ่งทอของเวียดนามที่ได้รับความสนใจมากขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายที่กังวลเกี่ยวกับการใช้แรงงานและฝ้ายที่มีแหล่งที่มาจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

  • จีนและเศรษฐกิจของจีนนั้น นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจใน ‘อาเซียน’ โดยคาดว่าจีนจะอยู่ในสภาวะที่เฟื่องฟูหลังจากเปิดประเทศ ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารโลกคาดว่าจะเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนฟื้นตัวสู่ 4.3% ในปีนี้ จากที่คาดการณ์ไว้ 2.7% ในปี 2565

  • อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่าโดยรวมอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนอาจจะลดลงในปี 2566 ท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ ทั่วโลกที่รุนแรงขึ้น แต่อาเซียนจะยังคงเป็นจุดที่ส่องแสง ‘เจิดจรัส’ ในโลกที่กำลังมุ่งสู่สภาวะถดถอย

 

อ้างอิง  : AEC Connext  ธนาคารกรุงเทพ

ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

ติดต่อโฆษณา!