สรรพากรเตรียมต้อน แม่ค้าออนไลน์ ไลฟ์สดขายของ อินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูปเบอร์ เข้าระบบจัดเก็บภาษี!
Highlight
ถึงคิวแม่ค้าออนไลน์ การไลฟ์สดขายของ อินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูปเบอร์ต่าง ๆ ที่ต้องสะดุ้ง เมื่อสรรพากร พูดเสียงดังๆ ว่ารายได้ดีมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเหมือนอาชีพอื่น โดยจากการสำรวจและติดตามนอกระบบในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าคนกลุ่มนี้อยู่นอกระบบภาษีมากถึง 2 แสนราย โดยในปี 2566 นี้ กรมสรรพากรตั้งเป้าจัดเก็บภาษีสูงถึง 2 ล้านล้านบาท โดยใน 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 สามารถจัดเก็บเกินเป้าถึง 6 หมื่นล้านบาท
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากระบบการทำธุรกิจค้าขายที่ปรับเปลี่ยนจากการขายสินค้าหน้าร้าน ไปสู่การขายสินค้าออนไลน์ และไลฟ์สดมากขึ้นนั้น ทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันตามไปด้วย โดยกรมสรรพากร ได้ตั้งกองสำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบคนหรือธุรกิจที่อยู่นอกระบบภาษี ให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูก โดยในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ประกอบการในส่วนนี้เข้ามาสู่ระบบภาษีมากถึง 2 แสนราย
“กลุ่มธุรกิจนอกระบบที่เป็นเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจุบันก็คือแม่ค้าออนไลน์ การไลฟ์สดขายของ อินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูปเบอร์ต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้ ถือเป็นหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยทำให้รายได้ภาษีขยายตัวตามที่ควรจะเป็น” อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ
ในปีงบประมาณ 2566 กรมสรรพากร มีเป้าหมายจัดเก็บรายได้ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-ม.ค.66) สามารถจัดเก็บได้เกินกว่าเป้าหมายถึง 6 หมื่นล้านบาท สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอานิสงส์จากจีนเปิดประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการของไทยเป็นอย่างมาก จึงมั่นในว่าการจัดเก็บรายได้ ใน ปีงบประมาณ 2566 นี้ จะเป็นไปตามเป้าหมายอย่างแน่นอน ทั้งนี้ พบว่ารายได้จากภาษีที่มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน มาจาก 2 ประเภท คือ
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และ
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล จากเศรษฐกิจกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาคธุรกิจให้สามารถกลับมามีกำไรและเสียภาษีได้มากขึ้น
กรมสรรพากร ขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษี VAT ให้เข้ามาจดทะเบียนให้ถูกต้อง โดยยืนยันว่าเรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว กรมฯ พร้อมที่จะประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเสียภาษีตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ระบบ ไปจนถึงกระบวนการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ให้สามารถทำได้สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ นายลวรณ กล่าว
ไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไหร่ไม่สำคัญ แต่ถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด (กรณีลูกจ้างบริษัท หากมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาทต่อปี) ก็ต้องยื่นแบบภาษีทุกคน
2.ขายของออนไลน์ รายได้เกิน 60,000 บาทต้องยื่นภาษี
การยื่นแบบเสียภาษี กับ การเสียภาษี คนละเรื่องกัน หากคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องยื่นแบบเสียภาษีไปก่อน ส่วนจะเสียภาษีหรือไม่จะต้องดูรายได้สุทธิอีกที กรณีคนขายของออนไลน์เงินได้สุทธิเกิน 60,000 บาทต่อปีต้องยื่นแบบภาษี ซึ่งตรงนี้จะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
กรณีต้องยื่นแบบภาษี
หากเป็นบุคคลธรรมดาที่ทำอาชีพ “ขายของออนไลน์” (ไม่เปิดขายในฐานะของนิติบุคคล) ที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์ เมื่อมีได้รายเกิน 60,000 บาท (กรณีโสด) หรือมีรายได้เกิน 120,000 บาท (กรณีสมรส) จะต้องยื่นภาษีเงินได้
กรณีต้องยื่นแบบและต้องเสียภาษี
การขายของออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ยังถือว่าเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะเสียภาษีหรือไม่เสียภาษีนี้จะต้องขึ้นอยู่กับว่าเรามี "เงินได้สุทธิ" หรือ "กำไรสุทธิ" ต่อปีเท่าไร เมื่อหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนออกไปแล้ว โดยตามหลักเกณฑ์ คือ ยิ่งมีเงินได้สุทธิมากย่ิงเสียภาษีในอัตราที่มาก ตามขั้นบันได ดังนี้
- เงินได้สุทธิ 1 - 150,000 บาท/ปี ไม่ต้องเสียภาษี
- เงินได้สุทธิ 150,001 - 300,000 บาท/ปี เสียภาษี 5%
- เงินได้สุทธิ 300,001 - 500,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 10%
- เงินได้สุทธิ 500,001 - 750,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 15%
- เงินได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 20%
- เงินได้สุทธิ 1,000,001 - 2,000,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 25%
- เงินได้สุทธิ 2,000,001 - 5,000,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 30%
- เงินได้สุทธิ 5,000,001 ขึ้นไป >> เสียภาษี 35% ของรายได้
3.สรรพากรตรวจสอบรายได้ ผู้ค้าขายออนไลน์ได้เสมอ
สรรพากรไม่เพียงตามติดชีวิตในโซเชียลของผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังได้รับข้อมูลทางการเงินของผู้ค้าออนไลน์จากธนาคารด้วย เช่น หากแม่ค้าออนไลน์ A มีเงินเข้าบัญชีเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือเกิน 400 ครั้งต่อปีและได้เงินรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป สรรพากรจะทราบข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมด ดังนั้น แม้แม่ค้าออนไลน์ A จะไม่โพสต์รายได้ขึ้นบนโซเชียลมีเดีย แต่สรรพากรก็ตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่ดี
4.หากผู้ค้าออนไลน์ไม่ยื่นภาษี จะโดนติดตามภาษี 10 ปี
ถ้าผู้ค้าขายออนไลน์ไม่ยื่นแบบภาษีตามกฎหมาย สรรพากรก็มีหน้าที่ติดตามเก็บภาษีกับผู้ค้าออนไลน์ต่อไปอีก 10 ปี แต่ถ้ายื่นแบบไปแล้ว แต่ยื่นไม่ถูกต้อง อายุความจะลดเหลือแค่ 5 ปีเท่านั้น
5.หากโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง จะโดนค่าปรับ 2 เท่า
กรณีผู้ค้าขายออนไลน์ไม่ยื่นแบบภาษี โดนเรียกภาษีย้อนหลัง จะโดนเบี้ยปรับ 1-2 เท่า บวกกับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ดังนั้น จากที่ผู้ค้าออนไลน์อาจจะต้องเสียภาษีเพียง 1 ล้านบาท แต่หากรวมๆ กับค่าปรับแล้วอาจต้องจ่ายสูงถึง 3-4 ล้านบาทเลยทีเดียว
6.คนขายของออนไลน์ เลือกหักค่าใช่จ่ายได้ 2 แบบ
ผู้มีอาชีพขายของออนไลน์ สามารถยื่นแบบภาษีโดยเลือกวิธี “หักค่าใช้จ่าย” ได้ 2 แบบ คือ แบบแรกเลือกจ่ายตามจริง (ต้องมีใบเสร็จที่เป็นต้นทุน) หรือแบบที่สอง เลือกยื่นภาษีแบบจะหักเหมา 60% ก็ได้
7.แม้ไม่จดทะเบียนนิติบุคคล แต่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
ผู้ค้าขายออนไลน์ต้องเข้าใจว่า “การจดทะเบียนพาณิชย์” กับ “จดทะเบียนเป็นบริษัท” เป็นคนละเรื่องกัน โดยผู้ที่เปิดร้านขายของออนไลน์ทุกคน จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายนี้บังคับทั้งการขายของออนไลน์แบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งแบบมีหน้าร้านและไม่มีหน้าร้าน หากไม่ทำตามก็มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท และปรับไม่เกินวันละ 100 บาท จนกว่าจะไปจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
8.หากรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปี ต้องจดทะเบียน VAT ด้วย
หากขายของออนไลน์แล้วมีรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปี ผู้ค้าขายออนไลน์ต้องมีหน้าที่ไป “จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” ด้วย แม้เป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องจด ไม่จดไม่ได้ หากถึงเกณฑ์ต้องจด VAT แล้วไม่จด แปลว่าคุณไม่ได้นำส่ง VAT 7% ตามกฎหมาย ที่ต้องเก็บจากลูกค้าให้สรรพากร ผู้ค้าออนไลน์ก็ต้องมีหนี้ภาษี VAT ในส่วนนี้กับสรรพากรเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
9.หากไม่สามารถจ่ายภาษีทั้งก้อนได้ สรรพากรให้ผ่อนจ่ายได้
กรณีที่ผู้ค้าขายออนไลน์ไม่มีเงินจ่ายภาษี สรรพากรก็อนุญาตให้คุณผ่อนจ่ายได้ แต่อย่างไรก็ตาม เคยเกิดกรณีบางคนที่ไม่มีจ่ายเลย สุดท้ายโดนเรียภาษีย้อนหลังถึงขั้นฟ้องล้มละลายเลยก็มี
นอกจากนี้ มีคำแนะนำสำหรับผู้ค้าขายของออนไลน์ ในการเตรียมตัวจัดการภาษี ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 จดบันทึกรายการซื้อ-ขายสินค้า เพื่อนำมาใช้ในการทำบัญชีรายรับรายจ่ายรายวัน ทำให้ไม่ลืม ไม่สับสน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินได้ง่ายกว่าการทำย้อนหลังมากๆ
ขั้นตอนที่ 2 เก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้า ธุรกรรมทางการเงิน จะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเมื่อสรรพากรเข้ามาขอตรวจสอบอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าความถี่และจำนวนเงินโอนเข้าบัญชีเข้าเกณฑ์ภาษีอีเพย์เมนต์ ตามที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น
ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาและติดตามข่าวสารทางด้านการเงินและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีอย่างต่อเนื่อง เพราะเงื่อนไขในแต่ละปี มีอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ การอัพเดทอยู่เสมอจะช่วยให้จัดการภาษีได้ถูกต้องตามเงื่อนไข จัดการการเงินของตัวเองได้อย่างเหมาะสม และไม่มีปัญหาย้อนหลัง
อ้างอิง : Dr.Pete Peerapat, Krungsri Guru, กรมสรรพากร
ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ
🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC