11 กุมภาพันธ์ 2566
2,655

สรรพากรเตรียมต้อน แม่ค้าออนไลน์ ไลฟ์สดขายของ อินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูปเบอร์ เข้าระบบจัดเก็บภาษี!

สรรพากรเตรียมต้อน แม่ค้าออนไลน์  ไลฟ์สดขายของ อินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูปเบอร์ เข้าระบบจัดเก็บภาษี!
Highlight

ถึงคิวแม่ค้าออนไลน์ การไลฟ์สดขายของ อินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูปเบอร์ต่าง ๆ ที่ต้องสะดุ้ง เมื่อสรรพากร พูดเสียงดังๆ ว่ารายได้ดีมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเหมือนอาชีพอื่น โดยจากการสำรวจและติดตามนอกระบบในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าคนกลุ่มนี้อยู่นอกระบบภาษีมากถึง 2 แสนราย โดยในปี 2566 นี้ กรมสรรพากรตั้งเป้าจัดเก็บภาษีสูงถึง 2 ล้านล้านบาท โดยใน 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 สามารถจัดเก็บเกินเป้าถึง 6 หมื่นล้านบาท


นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากระบบการทำธุรกิจค้าขายที่ปรับเปลี่ยนจากการขายสินค้าหน้าร้าน ไปสู่การขายสินค้าออนไลน์ และไลฟ์สดมากขึ้นนั้น ทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันตามไปด้วย โดยกรมสรรพากร ได้ตั้งกองสำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบคนหรือธุรกิจที่อยู่นอกระบบภาษี ให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูก โดยในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ประกอบการในส่วนนี้เข้ามาสู่ระบบภาษีมากถึง 2 แสนราย

“กลุ่มธุรกิจนอกระบบที่เป็นเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจุบันก็คือแม่ค้าออนไลน์ การไลฟ์สดขายของ อินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูปเบอร์ต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้ ถือเป็นหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยทำให้รายได้ภาษีขยายตัวตามที่ควรจะเป็น” อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ

ในปีงบประมาณ 2566 กรมสรรพากร มีเป้าหมายจัดเก็บรายได้ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-ม.ค.66) สามารถจัดเก็บได้เกินกว่าเป้าหมายถึง 6 หมื่นล้านบาท สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอานิสงส์จากจีนเปิดประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการของไทยเป็นอย่างมาก จึงมั่นในว่าการจัดเก็บรายได้ ใน ปีงบประมาณ 2566 นี้ จะเป็นไปตามเป้าหมายอย่างแน่นอน ทั้งนี้ พบว่ารายได้จากภาษีที่มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน มาจาก 2 ประเภท คือ

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และ

  2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล จากเศรษฐกิจกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาคธุรกิจให้สามารถกลับมามีกำไรและเสียภาษีได้มากขึ้น

กรมสรรพากร ขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษี VAT ให้เข้ามาจดทะเบียนให้ถูกต้อง โดยยืนยันว่าเรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว กรมฯ พร้อมที่จะประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเสียภาษีตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ระบบ ไปจนถึงกระบวนการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ให้สามารถทำได้สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ นายลวรณ กล่าว

ข้อมูลจาก ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความที่ปรึกษากฎหมาย และนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล เจ้าของเพจ “Dr. Pete Peerapat” ได้อธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีจัดการ “ภาษี” เบื้องต้นที่ผู้มีอาชีพ “ขายของออนไลน์” ต้องรู้ เอาไว้ดังนี้

1.ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ทุกคนต้องเสียภาษี

ไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไหร่ไม่สำคัญ แต่ถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด (กรณีลูกจ้างบริษัท หากมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาทต่อปี) ก็ต้องยื่นแบบภาษีทุกคน

2.ขายของออนไลน์ รายได้เกิน 60,000 บาทต้องยื่นภาษี

การยื่นแบบเสียภาษี กับ การเสียภาษี คนละเรื่องกัน หากคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องยื่นแบบเสียภาษีไปก่อน ส่วนจะเสียภาษีหรือไม่จะต้องดูรายได้สุทธิอีกที กรณีคนขายของออนไลน์เงินได้สุทธิเกิน 60,000 บาทต่อปีต้องยื่นแบบภาษี ซึ่งตรงนี้จะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

กรณีต้องยื่นแบบภาษี 
หากเป็นบุคคลธรรมดาที่ทำอาชีพ “ขายของออนไลน์” (ไม่เปิดขายในฐานะของนิติบุคคล) ที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์ เมื่อมีได้รายเกิน 60,000 บาท (กรณีโสด) หรือมีรายได้เกิน 120,000 บาท (กรณีสมรส) จะต้องยื่นภาษีเงินได้

กรณีต้องยื่นแบบและต้องเสียภาษี
การขายของออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ยังถือว่าเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะเสียภาษีหรือไม่เสียภาษีนี้จะต้องขึ้นอยู่กับว่าเรามี "เงินได้สุทธิ" หรือ "กำไรสุทธิ" ต่อปีเท่าไร เมื่อหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนออกไปแล้ว โดยตามหลักเกณฑ์ คือ ยิ่งมีเงินได้สุทธิมากย่ิงเสียภาษีในอัตราที่มาก ตามขั้นบันได ดังนี้

  • เงินได้สุทธิ 1 - 150,000 บาท/ปี ไม่ต้องเสียภาษี
  • เงินได้สุทธิ 150,001 - 300,000 บาท/ปี เสียภาษี 5% 
  • เงินได้สุทธิ 300,001 - 500,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 10% 
  • เงินได้สุทธิ 500,001 - 750,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 15% 
  • เงินได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 20% 
  • เงินได้สุทธิ 1,000,001 - 2,000,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 25% 
  • เงินได้สุทธิ 2,000,001 - 5,000,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 30% 
  • เงินได้สุทธิ 5,000,001 ขึ้นไป >> เสียภาษี 35% ของรายได้

3.สรรพากรตรวจสอบรายได้ ผู้ค้าขายออนไลน์ได้เสมอ

สรรพากรไม่เพียงตามติดชีวิตในโซเชียลของผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังได้รับข้อมูลทางการเงินของผู้ค้าออนไลน์จากธนาคารด้วย เช่น หากแม่ค้าออนไลน์ A มีเงินเข้าบัญชีเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือเกิน 400 ครั้งต่อปีและได้เงินรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป สรรพากรจะทราบข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมด ดังนั้น แม้แม่ค้าออนไลน์ A จะไม่โพสต์รายได้ขึ้นบนโซเชียลมีเดีย แต่สรรพากรก็ตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่ดี

 4.หากผู้ค้าออนไลน์ไม่ยื่นภาษี จะโดนติดตามภาษี 10 ปี

ถ้าผู้ค้าขายออนไลน์ไม่ยื่นแบบภาษีตามกฎหมาย สรรพากรก็มีหน้าที่ติดตามเก็บภาษีกับผู้ค้าออนไลน์ต่อไปอีก 10 ปี แต่ถ้ายื่นแบบไปแล้ว แต่ยื่นไม่ถูกต้อง อายุความจะลดเหลือแค่ 5 ปีเท่านั้น 

 5.หากโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง จะโดนค่าปรับ 2 เท่า

กรณีผู้ค้าขายออนไลน์ไม่ยื่นแบบภาษี โดนเรียกภาษีย้อนหลัง จะโดนเบี้ยปรับ 1-2 เท่า บวกกับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ดังนั้น จากที่ผู้ค้าออนไลน์อาจจะต้องเสียภาษีเพียง 1 ล้านบาท แต่หากรวมๆ กับค่าปรับแล้วอาจต้องจ่ายสูงถึง 3-4 ล้านบาทเลยทีเดียว

 6.คนขายของออนไลน์ เลือกหักค่าใช่จ่ายได้ 2 แบบ

ผู้มีอาชีพขายของออนไลน์ สามารถยื่นแบบภาษีโดยเลือกวิธี “หักค่าใช้จ่าย” ได้ 2 แบบ คือ แบบแรกเลือกจ่ายตามจริง (ต้องมีใบเสร็จที่เป็นต้นทุน) หรือแบบที่สอง เลือกยื่นภาษีแบบจะหักเหมา 60% ก็ได้

 7.แม้ไม่จดทะเบียนนิติบุคคล แต่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์

ผู้ค้าขายออนไลน์ต้องเข้าใจว่า “การจดทะเบียนพาณิชย์” กับ “จดทะเบียนเป็นบริษัท” เป็นคนละเรื่องกัน โดยผู้ที่เปิดร้านขายของออนไลน์ทุกคน จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายนี้บังคับทั้งการขายของออนไลน์แบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งแบบมีหน้าร้านและไม่มีหน้าร้าน หากไม่ทำตามก็มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท และปรับไม่เกินวันละ 100 บาท จนกว่าจะไปจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย

8.หากรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปี ต้องจดทะเบียน VAT ด้วย

หากขายของออนไลน์แล้วมีรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปี ผู้ค้าขายออนไลน์ต้องมีหน้าที่ไป “จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” ด้วย แม้เป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องจด ไม่จดไม่ได้ หากถึงเกณฑ์ต้องจด VAT แล้วไม่จด แปลว่าคุณไม่ได้นำส่ง VAT 7% ตามกฎหมาย ที่ต้องเก็บจากลูกค้าให้สรรพากร ผู้ค้าออนไลน์ก็ต้องมีหนี้ภาษี VAT ในส่วนนี้กับสรรพากรเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

 9.หากไม่สามารถจ่ายภาษีทั้งก้อนได้ สรรพากรให้ผ่อนจ่ายได้

กรณีที่ผู้ค้าขายออนไลน์ไม่มีเงินจ่ายภาษี สรรพากรก็อนุญาตให้คุณผ่อนจ่ายได้ แต่อย่างไรก็ตาม เคยเกิดกรณีบางคนที่ไม่มีจ่ายเลย สุดท้ายโดนเรียภาษีย้อนหลังถึงขั้นฟ้องล้มละลายเลยก็มี

นอกจากนี้ มีคำแนะนำสำหรับผู้ค้าขายของออนไลน์ ในการเตรียมตัวจัดการภาษี ดังนี้ 

ขั้นตอนที่ 1 จดบันทึกรายการซื้อ-ขายสินค้า เพื่อนำมาใช้ในการทำบัญชีรายรับรายจ่ายรายวัน ทำให้ไม่ลืม ไม่สับสน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินได้ง่ายกว่าการทำย้อนหลังมากๆ 

ขั้นตอนที่ 2 เก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้า ธุรกรรมทางการเงิน จะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเมื่อสรรพากรเข้ามาขอตรวจสอบอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าความถี่และจำนวนเงินโอนเข้าบัญชีเข้าเกณฑ์ภาษีอีเพย์เมนต์ ตามที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น

ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาและติดตามข่าวสารทางด้านการเงินและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีอย่างต่อเนื่อง เพราะเงื่อนไขในแต่ละปี มีอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ การอัพเดทอยู่เสมอจะช่วยให้จัดการภาษีได้ถูกต้องตามเงื่อนไข จัดการการเงินของตัวเองได้อย่างเหมาะสม และไม่มีปัญหาย้อนหลัง 

 

อ้างอิง : Dr.Pete PeerapatKrungsri Guru, กรมสรรพากร



ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC
ติดต่อโฆษณา!