21 กุมภาพันธ์ 2566
1,118

สหรัฐฯ ตรวจสอบระบบ “ออโตไพลอต เทสลา” มีปัญหาหรือไม่ หลังเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต-บาดเจ็บ หลายกรณี

สหรัฐฯ ตรวจสอบระบบ “ออโตไพลอต เทสลา”  มีปัญหาหรือไม่ หลังเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต-บาดเจ็บ หลายกรณี
Highlight

สำนักงานความปลอดภัยด้านการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐ (NHTSA) ขอให้บริษัทเทสลาเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม กรณีรถเทสลาคันหนึ่งพุ่งชนรถดับเพลิงในย่านอ่าวซานฟรานซิสโก เมื่อเร็วๆนี้ ส่งผลให้คนขับรถเทสลาเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และมีผู้บาดเจ็บหลายราย ทั้งนี้ทางการสหรัฐ เข้าตรวจสอบระบบการขับขี่อัตโนมัติ หรือ ออโตไพลอต เพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงต้นตออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้าด้วย

สำนักงานความปลอดภัยด้านการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐ (NHTSA) ขอให้บริษัทเทสลาเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม กรณีเกิดอุบัติเหตุรถเทสลาคันหนึ่งพุ่งชนรถดับเพลิงในย่านอ่าวซานฟรานซิสโก ส่งผลให้คนขับรถเทสลาเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนผู้โดยสาร 1 รายและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงอีก 4 รายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

  • สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สำนักงานความปลอดภัยด้านการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐ (NHTSA) ติดต่อเทสลาหลังเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้นที่เคาน์ตีคอนทราคอสตาในระหว่างวันหยุดยาวช่วงสุดสัปดาห์เนื่องในวันประธานาธิบดี โดยหน่วยดับเพลิงประจำเคาน์ตีดังกล่าวโพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ระบุว่า มีรถเทสลาพุ่งชนรถดับเพลิงที่จอดขวางเลนขณะกำลังดำเนินการช่วยเหลืออุบัติเหตุก่อนหน้านี้

  • NHTSA ได้ใช้เวลาตลอด 18 เดือนที่ผ่านมาทำการตรวจสอบระบบช่วยขับขี่อัตโนมัติหรือออโต้ไพลอต (Autopilot) ของเทสลาว่ามีการทำงานอย่างไรในกรณีเกิดอุบัติเหตุรถชนกับรถดับเพลิงหรือรถฉุกเฉินอื่น ๆ ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคนขับรถเทสลาคันที่เกิดอุบัติเหตุในเคาน์ตีคอนทราคอสตานั้นได้ใช้ระบบออโต้ไพลอตหรือไม่

  • NHTSA เริ่มตรวจสอบปัญหาออโต้ไพลอตของเทสลาในเดือนส.ค. 2564 หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุกว่า 10 กรณีที่รถเทสลาขับชนรถฉุกเฉิน จากนั้นในเดือนต่อมา เทสลาพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการอัปเดตซอฟต์แวร์รถแบบ OTA เพื่อให้รถตรวจจับรถฉุกเฉินได้ดีขึ้น

  • อย่างไรก็ดี หัวหน้าที่ปรึกษาและหัวหน้าแผนกข้อบกพร่องในยานพาหนะของ NHTSA ออกแถลงการณ์ขอคำอธิบายและเหตุผลทางเทคนิคและทางกฎหมายจากเทสลาที่ทำการอัปเดตซอฟต์แวร์ดังกล่าวโดยไม่ได้ออกประกาศเรียกคืนรถ

  • ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทเทสลาประกาศเรียกคืนรถยนต์จำนวนมากถึง 362,000 คันในสหรัฐ เนื่องจากพบว่าซอฟต์แวร์ “Full Self-Driving Beta” หรือ FSD Beta อาจทำให้รถละเมิดกฎจราจรก่อนที่คนขับจะเข้าควบคุมรถได้ทัน พร้อมระบุว่าฟีเจอร์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้รถขับเองโดยอัตโนมัติ และผู้ขับขี่มีหน้าที่ที่จะต้องควบคุมรถอยู่ตลอดเวลา

 

ระบบ AutoPilot ใน Tesla คืออะไร? เรียกว่าเป็นระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติได้หรือไม่ ?

  • ในโลกของรถยนต์ที่ “ขับเคลื่อนด้วยตนเอง” มักจะมีคำพูดทางการตลาดมากมายที่สร้างความสับสนทั้งลูกค้าและสื่อมวลชน โดยเฉพาะสิ่งที่ Elon Musk ซีอีโอของ Tesla (เทสล่า) พูดหรือโพสต์ในทวิตเตอร์ รวมถึงศัพท์ต่าง ๆ ที่เขาสร้างขึ้นสำหรับค่ายรถของเขา

  • ระบบ AutoPilot ของ Tesla เป็นเพียงศัพท์ทางการตลาดที่เป็นเพียงระบบช่วยเหลือการขับขี่เท่านั้น โดยไม่ใช่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติใด ๆ แม้ชื่อของมันอาจจะทำให้เราเข้าใจผิดก็ตาม

  • ซึ่งจะแตกต่างระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของ Tesla จะใช้ชื่อว่า Full Self Driving (FSD) ซึ่งชื่อนี้ก็ชวนให้เข้าใจผิดได้เช่นเดียวกัน เรามาดูกันว่าระบบ AutoPilot คืออะไร แล้วสามารถช่วยอะไรเราได้หรือไม่ได้บ้าง ?

  • ส่วนระบบ AutoPilot เป็นศัพท์ทางการตลาดของ Tesla สำหรับระบบ ADAS ซึ่งรวมถึงระบบ adaptive cruise control ที่เมื่อทำงานจะสามารถปรับความเร็ว ระยะห่างให้เข้ากับการจราจรในตอนนั้น รวมถึงการจำกัดความเร็วและทางที่ได้ระบุไว้ในแผนที่

  • มีระบบบังคับพวงมาลัยช่วยให้อยู่กลางเลนที่ Tesla เรียกว่า Autosteer ซึ่งจะช่วยให้รถยังสามารถอยู่ในเลนทั้งในขณะที่ถนนเป็นทางโค้งหรือพื้นผิวไม่เสมอกัน ในแบรนด์อื่น ๆ ก็มีระบบนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

  • ระบบ ADAS จะต้องมีบางสิ่งที่ผู้ขับขี่ต้องควบคุมรถไปถึงสถานการณ์หนึ่งจึงจะสามารถเปิดระบบได้ เช่น ในระบบ adaptive cruise control และระบบช่วยบังคับพวงมาลัยให้อยู่กลางเลน ตัวเซนเซอร์ของรถต้องมีอย่างน้อยสองตัวที่จับเส้นถนนทั้งสองด้านได้เพื่อสามารถช่วยรถให้อยู่กลางเลนได้

  • ส่วนระบบ adaptive cruise control จะใช้กล้องรอบคัน (หรือเรดาร์รอบคัน) เพื่อจับตำแหน่งและความเร็วของคันหน้าเพื่อรักษาระยะห่างและความเร็วให้คงที่

  • ระบบ “ขับเคลื่อนอัตโนมัติ” คืออะไร แล้วเหตุใด AutoPilot จึงไม่ใช่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ?

  • ในปัจจุบัน ยังไม่มีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ถูกกฎหมายบนถนนในขณะนี้ (แท็กซี่ไร้คนขับกำลังทดลอง) ดังนั้น เมื่อแฟน ๆ ของ Tesla ที่เชื่อว่ารถของตนมีระบบ “ขับเคลื่อนอัตโนมัติ” หรือเป็น “รถยนต์ไร้คนขับ” นั้นไม่เป็นความจริง เป็นสิ่งที่ Elon Musk หรือแผนกการตลาดของเขาพูดเท่านั้น

  • นั่นเป็นเพราะระบบการขับขี่อัตโนมัติถูกควบคุมอย่างเข้มงวดและกำหนดไว้อย่างชัดเจนโดยหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก โดยมีการนิยามคำว่า “รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ” ไว้อย่างชัดเจน

  • มีหน่วยงานจากรัฐบาล 2 แห่งที่คอยดูแลเกี่ยวกับระบบนี้ในสหรัฐฯ ได้แก่ องค์กรบริหารความปลอดภัยการขนส่งบนทางหลวงแห่งชาติ (NHTSA) และสมาคมวิศวกรยานยนต์ (SAE) จากคำนิยามของหน่วยงานทั้งสองแห่งนี้ จะมีระบบช่วยเหลือการขับขี่ทั้งหมด 6 ระดับ ตั้งแต่ 0 ไปจนถึง 5 

  • เมื่ออยู่ในระดับที่สูงขึ้น มนุษย์จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับขี่ลดลง เพราะระบบจะช่วยเราได้มากขึ้น และเมื่อไปถึงระดับที่ 5 ระบบก็จะช่วยเหลือผู้ขับขี่โดยสมบูรณ์ โดยแต่ละระดับจะช่วยเหลือเราได้ดังนี้

ระดับ 0 จะไม่มีการช่วยเหลือใด ๆ จากระบบ การควบคุมรถเป็นของผู้ขับขี่ 100%

ระดับ 1 จะได้รับระบบช่วยเหลือแบบเบื้องต้น และใช้ได้ทีละระบบ เช่น ระบบ cruise control แบบธรรมดา หรือระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน โดยระบบช่วยเหลือในระดับี้มีมาตั้งแต่ปี 1968 จากแบรนด์ Chrysler

ระดับ 2 ในระดับนี้ เราจะสามารถใช้ระบบช่วยเหลือได้มากกว่า 1 ระบบพร้อมกัน เช่น ระบบ adaptive cruise control ที่นอกจากจะตั้งความเร็วได้แล้ว ยังสามารถทำให้รถช้าลงตามรถคันหน้า หรือเร่งไปยังความเร็วที่ตั้งไว้เมื่อทางสะดวกแล้ว และระบบดังกล่าวยังทำงานร่วมกับระบบช่วยรักษาช่องทางเดินรถและระบบช่วยบังคับพวงมาลัยให้อยู่กลางเลน (แต่ผู้ขับขี่ยังต้องคอยควบคุมพวงมาลัยอยู่)

แม้ว่าระบบ AutoPilot จะเป็นระบบ adaptive cruise control ที่ดูล้ำสมัย แต่ระบบดังกล่าว Tesla เองก็ยอมรับว่าอยู่ในระดับ 2 เท่านั้น ระบบ AutoPilot ได้รับความสนใจอย่างมากจาก NHTSA, คณะกรรมการการค้าของสหรัฐ (FTC) ไปจนถึงนักการเมือง เนื่องด้วยอุบัติเหตุที่ถึงแก่ชีวิตจากคำพูดของมัสก์ที่ชวนเข้าใจผิดในระบบนี้ นอกจากนี้ระบบ GM Super Cruise และ Ford BlueCruise ก็อยู่ในระดับนี้เช่นเดียวกัน

ระดับ 3 เป็นระดับที่ระบบจะช่วยเหลือเราตามเงื่อนไขเฉพาะ รถจึงจะสามารถขับเองได้โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องควบคุม แต่ผู้ขับขี่ต้องพร้อมที่จะกลับมาควบคุมรถได้ตลอดเวลาที่รถต้องการ ใน 2023 Mercedes-Benz S-Class มีระบบช่วยเหลือในระดับที่ 3 แล้วในชื่อว่า DrivePilot ซึ่งรับรองด้วยกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย

ระดับ 4 และ 5 ทั้งสองระดับนี้จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระดับของการขับขี่อัตโนมัติ ในระดับ 4 ยังคงต้องอาศัยการช่วยเหลือจากมนุษย์หากระบบต้องการ

ระดับ 5 จะไม่ต้องมีการช่วยเหลือจากมนุษย์เลย ในตอนนี้ยังไม่มีรถที่ใกล้เคียงที่ระดับ 4 และ 5 บนถนนอย่างแน่นอน

 

AutoPilot อยู่ในระดับไหน?

ปัจจุบัน ระบบ AutoPilot ของ Tesla จะมีอยู่ 2 ระดับ ได้แก่ Basic AutoPilot และ Full Self-Driving (FSD)

  • ในระบบ Basic AutoPilot จะเป็นพื้นฐานใน Tesla ทุกคัน โดยจะมีระบบ ADAS เช่น adaptive cruise control, ระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลน และระบบเบรคอัตโนมัติ

สำหรับลูกค้าที่ต้องการอัพเกรดให้เป็น Full Self-Driving จะต้องจ่ายเพิ่มกว่า 4 แสนบาท ในแพ็คเกจนี้ ลูกค้าจะสามารถเข้าถึงระบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ‘summon’ ที่สามารถเรียกรถของเราจากที่จอดให้มาหาเราได้ รวมถึงระบบตรวจจับป้ายหยุดและระบบเปลี่ยนเลนอัตโนมัติ

  • Tesla ยังเคยมีฟังก์ชั่น Assertive mode สำหรับระบบ FSD ซึ่งเป็นเหมือนโหมดการขับขี่ที่ “เกี้ยวกราด” มากขึ้น ซึ่งจะไม่หยุดที่ป้ายหยุด ลดระยะห่างระหว่างคันหน้า และอาจเลี้ยวขวา (พวงมาลัยขวา) โดยไม่มีเหตุผล ทำให้ Tesla อาจจำเป็นต้องลบฟังก์ชั่นนี้ออกไปเพราะมีพฤติกรรมเสี่ยง (และผิดกฎหมาย)

 

ระบบ AutoPilot คือระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติหรือไม่ ?

  • ระบบ AutoPilot ของ Tesla คือระบบช่วยเหลือการขับขี่ระดับ 2 เท่านั้น

จนถึงระบบ Full Self-Driving ก็ยังไม่ใช่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ เพราะยังต้องอาศัยการควบคุมจากมนุษย์อยู่ โดยเราไม่สามารถลุกออกจากที่นั่งคนขับ หรือละสายตาจากถนนขณะที่เราเปิดระบบได้เลย

  • แม้ AutoPilot จะเป็นเครื่องมือซึ่งช่วยให้การขับขี่ของเราง่ายขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติอยู่ดี

 

 

ที่มา : autofun.co.th

ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

ติดต่อโฆษณา!