ทำความเข้าใจธุรกิจ KERRY ก่อนลงทุนหุ้น KEX
Highlight
"เคอรี่ เอ็กซ์เพรส" ในชื่อย่อ KEX ที่เราคุ้นเคย กำลังเข้าเทรดวันนี้ (24 ธ.ค.63) วันแรก
หุ้นธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนตัวแรกใน SET
เคาะราคาขายหุ้นไอพีโอที่ 28 บาท จำนวน 300 ล้านหุ้น อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ที่ 33 เท่า
[ใกล้เคียงกับธุรกิจขนส่งพัสดุในระดับภูมิภาคที่มีค่า P/E ที่ 20-30 เท่า]
“KERRY ชอบทำอะไรเป็น “เจ้าเเรก” อย่างการเป็นผู้บุกเบิกการจัดส่งแบบ Next Day ในไทย
เป็นเจ้าแรกที่ให้บริการรับชำระเงินปลายทาง และตอนนี้กำลังเป็น “เจ้าแรก” ของบริษัทส่งพัสดุด่วนของไทย
ที่จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ” จากมุมมองของ อเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ที่วันนี้พร้อมสร้างสตอรี่ใหม่นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
ทันข่าว ขอสรุปเรื่องราวที่น่าสนใจของ #KERRY เผื่อใครที่คิดนะขยับฐานะจากลูกค้า เป็น เจ้าของ (นักลงทุน) กับเค้าบ้าง
KERRY เติบโตก้าวกระโดด จาก 10,000 ชิ้น/วัน มาเป็น 1.1-1.2 ล้านชิ้น
จากปี 2556 มียอดการจัดส่งพัสดุเพียง 10,000 ชิ้น/วัน มาเป็น 800,000 ชิ้น/วัน ในปี 2561 และล่าสุดในปี 2562
บริษัทได้ทำลายสถิติด้วยยอดจัดส่งถึง 2,000,000 ชิ้น/วัน โดยเฉลี่ยปัจจุบันยอดจัดส่งต่อวันไม่ต่ำกว่า 1.1-1.2 ล้านชิ้น
จากแรงหนุนทั้งของอีคอมเมิร์ช และยุค New Normal ที่ผู้บริโภคนิยมสั่งของออนไลน์เพิ่มขึ้น
ธุรกิจส่งพัสดุรายแรกจดทะเบียนตลาดหุ้น
เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549
โดยบริษัทแม่เป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์จากฮ่องกง
มีชื่อว่า Kerry Logistics Network Limited หรือ KLN
ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ฮ่องกง
เคอรี่เอ็กซ์เพรส จากวันนั้นถึงวันนี้ เคอรี่กลายเป็นยักษ์ใหญ่ขนส่งในประเทศไทย
เป็นรองก็แค่ไปรษณีย์ไทยเท่านั้น เพียงแต่เรื่องของความรวดเร็วในบริการต่างกันหลายขุม
จนทำให้เคอรี่ได้รับความนิยมจากคนไทยในเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็ว
เพราะสามารถตอบโจทย์เรื่องการขนส่งในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ใช้โมเดล Asset-Light ขยายธุรกิจ | มีจุดบริการรับพัสดุ 15,695 แห่ง
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เช่าศูนย์คัดแยกพัสดุจำนวน 9 แห่ง ศูนย์กระจายพัสดุจำนวน 1,858 แห่ง
และร้านรับส่งพัสดุและจุดให้บริการศูนย์กระจายพัสดุที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการเองจำนวน 1,241 แห่ง
เช่าและเช่าช่วงยานพาหนะ (สำหรับกรณีทั่วไป และสำหรับกรณีเฉพาะกิจ) จำนวน 24,335 คัน
ทั้งรถจักรยานยนต์ รถกระบะ 4 ล้อ และรถบรรทุก 6 ล้อ ในปี 2563 มีแผนลงทุน 450 ล้านบาท
และปี 2564 ประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อการเพิ่มจำนวนร้านรับส่งพัสดุและศูนย์กระจายพัสดุ
Covid จุดกระแสการเติบโต ปี 62 รายได้ 1.9 หมื่นล้าน กำไร 1,300 ล้านบาท
▪️ ปี 2560 รายได้ 6,626 ล้านบาท กำไรสุทธิ 730 ล้านบาท
▪️ ปี 2561 รายได้ 13,565 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,185 ล้านบาท
▪️ ปี 2562 รายได้ 19,781 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,328 ล้านบาท
▪️ ปี 2563 (6 เดือน) รายได้ 10,200 ล้านบาท กำไรสุทธิ 737 ล้านบาท
VGI ในเครือ BTS ถือหุ้นเคอรี่ อันดับสอง 23%
โครงสร้างผู้ถือหุ้น Kerry Express (ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2563) 3 อันดับแรก ดังนี้
1. บริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 907 ล้านหุ้น สัดส่วน 63%
หลังการขายหุ้น IPO จะเหลือสัดส่วนถือหุ้น 52.1% และหลังการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิจะเหลือถือหุ้น 51%
2. บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ในเครือ BTS ถือหุ้น 331 ล้านหุ้น สัดส่วน 23%
หลังการขายหุ้น IPO จะเหลือสัดส่วนถือหุ้น 19% และหลังการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิจะเหลือถือหุ้น 18.6%
3. คุณหม่า วิง ไค วิลเลี่ยม ถือหุ้น 24.65 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.7% หลังการขายหุ้น IPO จะเหลือสัดส่วนถือหุ้น 1.4%
และหลังการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิจะเหลือถือหุ้น 1.4%
KEX คาดว่าหลัง IPO ในตลาดหุ้น จะระดมทุนได้ราว 8,400 ล้านบาท โดยจะนำเงินไปใช้ขยายธุรกิจ
ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ชำระคืนเงินกู้ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ผู้บริหารเคอรี่ เน้นย้ำว่า จะยังคงใช้เเนวคิด “Kerry Express Everywhere” เพื่อเเข่งขันในตลาด
ซึ่งจะมีการปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคให้มากขึ้น เพิ่มช่องทางการชำระเงิน ลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล
อย่างการพัฒนาระบบจัดเก็บเเละกู้คืนข้อมูลในกรณีฉุกเฉิน การวิเคราะห์ข้อมูล เเละหาพันธมิตรใหม่ๆ
รวมไปถึงการพิจารณา “ควบรวมกิจการ” ในธุรกิจที่น่าสนใจเเละนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้
การก้าวเข้าสู่ปีที่ 15 ของ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย หลังระดมทุน 8.6 พันล้านนั้น
ต้องจับตาความเคลื่อนไหวกันต่อไป ว่าจะเดินได้ตามเกมส์ธุรกิจที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้สำเร็จหรือไม่