ซิตี้กรุ๊ปเตือนวิกฤตเครดิตสวิสกระทบแบงก์เอเชียระดมทุนผ่าน AT1 ยากลำบากขึ้น ขณะที่แอปบนมือถือเร่ง Bank Run
Highlightยังคงเป็นประเด็นถกเถียงและช็อคผู้ลงทุนในตราสารทางการเงิน ที่ออกโดยธนาคารเครดิตสวิสที่เรียกว่า AT1 เพราะหลังจากการเข้าซื้อของ UBS ตราสารดังกล่าวถูกตีมูลค่าเหลือศูนย์ จากมูลค่า 1.735 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นข้อตกลงที่ทำให้ UBS เข้าซื้อ ทำให้นักลงทุนที่ถือตราสารในสถาบันการเงินอื่นๆ ต่างๆวิตกกันถ้วนหน้า และจะทำให้รายใหม่ที่จะออกตราสารประเภทนี้ทำได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องสิทธิ์ในการได้รับเงินคืนนั้นจะระบุไว้ในหนังสือขี้ชวนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ซิตี้กรุ๊ป ระบุอีกว่า แอปธนาคารบนมือถือ เป็นตัวเร่งการถอนเงินในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา
ซิตี้กรุ๊ปเปิดเผยรายงานในวันนี้ (22 มี.ค.) ระบุว่า ธนาคารในภูมิภาคเอเชียอาจจะเผชิญกับความยากลำบากในการระดมเงินทุนด้วยการออกตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือ AT1 หลังจากหน่วยงานของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้ตัดมูลค่าตราสาร AT1 ของเครดิต สวิส เหลือศูนย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการเทกโอเวอร์กิจการโดยธนาคารยูบีเอส
- สถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างความยากลำบากอย่างฉับพลันให้กับบรรดาธนาคารขนาดเล็กในเอเชียซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการระดมทุนผ่านการออก AT1 เมื่อเทียบกับธนาคารขนาดเล็กในฝั่งตะวันตกที่ไม่ได้พึ่งพาการระดมทุนด้วยวิธีดังกล่าวมากนัก ภายใต้ข้อตกลงการเทกโอเวอร์กิจการนั้น หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์กำหนดว่า ตราสาร AT1 ของเครดิต สวิสซึ่งระบุราคาหน้าตั๋วไว้ที่ 1.6 หมื่นล้านฟรังก์ (1.735 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะถูกตัดมูลค่าเหลือศูนย์ ซึ่งข้อตกลงในส่วนนี้ได้สร้างความวิตกกังวลต่อตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก และสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาผู้ถือ AT1
- โดยทั่วไปแล้ว โครงสร้างทุนของธนาคารพาณิชย์จะมีตราสาร AT1 ในอัตราส่วนสูงกว่าหุ้นสามัญ และหากธนาคารประสบปัญหา กลุ่มผู้ถือตราสารหนี้เหล่านี้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่นักลงทุนต้องการเงินคืน แต่การที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ตัดมูลค่า AT1 ของเครดิต สวิสเหลือศูนย์ จะส่งผลให้กลุ่มผู้ถือ AT1 ได้รับความเสียหายเป็นเงินสูงถึง 2.75 แสนล้านดอลลาร์
- ทั้งนี้ ซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์ว่า การล่มสลายของเครดิต สวิส จะส่งผลให้มีการปรับมูลค่าตราสารหนี้ AT1 ในโครงสร้างทุนของธนาคารพาณิชย์ทั่วภูมิภาคเอเชีย
“ธนาคารในเอเชียที่พึ่งพาตราสาร AT1 อาจจะเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการเพิ่มฐานเงินทุน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ธนาคารเหล่านี้ชะลอการขยายงบดุลบัญชี ในขณะเดียวกันสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้แนวโน้มเงินเฟ้ออ่อนตัวลงและทำให้เกิดการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย”
“หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินในเอเชียอาจจะเพิ่มความเข้มงวดของข้อกำหนดด้านเงินทุนและสภาพคล่อง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบมากขึ้นต่อธนาคารขนาดเล็ก” ซิตี้กรุ๊ป กล่าว
- อย่างไรก็ดี ซิตี้กรุ๊ปมองว่า ในระยะยาวนั้น วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับเครดิต สวิส อาจจะไม่สร้างความเสียหายต่อตลาด AT1 ในเอเชียเป็นวงกว้าง เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลในเอเชียมีการกำหนดเงื่อนไขการคุ้มครองนักลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้แบบครอบคลุม
- เมื่อวันอังคาร (21 มี.ค.) บริษัทกฎหมาย Quinn Emanuel Urquhart & Sullivan เปิดเผยว่า ทีมนักกฎหมายจากสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐ และสหราชอาณาจักร กำลังเจรจากับผู้ถือตราสาร AT1 ของเครดิต สวิส เพื่อพิจารณาการดำเนินคดี เนื่องจากมีแนวโน้มว่า พวกเขาจะไม่ได้รับสิทธิในการเรียกร้องเงินชดเชยในข้อตกลงที่ยูบีเอสเข้าซื้อกิจการของเครดิต สวิส
- ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ผู้ถือ AT1 ของเครดิต สวิส จะไม่มีสิทธิในการรับเงินชดเชย แต่ผู้ถือหุ้นสามัญกลับได้รับเงินชดเชย 3.23 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าผู้ถือหุ้นสามัญมักมีอันดับเป็นรองผู้ถือตราสารหนี้ในการได้รับเงินชดเชยในกรณีธนาคารล้มละลาย ทั้งนี้ กฎหมายสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อผูกมัดที่จะต้องยึดตามโครงสร้างลำดับชั้นเกี่ยวกับเงินทุนในกรณีที่มีการปรับโครงสร้าง ซึ่งส่งผลให้ผู้ถือ AT1 ของเครดิต สวิสไม่สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้
แอปธนาคารบนมือถือปัจจัยเร่งแบงก์รัน
- นางเจน เฟรเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารซิตี้กรุ๊ปกล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมเศรษฐกิจแห่งวอชิงตันว่า แอปพลิเคชันธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ และการที่ลูกค้าสามารถถอนเงินออกจากบัญชีได้หลายล้านดอลลาร์เพียงแค่ใช้นิ้วคลิกปุ่มบนโทรศัพท์นั้น อาจจะทำให้บรรดานายธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาการแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร (bank run)
“แอปพลิเคชันธนาคารบนโทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกม (game changer) อย่างสิ้นเชิงจากสิ่งที่เราเคยเห็นมาก่อน และยิ่งรวมกับการมีทวิตเตอร์ด้วยแล้ว ปรากฏการณ์ต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์”นางเฟรเซอร์กล่าว
- นอกจากนี้ เธอยังพูดถึงการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของรัฐบาล โดยกล่าวว่า “ดิฉันขอพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า หน่วยงานกำกับดูแลได้ทำหน้าที่ของพวกเขาอย่างดีที่สุดแล้วด้วยการตอบสนองวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะโดยปกติแล้ว พวกเขาจะใช้เวลานานกว่านี้”
- นางเฟรเซอร์กล่าวว่า การล่มสลายอย่างรวดเร็วของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ธนาคารต่าง ๆ เผชิญกับความยากลำบากในการประเมินสินทรัพย์และเตรียมความพร้อมในการประมูลสินทรัพย์ของตนเอง ส่วนกรณีที่ SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) ล้มละลายในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากลูกค้าในกลุ่มบริษัทร่วมทุน (Venture Capital) แห่ถอนเงินออกมาเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านดอลลาร์นั้น นางเฟรเซอร์เชื่อว่า ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้จะมีผู้ซื้อปรากฏตัวเพื่อเสนอซื้อกิจการของทั้งสองธนาคาร
- ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ นางเฟรเซอร์ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า ระบบธนาคารของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง แม้การล้มลงของธนาคาร SVB และ SB ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน และทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกเผชิญความปั่นป่วนอย่างหนักก็ตาม
“ระบบธนาคารของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมาก โดยแม้ว่าธนาคารชื่อดังบางแห่งถูกปิดกิจการไปเมื่อไม่นานมานี้ แต่ดิฉันมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์สินเชื่อในระบบธนาคารของสหรัฐ”นางเฟรเซอร์กล่าว
- ขณะเดียวกันนางเฟรเซอร์ยืนยันว่า ซิตี้กรุ๊ปไม่มีความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (FRB) ซึ่งเป็นธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐ แม้ว่าซิตี้กรุ๊ปเป็น 1 ในธนาคาร 11 แห่งของวอลล์สตรีทที่อัดฉีดสภาพคล่องวงเงินรวม 3 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับ FRB เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
อ้างอิง :
https://finance.yahoo.com/news/citi-fraser-warns-mobile-money-012305363.html
https://www.reuters.com/business/finance/asia-banks-may-face-difficulty-bolstering-capital-via-at1s-citi-2023-03-22/
Infoquest
ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ
🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC