21 ตุลาคม 2566
1,234
รู้จักโครงการ..อภิมหาโปรเจกต์ "แลนด์บริดจ์" มูลค่า 1 ล้านล้านบาท
โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ได้รับการสานต่อจากรัฐบาลก่อน โดย ค.ร.ม.ผ่านความเห็นชอบในหลักการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
จากนั้นกระทรวงคมนาคม เตรียมความพร้อม นำเสนอโครงการลงทุนต่อนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ในลำดับต่อไป
โครงการแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) ประมาณการวงเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,001,206.47 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 เนื้องาน ประกอบด้วย
1. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร
2. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร
3. เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองฝั่งมีระยะทางประมาณ 90 กม. ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม., ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack), ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ และพื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ
4. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ
▪️ รูปแบบการลงทุน รัฐจัดหาที่ดิน-เอกชนลงทุน PPP สัมปทาน 50 ปี
โดยมีรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมคือ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งเป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี
โดยกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และมอเตอร์เวย์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ
โดยแบ่งการลงทุนเป็นระยะ ดังนี้
• การลงทุนท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวน 6 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573
ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 12 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577 และระยะที่
ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 8 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579
• การลงทุนท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวน 4 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573
ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 4 ล้าน TEUs รวมเป็น 8 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577
ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 14 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579 และ
ระยะที่ 4 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2582
โดยวางกรอบระยะเวลาการพัฒนา 4 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 522,844.08 ล้านบาท ประกอบด้วย
• งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 118,519.50 ล้านบาท,
• งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 141,716.02 ล้านบาท,
• งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน195,504.00 ล้านบาท,
• งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 60,892.56 ล้านบาท และค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,212.00 ล้านบาท
งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 68,280.20 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 16,897.57 ล้านบาท
▪️ ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ
มูลค่าปัจจุบัน (NPV) 257,453 ล้านบาท, อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.35, อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 17.43%, ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางตรง 9.52%, อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 8.62%
มีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 และจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นจังหวัดระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง
รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี
▪️ ไทม์ไลน์โรดโชว์ปี 66 - 67 ประมูลปี 68 ก่อสร้าง 5 ปี
ตามเอกสารระบุต่อไปถึงแผนการดำเนินโครงการ หลังจาก ครม.รับทราบและให้ผลักดันโครงการแล้ว ช่วงเดือน พ.ย. 2566-ม.ค. 2567 กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) จากนั้นทั้งปี 2567 จะดำเนินการจัดทำกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)
ประมาณเดือน เม.ย. - มิ.ย. 2568 จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เมษายน-มิถุนายน 2568 ก่อนที่จะดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างเดือน ม.ค. 2568-ธ.ค. 2569 และเสนอ ครม.อนุมัติลงนามในสัญญาได้ในเดือนก.ค. - ส.ค. 2568 ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ในเดือน ก.ย. 2568-ก.ย. 2573 เปิดให้บริการในเดือน ต.ค. 2573