18 มกราคม 2567
473
โรงงานพลุหรือคลังแสง ทำไมอานุภาพทำลายล้างรุนแรง ?
เมื่อ 17 ม.ค. 67 เวลา 15.30 น.เกิดเหตุสลดครั้งใหญ่และรุนแรง เกิดเหตุโรงงานพลุระเบิด ในพื้นที่ หมู่ ที่ 3 ต.ศาลาขาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี พร้อมเกิดไฟลุกไหม้ การระเบิดเพียงพริบตาอาคารโรงงานหายไปทั้งหลัง มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ราย และได้รับบาดเจ็บหลายคน
จุดเกิดเหตุอยู่กลางทุ่งนา ไม่มีบ้านพักอาศัยอยู่ใกล้เคียง สามารถมองเห็นกลุ่มควันสีดำพุ่งขึ้นท้องฟ้าได้ในระยะไกล
จากตรวจสอบ พบว่า โรงงานดังกล่าว ได้รับอนุญาต ถูกต้อง และเป็นโรงงานเดียวกับที่เคยเกิดเหตุระเบิดมาแล้วเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 65 ครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิต 1 คน คนงานบาดเจ็บอีก 3 คน
พลุที่ผลิตในโรงงานแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นระเบิดลูกบอล และพลุประเภทอื่น โดยโรงงานผลิตพลุจะส่งไปในทั่วพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งในพื้นที่เกิดเหตุยังมีโรงงานพลุอีก 2 - 3 แห่ง ที่ชาวบ้านก็เริ่มกลัวว่าจะมีเหตุระเบิดขึ้นอีก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเกี่ยวกับเหตุการณ์โรงงานผลิตพลุในพื้นที่ ต.ศาลาขาว อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี ระเบิด
จึงขอให้ทุกจังหวัดทุกพื้นที่เพิ่มการกวดขันทั้งการออกใบอนุญาต การตรวจสอบสถานประกอบการซึ่งได้รับอนุญาตในการผลิตหรือขายพลุ ดอกไม้ไฟ ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนเนื่องจากเหตุลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นายอนุทิน ระบุ
▪️ เหตุการณ์รุนแรงในอดีต
🔸 24 ก.ค. 66 เกิดเหตุการณ์โกดังเก็บพลุและดอกไม้ไฟระเบิด ในพื้นที่บ้านสันทุ่งใหม่ ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มีบ้านกว่า 30 หลังได้รับความเสียหาย บาดเจ็บ 10 คน
ในขณะนั้นมีการหยิบยกประเด็นการจัดพื้นที่วัตถุอันตรายประเภทพลุ ดอกไม้ไฟ ว่าสมควรอยู่ใกล้กับชุมชนหรือไม่
🔸 29 ก.ค. 66 เหตุโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟระเบิด ในพื้นที่ตลาดมูโนะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส แรงระเบิดทำให้พื้นที่โดยรอบเสียหายอย่างหนัก ทั้งร้านค้า และบ้านเรือนกว่า 200 หลัง เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บอีกกว่า 100 คน
▪️ เปิดสาเหตุทำไมโรงงานพลุระเบิด จึงมีอานุภาพร้ายแรง ขอภาครัฐเข้มโกดัง - โรงงานที่จัดเก็บสารเคมี
รศ. ดร. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ส้มภาษณ์สื่อเมื่อครั้งเหตุการณ์โรงงานพลุที่จ จว.นราธิวาส ระเบิดว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่พบในหลายพื้นที่ ทั้งที่ จ.เชียงใหม่, จ.ลำพูน
สาเหตุหลัก ๆ คือตัวดินประสิว หรือ ดินปืน หรือ โพแทสเซียมไนเตรต ที่ใช้ทำตัวจุดระเบิดของพลุที่มีการสต๊อกไว้จำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีสารที่ให้สีที่นำมาผสมเพื่อทำเป็นพลุ โดยสารเคมีแต่ละชนิดจะให้สีสันต่าง ๆ กัน ซึ่งสารเหล่านี้มีความไวไฟมาก โดยเฉพาะโพแทสเซียมไนเตรต ที่ถือว่าเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ในการทำวัตถุระเบิด
สารเคมีแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างหากมีการรวมไว้จำนวนมากจึงอาจเกิดเป็นหายนะหรือโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ได้ การควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ได้รับผลกระทบต่อชุมชนวงกว่าจึงต้องรัดกุม
ซึ่งหลักการของโรงงานทำพลุดอกไม้ไฟ หรือโรงงานที่ทำสารที่มีการระเบิดได้จะต้องอยู่ห่างไกลแหล่งชุมชน
หน่วยงานภาครัฐต้องเข้ามากำชับ โรงงานทำพลุ ผลิตพลุหรือวัตถุไวไฟ ในการจัดเก็บโพแทสเซียมไนเตรตอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นมาอีก ขอให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ และบทเรียนและเป็นเหตุการณ์ครั้งสุดท้าย
ที่มา :
https://www.thaipbs.or.th/news/content/336062
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2755993
https://www.thaipbs.or.th/news/content/330150