แพทย์จุฬาฯ ลดเครียดนิสิต ปรับหลักสูตรใหม่ปี 67 ไม่ตัดเกรด A - F
คณะแพทยศาสตร์ เป็นหนึ่งในคณะที่ขึ้นชื่อว่าเรียนยากใช้เวลาเรียนนานถึง 6 ปี สร้างความเครียดให้กับนิสิต นักศึกษา
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวดี เมื่อคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแผนในการปรับปรุงหลักสูตรและการประเมินผลแบบใหม่ และเริ่มใช้ประเมินในปี 2567 โดยได้จัดการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการภายใต้แนวคิด "MDCU Change for the Better"
สำหรับหลักสูตรปรับปรุงใหม่ 2567 จะมีการปรับปรุงการประเมินผล ไม่ใช้ระบบ A - F อีกต่อไป แต่จะให้เป็น “ผ่าน/ตก” หรือ “S/U (Satisfactory/Unsatisfactory)” เพื่อลดความเครียดที่ไม่จำเป็น เช่น การแข่งขัน เป็นต้น ทำให้เรียนได้อย่างมีความสุขและพัฒนาเป็นแพทย์ในแบบของตนเองได้
โดยระบบใหม่ จะประเมินผลจาก “ความเป็นเลิศทางการศึกษา (Excellence)” 12 ประการ วัดผล 3 ด้าน คือ
1. ความเป็นเลิศด้านวิชาการ (Academic)
2. ความเป็นเลิศด้านสมรรถนะและการปฏิบัติงาน (Competency and {Performance) ได้แก่ การสัมภาษณ์ประวัติ ตรวจร่างกาย และวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วย และการทำหัตถการ เป็นต้น
3. ความเป็นเลิศด้านความเป็นวิชาชีพ (Professionalism) ได้แก่ พฤติกรรมในการเรียนการปฏิบัติงานการเรียนและการทำงานเป็นทีม และการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ
ดังนั้นเกณฑ์แบบใหม่นี้ ไม่ใช่แค่วัดความรู้ แต่ยังพัฒนาพฤติกรรมนิสิตที่เหมาะสมกับความเป็นแพทย์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางคณะฯ ยืนยันว่ายังมี “เกียรตินิยม” อยู่ โดยพิจารณาจาก
👉 ความเป็นเลิศทางการศึกษา (Excellence)
👉 ไม่เคยได้ U
👉 ไม่เคยถูกตัดคะแนนความประพฤติ
👉 ศึกษาในระยะเวลาที่กำหนด
▪️ กรณีที่นิสิตสอบได้ผลสอบ “ตก หรือ U” จะทำอย่างไร
ทางคณะจะมีการประเมินนิสิตระหว่างทางตลอดเวลาว่านิสิตเรียนตามเพื่อนทันหรือไม่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะช่วยก่อนที่จะประเมินออกมาเป็น U จะมีการสอบแก้ตัว แต่ถ้าสุดท้ายแล้วประเมินผลได้ U จริง ๆ ก็สามารถเรียนซ้ำได้
นับเป็นมิติใหม่ของการเรียนแพทย์ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ เพราะการเรียนโดยปราศจากการแข่งขัน หรือความกดดันเรื่องเกรด น่าจะช่วยให้เรียนได้อย่างเข้าใจและมีความสุข ลดความเครียดลงไปได้บ้างโดยยังรักษาคุณภาพและประสิทธิภาพในวิชาชีพแพทย์ได้อย่างเต็มที่
ที่มา : https://www.dek-d.com/tcas/63900/