08 กุมภาพันธ์ 2567
366

ป.ป.ช. แนะ 8 วิธี รัฐบาลแจกเงินดิจิทัลอย่างไร ไม่ให้ผิดกฎหมาย

ป.ป.ช. แนะ 8 วิธี รัฐบาลแจกเงินดิจิทัลอย่างไร ไม่ให้ผิดกฎหมาย


ยังคงเป็นประเด็นให้ติดตามอย่างต่อเนื่องสำหรับนโยบายรัฐบาลในการแจกเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาทให้กับประชาชน มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป เพราะเงินจำนวนมหาศาลที่นำมาแจกครั้งเดียวนี้ ย่อมส่งผลกระทบหลายด้าน หากทยอยจ่ายโดยใช้งบประมาณตามปกติจะได้หรือไม่

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามนโยบายรัฐบาล โดยมีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลรวม 8 ข้อ เพื่อให้นำไปประกอบการตัดสินใจในการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน

เลขาธิการ ป.ป.ช.ระบุว่าได้เตรียมส่งเอกสารข้อเสนอแนะหนา 61 หน้า พร้อมภาคผนวกจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปให้ทุกหน่วยงานตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 - 2 วันนี้ ซึ่งเป็นเพียงข้อเสนอแนะทางวิชาการ ส่วนการตัดสินใจที่จะเดินหน้าโครงการต่อไปเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องมีเหตุผลชี้แจงต่อสังคมให้เข้าใจ


▪️ ข้อเสนอของ ป.ป.ช. มีสาระสำคัญดังนี้

1. รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งขี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย เพราะอาจเข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบาย 

รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น ผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้กระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม


2. การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยและการที่พรรคเพื่อไทยแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเกี่ยวกับโครงการนี้มีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นบรรทัดฐานว่าพรรคการเมืองหาเสียงไว้แต่ไม่จำเป็นต้องทำตาม


3. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงินการคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency) การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility) ซึ่งรัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวังพิจารณาผลดี-ผลเสียในการกู้เงิน 500,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 เพราะเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้ถึง 4 - 5 ปี กระทบการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ


4. การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญ 2560 (มาตรา 172) พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 53) พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย


5. ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดำเนินโครงการ ซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง การบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง


6. ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการนี้ ควรพิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณที่ต้องใช้พัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการที่เป็นการแจกเงินเพียงครั้งเดียวให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน


7. จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาเศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤต เพียงแค่ชะลอตัว 


ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น กระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน กระตุ้นการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ เพิ่มทักษะแรงงาน เป็นต้น ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนภายใต้เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน


8. หากรัฐบาลจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน ควรช่วยกลุ่มฐานะยากจนที่เปราะบางช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกเงินงบประมาณปกติ ไม่ใช่เงินกู้ตาม พ.ร.บ.เงินกู้ และจ่ายเป็นเงินบาทในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มคนยากจน กระจายจ่ายเงินเป็นงวด ๆ หลายงวดผ่านแอปเป๋าตัง เพราะหากใช้งบประมาณปกติจะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัด พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง และขัด พ.ร.บ. เงินตรา ประการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะในระยะยาว

กรณีดังกล่าวเป็นการทำงานในเชิงรุกของ ป.ป.ช. เพื่อป้องกันการทุจริต ไม่ใช่การตั้งรับให้เกิดการทุจริตขึ้นมาก่อนจึงเข้าไปตรวจสอบ ป.ป.ช. พิจารณาแค่การประกาศที่จะดำเนินโครงการของรัฐบาล เมื่อยังไม่มีการขับเคลื่อนโครงการจึงไม่สามารถตอบได้ว่าจะเกิดการทุจริตหรือไม่ เพราะเรื่องยังไม่เกิดขึ้น ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปก็ต้องรับผิดชอบและมีข้อมูลยืนยันชัดเจน ซึ่ง ป.ป.ช. จะมีการติดตามเป็นระยะ ๆ นายนิวัติไชย ระบุ

ติดต่อโฆษณา!