ไปต่อไม่ไหว ซูบารุ ปิดโรงงานในไทย นำเข้าอย่างเดียว

ไปต่อไม่ไหว ซูบารุ ปิดโรงงานในไทย นำเข้าอย่างเดียว ซูบารุ (ประเทศไทย) ปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ สงครามราคาไปต่อไม่ไหว ยุติการผลิตรถยนต์ในไทย เตรียมนำเข้ารถยนต์ญี่ปุ่นส่งไทย มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ปรับกลยุทธ์ เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มแทน 
.
ซูบารุ (ประเทศไทย) ดำเนินงานโดยกลุ่มตันจง มาเลเซีย ด้วยรูปแบบการนำเข้ามาทำตลาด ส่วนใหญ่จากฐานการผลิตในมาเลเซีย ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตในปี 2562 ในนาม บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด (TCSAT) ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง กลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) กับ ซูบารุ คอร์ปอเรชั่น (SBR) ประเทศญี่ปุ่น
.
โดยตันจง อินเตอร์เนชันแนล ถือหุ้น 74.9% ผ่านบริษัทฯในเครือ คือ บริษัท ทีซี แมนูแฟคแจอริ่ง แอนด์ แอสเซมบลี (ประเทศไทย) จำกัด (TCMA) ส่วนซูบารุ คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้น 25.1%
.
ปัจจุบันโรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีพื้นที่รวมมากกว่า 100,000 ตารางเมตร เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเริ่มแรก 6,000 คัน/ปี โดยเป้าหมายคือการผลิตรถยนต์ รุ่น ฟอเรสเตอร์ เพียงรุ่นเดียว 
.
รองรับการทำตลาดทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา โดยมอเตอร์ อิมเมจ กรุ๊ป (Motor Image Group) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ TCIL ที่ความต้องการเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
.
สำหรับตลาดในประเทศไทย ทำการตลาดเพียง 2 รุ่น คือ ฟอเรสเตอร์ที่ผลิตในประเทศ และ รุ่นเอ็กซ์วี ซึ่งนำเข้าจากมาเลเซีย โดยอาศัยสิทธิพิเศษด้านภาษีจากเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA (หยุดผลิตแล้วก่อนหน้านี้)
.
ล่าสุดเมื่อวานนี้ 28 พ.ค.67 มีข่าวจากพนักงานของโรงงาน TCSAT ว่า มีการประกาศเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด และ จะยุติการประกอบรถยนต์ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2024 นี้ ส่วนโรงงานนั้น ยังไม่มีการยืนยันอย่างแน่ชัด ว่าจะขายให้ค่ายรถยนต์อื่นหรือไม่
.
โรงงาน TCSAT ในประเทศไทย ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 3 นอกประเทศญี่ปุ่น โดยแห่งแรกอยู่ที่ Indiana, USA และ แห่งที่สอง อยู่ที่ Segambut, Malaysia ซึ่งโรงงานที่มาเลเซียนั้น ก็ได้ยกเลิกการประกอบรถยนต์ Subaru ไปแล้วก่อนหน้านี้ ประกอบรถยนต์แบรนด์อื่นแทน
.
🚩 โควิดและความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเหตุ 
.
หลังการเปิดสายการผลิตโรงงานในประเทศไทย ธุรกิจก็เริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด -19 ที่ฉุดทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย การแข่งขันในตลาดรถยนต์ก็เกิดแรงกระเพื่อมสำคัญจากกระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV จากจีน รวมทั้งสงครามราคา 
.
นอกจากนี้ ทิศทางราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และตลาดรถยนต์ รวมถึงซูบารุ ด้วยเช่นกัน 
.
สถานการณ์โควิดในปี 2563 กระทบยอดขายลดลงเหลือ 1,715 คัน ปี 2564 ขยับขึ้นมาที่ 2,953 คัน ปี 2565 ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 2,280 คัน และล่าสุดปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 1,682 คัน
ติดต่อโฆษณา!