โรงงงานสมุนไพรในประเทศเสี่ยงถูกปิด 500 แห่ง
กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรในสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) เผยสมาชิกกลุ่มสมุนไพรไทยเดือดร้อนหนักห่วง 500 บริษัทเสี่ยงถูกปิด เวอนรัฐช่วยสนับสนุน 4 ด้าน
นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่ม ส.อ.ท. เผยว่า โรงงานอุตสาหกรรมภาคสมุนไพรมีความเสี่ยงถูกปิด โดยพบข้อมูลน่าตกใจว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตสมุนไพรมากกว่า 1,000 แห่ง แต่มีโรงงานผลิตสมุนไพร 500 แห่งยังไม่สามารถผ่านมาตรฐาน GMP PIC/S
GMP PIC/S หรือ Good Manufacturing Practice for Pharmaceutical Facility คือ มาตรฐานการผลิตยาที่ดี ก่อตั้งโดยสมาคม Swiss Code of Civil Law เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรและหน่วยงานในทำการตรวจสอบสถานที่ผลิตหรือกระจายสินค้า อีกทั้งยังใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการผลิตยาเพื่อเป็นการรับประกันว่ายาที่ผลิตนั้นมีคุณภาพ
นายสิทธิชัยระบุว่า หากโรงงานสมุนไพรเหล่านี้ถูกปิดตัวลง ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสในการผลักดันสร้างผลิตภัณฑ์สมุนไพรมูลค่าสูง สนับสนุนศักยภาพเศรษฐกิจมหาภาค ของประเทศ
วิกฤตการปิดตัวของโรงงานในประเทศไทย กำลังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและแรงงานอย่างหนัก อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยก็ยากจะรอดพ้นจากวิกฤตนี้ แต่ก็ยังมีโอกาสรอดวิกฤตนี้ไปได้หากหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือเร่งด่วน มิฉะนั้นประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสการสร้างฐานเศรษฐกิจมหาภาคไปได้
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร ได้เสนอ แนวทางแก้ไข เพื่อปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นดังนี้
1. หน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการอบรม จัดหลักสูตร รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยให้โรงงานขนาดเล็กมีโอกาสปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน GMP PIC/S
2. หน่วยงานภาครัฐ เป็นตัวกลางในการจับมือระหว่างโรงงานขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐาน GMP PIC/S ในการให้โรงงานขนาดเล็กเข้าใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการช่วยเหลือไม่ให้รายย่อยต้องลงทุน ห้องแล็บ ที่ต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง
3. สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โรงงานสมุนไพรเหล่านี้มีแหล่งความรู้ที่สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่น่าสนใจ
4. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิ่ม Positive list เพื่อให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนสมุนไพรง่ายขึ้น
มูลค่าตลาดสมุนไพรในปัจจุบัน 52,104.3 ล้านบาท มีแนวโน้มการเติบโต 8 % ต่อปี (ข้อมูลล่าสุดจากสภาอุตสาหกรรม) โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเติบโตมาจาก การเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมีกำลังซื้อสูงและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จึงนิยมเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและสมุนไพร