ยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี

ยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในคำร้อง โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล (กก.) 

และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง 


เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 นั้น

ต่อมาเวลา 15.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า มีอำนาจวินิจฉัยยุบพรรค การโต้แย้งว่าไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และไม่ได้ให้ต่อสู้คดี เห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวเนื่องกับคดี 3/2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้หยุดการกระทำ ในการเสนอแก้ไขม.112 โดยเห็นว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน ดังนั้นการไต่สวนของศาลจึงเป็นธรรมมากกว่าที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะไต่สวน

ที่ระบุว่าเป็นการกระทำโดยส่วนตัว ก็ฟังไม่ได้ เนื่องจากศาลเห็นว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 112 มีเนื้่อหาลดคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพรรคผู้ถูกร้องพรรคเดียว และนำมารณรงค์หาเสียง และปรากฎในเว็บไซต์ จึงถือว่าเป็นผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งที่ตกเป็นจำเลย และประกันผู้ต้องหา แม้ไม่ได้มีมติพรรค แต่กก.บห.ก็ต้องควบคุม

จึงมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล มีกำหนดเวลา 10 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่ง

สำหรับรายชื่อ กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่อาจได้รับผลถูกตัดสิทธิ์กรณีพรรคถูกยุบ ได้แก่ กรรมการบริหารพรรค ยุคแรก (ช่วงที่นายพิธา เป็นหัวหน้าพรรค พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2566) ประกอบด้วย

1. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค
2. ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค
3. ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
4. ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
5. ปดิพัทธ์ สันติภาดา (ลาออก) กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ
6. สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคใต้
7. อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคกลาง
8. อภิชาต ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
9. เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออก
10. สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนปีกแรงงาน

กรรมการบริหารพรรค ยุคที่สอง (ช่วงที่นายชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน)

1. ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค
2. อภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรค
3. ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
4. ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
5. สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคใต้
6. อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ
7. เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออก
8. สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนปีกแรงงาน

ติดต่อโฆษณา!