ผ่านฉลุย สภาโหวต อุ๊งอิ๊ง - แพทองธาร นั่งนายกฯ ไทย คนที่31
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ต่อจาก นายเศรษฐา ทวีสิน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา
ที่ประชุมสภาฯมีการเสนอชื่อแคนดิแคดิเดทเพียงคนเดียว โดยนายสรวงค์ เทียนทอง สส.พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และมีสมาชิกรับรองผู้ถูกเสนอชื่อ 291 เสียง
จากนั้นประธานสภาฯ ชี้แจงขั้นตอนการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 โดยจะใช้การขานชื่อตามลำดับอักษร และให้ สส. ออกเสียง เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ งดออกเสียง โดยในการประชุมมีจำนวนสมาชิก 493 คน และมีผู้มาร่วมประชุม 489 คน
ล่าสุดเวลา 12.30 น. ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 319 เสียง ไม่เห็นชอบ 145 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง เลือก น.ส.แพทองธาร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 493 คน มีจำนวนผู้เข้าประชุม 489 คน การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นลงแล้ว นางสาวแพทองธาร ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 319 เสียง จึงถือว่ามติที่ประชุมสภาฯเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ทั้งนี้หลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วเสร็จ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
สำหรับ 11 พรรคร่วมรัฐบาล รวม 315 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (141 เสียง), พรรคภูมิใจไทย (71 เสียง เหลือ สส. ปฏิบัติหน้าที่ได้ 70 คน), พรรคพลังประชารัฐ (40 เสียง), พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 เสียง), พรรคชาติไทยพัฒนา (10 เสียง), พรรคประชาชาติ (9 เสียง), พรรคชาติพัฒนา (3 เสียง), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 เสียง), พรรคเสรีรวมไทย (1 เสียง), พรรคพลังสังคมใหม่ (1 เสียง), พรรคท้องที่ไทย (1 เสียง)
ขณะที่พรรคการเมืองที่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล และเตรียมเป็นฝ่ายค้านมีทั้งสิ้น 7 พรรค รวม 178 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาชน หรืออดีตก้าวไกลเดิม (143 เสียง), พรรคประชาธิปัตย์ (25 เสียง), พรรคไทยสร้างไทย (6 เสียง), พรรคเป็นธรรม (1 เสียง), พรรคประชาธิปไตยใหม่ (1 เสียง) พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (1 เสียง), พรรคไทยก้าวหน้า (1 เสียง)
🚩 ประวัติ แพทองธาร ชินวัตร
น.ส.แพทองธาร จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ เรียนสาขาวิชา Msc International Hotel Management และกลับมาทำธุรกิจของครอบครัว เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 บ.เอสซี แอสเสทคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการมูลนิธิไทย
ในวัย 36 ปี "น.ส.แพทองธาร" เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมือง ตั้งแต่ปี 2564 โดยนั่งเป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย จากนั้น 20 มี.ค. 66 รับอาสาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
โดยนำทัพพรรคเพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งในเดือน พ.ค. 66 จนสามารถคว้าเก้าอี้ สส.มาเป็นอันดับ 2 รวม 141 ที่นั่ง และเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลร่วมตั้งแต่ 22 ส.ค. 66 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบันเป็นหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์แห่งชาติ