คนไทยว่างงานพุ่งแตะ 4.3 แสนคน สูงสุดรอบ 1 ปี
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ เผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2567 ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานไทยลดลง จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้นอยู่ที่ 39.5 ล้านคน ลดลง 0.4% จากช่วงเดียวกันของปี 66
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒฯ เผยจำนวนคนว่างงานในไทยพุ่งแตะ 4.3 แสนคน ซึ่งสูงสุดรอบ 4 ไตรมาส ทั้งนี้หากความเสี่ยงเศรษฐกิจเพิ่ม อาจกระทบอัตราการจ้างงานลดลง
ปัจจุบันกำลังแรงงานไทยมีทั้งหมด 40.2 ล้านคน ขณะที่อัตราการว่างงานในไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 1.07% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับจากการฟื้นตัวจากโรคโควิดระบาดเมื่อปี 2565 ซึ่งจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่เคยมีงานทำมาก่อนด้วย
สภาพัฒน์ฯ ระบุว่า หากภาคเศรษฐกิจและ SMEs ไม่ฟื้นตัว อัตราการจ้างงานอาจลดลงต่อเนื่อง โดย SME เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก โดยในปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ถึง 35.2%
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน SMEs กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยมีสัดส่วนหนี้เสีย หรือ NPL ต่อสินเชื่อรวมของ SMEs ในไตรมาส 4/66 อยู่ที่ 7.2% เพิ่มขึ้นจาก 4.6% ในไตรมาส 1/62
เนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและระดับหนี้ครัวเรือนส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจมากขึ้น
โดยธุรกิจ SME ในช่วงที่ผ่านมา ประสบปัญหาต้นทุนดอกเบี้ยสูง โดยดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย และธุรกิจขนาดกลาง ในปี 66 เพิ่มขึ้น 15.1% และ 2.2% ตามลำดับ
นอกจากนี้เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน และเกิดอุทกภัย ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร โดยในช่วง 16 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2567 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านการเกษตรจำนวน 15 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 308,238 ไร่ และเกษตรกร 47,944 ราย
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังได้คาดการณ์ว่าในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567 ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนอง 60 - 80% มีความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยขึ้นได้หลายครั้ง อาจส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อเกษตรกร และธุรกิจขนาดเล็กได้เพิ่มขึ้น ในช่วงดังกล่าว จึงอาจทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง