เครดิตบูโร เผยหนี้บุคคลค้างชำระ 1 - 3 เดือน พุ่งกระฉูด !
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ระบุว่า จากฐานข้อมูลสถิติที่ไม่มีตัวตน (No Privacy) ของเครดิตบูโร แสดงให้เห็นว่า 7 เดือนแรกของปีนี้ พบหนี้ครัวเรือนไทยทรงตัวแทบไม่เปลี่ยนจากเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท
เหตุสินเชื่อหลายประเภทลดลงหรือทรงตัว ท่ามกลางภาวะที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่เข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อ Nano Finance ที่มี
ดอกเบี้ยสูงกลับเพิ่มขึ้นถึง 4.7%
🚩 จากข้อมูลล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2567 สะท้อนว่า บรรดาลูกหนี้ยังอยู่ในสภาพมีหลุมรายได้และภูเขาหนี้ดังนี้
1.ตัวเลขหนี้ครัวเรือน ในฐานข้อมูลสถิติเครดิตบูโรเท่ากับ 13.6 ล้านล้านบาท แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนมิถุนายน 2567 โดยที่พอจะเพิ่มได้บ้างคือ Nano Finance +4.7% MOM
2.NPL ขยับเพิ่มจาก 1.16 ล้านล้านบาท มาเป็น 1.19 ล้านล้านบาท คิดเป็น 8.7% ของหนี้รวม ซึ่งเคยประมาณการว่าคงจะไปถึง 1.2 ล้านล้านบาท ไม่ช้าไม่นาน กล่าวคือไหลต่อ แต่คงไม่ไหลบ่าแบบน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำโคลนถึงหลังคา
3. SM เที่ยวนี้ที่น่าสนใจ กล่าวคือเดือนมิถุนายน 2567 ปรับลดลงมาจากไตรมาสก่อนอย่างมากจนเหลือ 5 แสนล้านบาท แต่ผ่านไป 1 เดือน เข้าเดือนกรกฎาคม กลับกระโดดมาเป็น 6.7 แสนล้านบาท เพิ่ม 1.7 แสนล้านบาท
สินเชื่อบ้านเพิ่มจาก 1.43 แสนล้านบาท เป็น 1.69 แสนล้านบาท โตขึ้น 18% MOM สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มจาก 8.5 หมื่นล้านบาท เป็น 1.13 แสนล้านบาท โตขึ้น 33% MOM
สินเชื่อธุรกิจที่คนตัวเล็กกู้ (Commercial Loan) จาก 2.6 หมื่นล้านบาท มาเป็น 4.4 หมื่นล้านบาท โตขึ้น 69% MOM ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต นิ่ง ๆ กับลดลง
🚩 ทั้งนี้ หนี้กำลังจะเสีย (Special Mentioned : SM) หมายถึงหนี้ที่ค้างชำระ 31 - 90 วัน ขณะที่หนี้เสีย (Non-Performing Loan : NPL) คือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน
สุรพลกล่าวอีกว่า สงครามการสู้รบระหว่างหนี้ปกติไหลมาเป็นหนี้กำลังจะเสีย หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือหนี้ SM โดยมีอาวุธคือการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน Preemptive Debt Restructure หรือที่เรียกว่า DR ภายใต้มาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม หรือ RL มีความเข้มข้นมากในเวลานี้ และจะเพิ่มมากขึ้นแน่ ๆ จนถึงสิ้นปีแน่นอน