เหยื่อ The iCon แห่แจ้งความนับร้อย ตำรวจประสาน ปปง. ยึดทรัพย์

เหยื่อ The iCon แห่แจ้งความนับร้อย ตำรวจประสาน ปปง. ยึดทรัพย์


ดิไอคอน บานปลายเหยื่อจำนวนมากรวมตัวแจ้งความ ตำรวจกำลังสอบสวนพฤติกรรมใดเข้าข่ายผิดกฏหมายแชร์ลูกโซ่ หลอกลวงลงทุน หรือไม่ 

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เผยความคืบหน้าการตรวจสอบบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด (The iCon Group Co., Ltd.) ว่า 

ตั้งแต่เมื่อวาน (10 ต.ค.) ต่อเนื่องถึงวันนี้มีประชาชนที่ระบุว่าเป็นผู้เสียหายเดินทางมาร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางประมาณ 120 ราย

ความเสียหายรายละ 200,000-500,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 50 ล้านบาท โดยขณะนี้คณะทำงานได้รับพยานเอกสารของประชาชน ในส่วนของหลักฐานการติดต่อ การชักชวนไปร่วมลงทุนธุรกิจและตัวอย่างสินค้า รวบรวมไว้ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเรียบร้อยแล้ว

“จะเป็นการประกอบธุรกิจขายตรงคล้ายกันกับบริษัทใหญ่ที่เป็นที่รู้จักหรือไม่ ส่วนนี้เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบการจดทะเบียนขออนุญาตการประกอบกิจการ เพราะธุรกิจขายตรงต้องมีการจดทะเบียนขออนุญาต รวมถึงต้องสอบถามตัวแทนขายว่าลักษณะการไปอบรม การนำทรัพย์สินไปใช้ในธุรกิจดังกล่าวมีลักษณะใดเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายธุรกิจขายตรงหรือไม่” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ระบุ

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าลักษณะธุรกิจขายตรงกับแชร์ลูกโซ่มีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ ทางคณะตำรวจที่ทำงานจะต้องพยายามรวบรวมข้อเท็จจริง สรุปวินิจฉัยอย่างรอบคอบ ซึ่งภายในวันนี้จะพยายามระบุข้อหาความผิดให้ได้ว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องถูกกล่าวหาความผิดเรื่องใดบ้าง

โดยในชั้นแรกจะมุ่งไปที่ตัวผู้ประกอบการ (ผู้บริหารบริษัท) ก่อนว่ากระทำผิดประเภทไหน จากนั้นจึงเป็นการพิจารณาบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าเข้าข่ายลักษณะความผิดของตัวการด้วยหรือเป็นเพียงผู้เข้าร่วม

กระบวนการของตำรวจคือการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ถ้าพบว่ากระทำความผิดก็จะมีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ตราบใดที่เรื่องไปถึงศาลและศาลยังไม่พิพากษาว่าเป็นผู้ต้องหา พวกเขาก็จะเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ขณะนี้เราทำงานอย่างเต็มที่เพราะเรารู้ว่าพี่น้องประชาชนกำลังเดือดร้อนจากเหตุการณ์นี้

“คดีในอดีตคือบทเรียน บางทีตำรวจก็ถูกฟ้อง ผมจึงกำชับว่าให้ทำอย่างรอบคอบและเป็นไปตามกฎหมายอย่างแท้จริง พนักงานสอบสวนจึงจำเป็นต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ ในเหตุที่เกิดข้อเท็จจริงที่ปรากฏรายละเอียดของเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายแต่ละท่านได้ถูกกระทำ” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ส่งหนังสือไปถึงสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ระบุถึงพฤติการณ์ผู้บริหารบริษัทดังกล่าวประกอบกับคำให้การผู้เสียหายแล้ว โดยขอให้เร่งรัดในการพิจารณา ยุติการดำเนินธุรกรรมทางการเงินของผู้บริหาร 

วันนี้จะมีการประชุมระหว่าง ปปง. สคบ. และ ตร. เพื่อติดตามความคืบหน้า โดยหนังสือที่ส่งถึง ปปง.มีความครบถ้วนรอบคอบแล้ว เป็นความคิดที่ตำรวจเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนจากกรณีที่คิดว่าถูกหลอกลวงทรัพย์สินเงินทอง

สำหรับดาราที่มีส่วนจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจมาร่วมลงทุน แต่ปฏิเสธไม่ได้เป็นฝ่ายบริหารนั้น ถ้ามีข้อเท็จจริงที่ได้พาดพิงถึงใคร เจ้าหน้าที่จะเรียกมาสอบสวนทั้งหมด 

หากพบว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดจะต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาด้วย แม้บุคคลนั้นจะไม่มีตำแหน่งในบริษัท แต่มีพฤติการณ์ความผิด ทั้งนี้มีการเตรียมการป้องกันเรื่องการหลบหนีออกนอกประเทศ หากมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 1 มิ.ย. 61 ทุนปัจจุบัน 50 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 165/42-46 ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

วัตถุประสงค์ การขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตโดยมี นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล เป็นกรรมการรายเดียว

วลีเด็ด ที่บอสพอล วรัตน์พล  มักจะกล่าวกระตุ้นการทำงานของคนในเครือข่ายอยู่เสมอคือ “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” 

รายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดของดิไอคอน กรุ๊ป เมื่อ 30 เม.ย.67 ได้แก่ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ถือหุ้นใหญ่สุด 74.9998% จินดา แซ่ก๊อก ถือ 21% ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร ถือ 4.0002%

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 2,402,677,947 บาท หนี้สินรวม 1,554,377,393 บาท มีรายได้รวม 1,891,032,251 บาท รายจ่ายรวม 1,862,137,799 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 3,346 บาท เสียภาษีเงินได้ 9,113,250 บาท กำไรสุทธิ 19,777,855 บาท

หากนับรวมรายได้ย้อนหลัง 5 ปี (ปีงบ 2562-2566) พบว่ามีรายได้รวมกัน 10,613,171,865 บาท หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท 


ที่มา: บางส่วนจากกรุงเทพธุรกิจ, Infoquest

ติดต่อโฆษณา!