มิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจ หลอก “ชาล็อต” มิสแกรนด์ โอนเงิน 4 ล้าน
รายนี้เหยื่อถูกหลอกด้วย “ความสมจริง” โดยเหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.67 เมื่อมีสายโทรศัพท์จากเบอร์แปลกโทรเข้ามาหา โดยมิจฉาชีพได้สวมบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมกล่าวอ้างว่านางสาวชาล็อต ออสติน มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงินหุ้นของบริษัทสตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) ซึ่งเป็นคดีดังในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
มิจฉาชีพสร้างความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลคดีจริง และยื่นหลักฐานปลอม เช่น เอกสารศาลและ ปปง. เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้คำกล่าวอ้าง อีกทั้งยังใช้ AI ทำวิดีโอคอลหลอกลวง โดยย้ำว่าการพูดคุยครั้งนี้เป็นความลับทางราชการ พร้อมข่มขู่ว่าหากเปิดเผยเรื่องนี้กับใครจะถูกดำเนินคดีไปด้วย
🚩 หลอกให้โอนเงินเพื่อ “ยืนยันความบริสุทธิ์”
มิจฉาชีพหลอกให้ชาล็อตโอนเงินเพื่อ “ตรวจสอบเส้นทางการเงิน” โดยอ้างว่าจะคืนเงินภายใน 10-15 นาที ครั้งแรกเธอโอนเงินจำนวน 2 ล้านบาท และเมื่อครบกำหนดกลับไม่ได้รับเงินคืน มิจฉาชีพยังอ้างเหตุผลใหม่และขอให้เธอโอนเพิ่มอีก 2 ล้านบาท สุดท้ายเธอสูญเงินรวม 4 ล้านบาทในบัญชีของบุคคลที่ชื่อ น.ส.ปริชาติ แซ่เอี๊ยว
🚩 รู้ตัวช้า แต่ไม่สายเกินแก้
ขณะที่เกิดเหตุการณ์ โจรสั่งเธอห้ามบอกเรื่องนี้กับใคร เพราะอาจจะทำให้คนนั้นเดือดร้อนไปด้วย แต่ชาลอตเริ่มระแวงและตัดสินใจโทรอายัดบัญชีทันที พร้อมนำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่ สน.สุทธิสาร
โดยขณะนี้ พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รองผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์ (สอท.) ได้รับเรื่องเพื่อเร่งติดตามคดี และเชื่อว่าสามารถสืบเส้นทางการเงินเพื่อขยายผลได้ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนเงินเป็นสกุลดิจิทัลแล้วก็ตาม
🚩 บทเรียนสำคัญ ระวังภัยมิจฉาชีพยุคใหม่
นายณวัฒน์ อิสระไกรศีล ซีอีโอของ MGI ออกมาเตือนประชาชนว่า นี่คือกรณีตัวอย่างของการหลอกลวงที่ซับซ้อน และชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพนำมาใช้ โดยย้ำว่าควรตรวจสอบทุกครั้งเมื่อมีสายจากบุคคลหรือหน่วยงานที่ไม่คุ้นเคย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมั่นใจว่าคดีนี้จะมีความคืบหน้าภายในหนึ่งสัปดาห์ และอาจนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ พร้อมคืนเงินให้เหยื่อได้บางส่วน อย่างไรก็ตามคาดว่าโจรออนไลน์เหล่านี้มักจะอาศัยอยู่ในต่างประเทศ โอกาสติดตามตัวทำได้ยาก
ข้อพึงระวัง ! หากพบพฤติกรรมลักษณะนี้ ให้แจ้งตำรวจทันที และอย่าหลงเชื่อโอนเงินโดยไม่ตรวจสอบโดยเด็ดขาด