16 มีนาคม 2564
1,468
นายกฯ ประเดิมฉีดวัคซีน แอสตร้าฯ เข็มแรกของไทย
Highlight
วันที่ 16 มี.ค.2564 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมนำคณะรัฐมนตรีบางส่วนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 โดยมีนพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรก
พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มที่สอง ในวันที่ 25 พ.ค.64
หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าไม่รู้สึกตื่นเต้น เพราะพร้อมฉีดตลอดเวลาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และขอบคุณทุกกำลังใจ รวมถึงขอบคุณทีมแพทย์ที่ช่วยกันทำงานย ยืนยันวัคซีนไม่มีผลให้เกิดลิ่มเลือดแข็งตัวขอประชาชนอย่าวิตกกังวล
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก เข้ารับการฉีดวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 จากบริษัท แอสตราเซเนกา หลังจากเป็นผู้ลงเข็มให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประเดิมไปก่อนหน้านี้
นพ.ยง กล่าวว่า `”การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 นอกจากป้องกันตัวเองแล้ว ยังเป็นการป้องกันคนอื่นด้วย ถ้าทุกคนร่วมมือกัน ฉีดวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกัน ประเทศก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และขณะนี้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 350 ล้านโดส ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ในทั่วโลกมีความปลอดภัย เพราะผ่านการศึกษามาอย่างรอบคอบ และผ่านมาตรฐาน รวมทั้งขอให้เชื่อมั่นวัคซีนจะเป็นทางออกในการผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ “
สรุปรายงานผลความปลอดภัยของ “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”
1. รายงานข่าวจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เปิดเผยถึงความคืบหน้าด้านความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซนเนก้าว่า จากกรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลถึงความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า กับภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้น
2. แอสตร้าเซนเนก้า ขอยืนยันถึงความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งสามารถอ้างอิงได้จากข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และขอยืนยันว่าแอสตร้าเซนเนก้าให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก โดยบริษัทฯ จะยังคงดำเนินการตรวจสอบและติดตามผลด้านความปลอดภัยของวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
3. จากการศึกษาทบทวนอย่างละเอียด เกี่ยวกับข้อมูลด้านความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ากับประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 17 ล้านรายในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ไม่พบว่ามีหลักฐานใดชี้ให้เห็นถึงอัตราความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ในกลุ่มอายุ เพศ รุ่นการผลิต หรือไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม
4. จากข้อมูลจนถึงวันที่ 8 มีนาคม บริษัทฯ ได้รับรายงานถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกในผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรทั้งหมด 15 รายงาน และรายงานที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดอีก 22 รายงาน เมื่อเทียบจำนวนประชากรแล้ว อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่ได้รับรายงานหลังการฉีดวัคซีนนี้ ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าอัตราการพบภาวะดังกล่าวในกลุ่มประชากรทั่วไป และยังเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้อยู่ในปัจจุบัน
โดยรายงานด้านความปลอดภัยประจำเดือน จะมีลงประกาศอยู่ในหน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหภาพยุโรป (European Medicines Agency – EMA) ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการด้านความโปร่งใสเกี่ยวกับโควิด-19