ศบค. สั่งปิด – จำกัดกิจกรรม สกัดโควิด-19 แพร่ระบาด 10 จังหวัด

ศบค. สั่งปิด – จำกัดกิจกรรม สกัดโควิด-19 แพร่ระบาด 10 จังหวัด
HighLight :

ศบค. ประกาศกำหนดพื้นที่ 10 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) งดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่จำเป็น จำกัดกิจกรรมต่าง ๆ พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ทั้งการปิดแคมป์ก่อสร้าง ห้ามเคลื่อนย้าย ห้ามนั่งกินอาหารหรือเครื่องดื่มในร้าน งดจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 20 คนขึ้นไป

20210627-a-02.jpg


เมื่อกลางดึกของวันที่ 26 มิถุนายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 2 ฉบับ ในการกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้มใหม่ รวม 10 จังหวัด และการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ และบังคับใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็น เพื่อมุ่งชะลอและสกัดกั้นการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเร่งด่วน และหยุดยั้งอัตราการเร่งของจำนวนผู้ป่วย

 

พื้นที่ 10 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)

กรุงเทพมหานคร

จังหวัดปริมณฑล

- ปทุมธานี

- นครปฐม

- สมุทรปราการ

- นนทบุรี

- สมุทรสาคร

จังหวัดชายแดนภาคใต้

- สงขลา

- ยะลา

- นราธิวาส

- ปัตตานี

มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

 

 

 

ส่วนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข หากไม่เร่งจัดการ อาจกระทบต่อระบบบริการทางสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์ ที่รองรับผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีอยู่จำกัด 

นอกจากนี้ จากการตรวจคัดกรองเชิงรุก พบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดสายพันธุ์ Beta (สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้) ที่ทำให้ป่วยรุนแรง และมีความเสี่ยงต่อชีวิตในอัตราสูง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ จากข้อเสนอแนะของฝ่ายสาธารณสุข ประกอบกับความเห็นของคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขใน ศบค.จึงจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะและบังคับใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็น ดังต่อไปนี้

 

มีผลอย่างน้อย 30 วัน ประเมินสถานการณ์ทุก ๆ 15 วัน

  1. กำหนดให้ 10 จังหวัด คือ  กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดโดยให้ดำเนินการต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วันเพื่อเข้าควบคุมและชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนกระจายในหลายพื้นที่ รวมทั้งการสกัดกั้น การเคลื่อนย้ายเดินทางของกลุ่มเสี่ยง เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ออกเป็นวงกว้างสู่พื้นที่อื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการประเมินสถานการณ์ และความเหมาะสมของมาตรการและข้อปฏิบัตินี้ ทุกระยะเวลา 15 วัน

 

  1. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดปริมณฑล อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณามีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร หรือพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างหรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารประเภทอาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารที่อยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือโครงการจัดสรรทุกประเภท และให้มีคำสั่งปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง สั่งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทาง และเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน

 

  1. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการ และโรงงานเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ใช้มาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal)ตามที่ทางราชการกำหนด  จำกัดเขตพื้นที่ที่เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้น รวมทั้งกำหนดเงื่อนไข เพื่อกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเข้าออกเขตพื้นที่สถานประกอบการหรือโรงงานดังกล่าว

 

4.มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  ปฏิบัติต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ดังต่อไปนี้

- การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าคอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่ จัดนิทรรศการ โรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ ชูเปอร์มาร์เก็ต รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดค้าส่ง ตลาดโต้รุ่ง ฯลฯ ให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น

- ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00. งดการให้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทาน ในศูนย์อาหาร และเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลในพื้นที่พักคอย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบ หมุนเวียนอากาศ

-  โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง

- กิจกรรมการรวมกลุ่ม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกัน มากกว่า 20 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค

  1. มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในเขตชุมชน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดกวดขันการดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อในการเข้าไปตรวจตราเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่ที่ได้ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อพบแหล่งที่มีการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อมีคำสั่งปิดเขตชุมชนหรือสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว หรือกำหนดเงื่อนไขเพื่อกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเข้าออกพื้นที่ระบาด

 

  1. การให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อได้มีคำสั่งและดำเนินมาตรการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดตามข้อ 5 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร หรือจิตอาสาโดยการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทยกรุงเทพมหานคร จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่ หรือจำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่จากการระบาดแบบกลุ่มก้อนในเขตชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่ควรได้รับความช่วยเหลือตามความเหมาะสม

 

7.กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทางตามแนวทางที่ ศปก.ศบค. กำหนด เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน

 

โดยกำหนดรายละเอียดแยกตามพื้นที่ ดังนี้

 

- เส้นทางคมนาคมเข้าออก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด เพื่อสกัดกั้นและยับยั้งการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด โดยบุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดตามข้อนี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น

- เส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล

การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อทำงานข้ามเขตจังหวัด ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยให้ผ่านเข้าออกได้เฉพาะแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเพื่อการทำงาน ข้ามจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทาง สำหรับการเดินทางข้ามเขตจังหวัด ของประชาชนทั่วไป ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น เพื่อมุ่งเน้นความปลอดภัยทั้งต่อประชาชนและพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

- เส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดอื่น ๆ

การตั้งจุดตรวจด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ในกรณีที่พบผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโดยการคุมไว้สังเกต แยกกัก หรือกักกันในพื้นที่พำนักหรือสถานที่ที่ทางราชการกำหนด หรือตามหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุข หรือ ศบค. กำหนด

 

  1. 8.การปราบปรามผู้กระทำผิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่โรค ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบเล่นการพนัน การเสพยาเสพติด การรวมกลุ่มในลักษณะที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถในทาง หรือการฝ่าฝืนเปิดดำเนินการของสถานบริการในพื้นที่ที่มีข้อกำหนดห้ามการเปิดไว้รวมถึงการลักลอบเดินทาง หรือขนย้ายแรงงานต่างด้าว หรืออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หรือรับแรงงานต่างด้าวที่ออกจากสถานที่พักคนงานตามที่ได้มีคำสั่งปิดสถานที่ไว้แล้วเข้าทำงาน โดยมิได้ผ่านการตรวจสอบคัดกรองโรค

 

ซึ่งการปล่อยปละละเลย หรือการย่อหย่อนการปฏิบัติหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนเป็นเหตุให้มีการกระทำที่เป็นความผิดเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดซอบ และเป็นเหตุให้เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้น ผู้บังคับบัญชาสามารถพิจารณาตามกฎหมาย เพื่อดำเนินการทางวินัยได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

 

9.มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือทำงานที่บ้าน Work From Home ให้คงพิจารณาดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดในช่วงระยะเวลานี้ เพื่อลดการเดินทางและการติดต่อสัมผัสระหว่างบุคคล โดยเฉพาะหน่วยงานหรือสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด  

 

10 . การงดจัดกิจกรรมทางสังคม ให้ประชาชนงดจัดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่มในลักษณะการสังสรรค์ จัดเลี้ยง หรืองานรื่นเริง ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อลดการติดต่อสัมผัสกันระหว่างบุคคลอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 30 วัน เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมตามที่ได้กำหนดเตรียมการไว้แล้ว ซึ่งขอให้เป็นไปเพื่อความเหมาะสมและมีมาตรการ ป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

 

ทั้งหมดนี้ มีผลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

 

แหล่งที่มา :

https://www.facebook.com/informationcovid19/posts/352721659679498

 

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว




ติดต่อโฆษณา!