กรณีเลวร้ายสุด โควิดไทยจะแย่ขนาดไหน ?

กรณีเลวร้ายสุด โควิดไทยจะแย่ขนาดไหน ?
HighLight

หนึ่งในคำถามสำคัญที่สุดตอนนี้คือ “สถานการณ์โควิด-19 บ้านเรา จะเป็นไปในทางไหนต่อ” ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากมาก แต่ที่เรารู้ สถานการณ์ที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนว่า เป็นกรณี “เลวร้ายสุด” ที่อาจเกิดขึ้น และเมื่อ Worst case กลายมาเป็น Base case หรือกรณีเลวร้ายสุด กลายมาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว นั่นแปลว่า เรามีโอกาสจะเกิด “กรณีเลวร้ายสุดใหม่” ที่แย่กว่าเดิม แล้ว Worst case ใหม่ของไทย ในสายตานักวิเคราะห์เป็นอย่างไร คลิกอ่าน #ทันข่าว รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์กันครับ


เมื่อตอนเดือนเมษายน สำนักวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออกมาคาดการณ์ว่า การระบาดรอบใหม่ของไทย มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 3 รูปแบบด้วยกัน คือในกรณีที่ดีที่สุด เราคุมสถานการณ์ได้อยู่ ยอดผู้ติดเชื้อจะลดลง จนเป็น 0 ในเดือนมิถุนายน ส่วนกรณีกลาง ๆ คือเราคุมสถานการณ์ได้บ้าง ยอดผู้ติดเชื้อจะค่อย ๆ ลดลง แต่จะไม่ถึงกับเป็น 0 แต่จำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ได้ และกรณีที่ 3 คือกรณีเลวร้ายที่สุด เราคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไม่อยู่ และจำนวนเคสจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเดือน มิถุนายน และกรกฎาคม 2564


ซึ่งความเป็นจริงเฉลยออกมาแล้วว่าสถานการณ์เรา ออกมาในกรณีที่เลวร้ายที่สุด จากที่เคยประเมินไว้ตอนเดือนเมษายน และยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทะลุหลักหมื่นรายต่อวันแล้ว


คำถามต่อมาก็คือ เมื่อ Worst case กลายมาเป็น Base case แล้ว Worst case ใหม่ จะเป็นอย่างไร ?

การประเมินรอบล่าสุดของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออกมาในเดือนกรกฎาคม ซึ่งตัวเลขนี้ ทาง ศบค. ได้นำเอาไปใช้เป็นประมาณการสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
โดย Key หลักที่ทางกรุงศรีฯ ใช้ประเมินรอบนี้ คือประเภทของเชื้อที่เริ่มมีการติดในประเทศไทยมากขึ้นคือสายพันธุ์ Delta ที่ติดต่อง่ายกว่า และรุนแรงกว่าสายพันธุ์ Alpha ที่ใช้คาดการณ์ในเดือนเมษายน

20210720-a-01.jpeg

ทำให้ผลการประเมินสถานการณ์ออกมาดังต่อไปนี้ 

1. กรณีดีที่สุด คือ เราสามารถฉีดวัคซีนได้ ประมาณ 250,000 โดส โดยวัคซีนให้ผลลัพธ์ที่ดี เช่นเดียวกับการล็อกดาวน์ได้ผลเต็มที่ กรณีนี้ ยอดผู้ติดเชื้อจะทรงตัว แถว ๆ วันละ 10,000 คน ไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม แล้วจะค่อย ๆ ลดลง จนใกล้เคียง 0 ในกลางเดือนตุลาคม

2. กรณีกลาง ๆ คือ เราสามารถฉีดวัคซีนได้ วันละ 250,000 โดส โดยวัคซีนให้ผลที่พอใช้ เช่นเดียวกับการล็อกดาวน์ ที่มีประสิทธิภาพพอใช้ กรณีนี้ ยอดผู้ติดเชื้อ จะยังคงเพิ่มเป็นระดับ 15,000-16,000 คนต่อวัน ไปจนถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลง จนใกล้เคียง 0 ในเดือนพฤศจิกายน

3. กรณีเลวร้าย คือเราสามารถฉีดวัคซีนได้วันละ 250,000 โดส แต่วัคซีนให้ประสิทธิภาพน้อย เช่นเดียวกับการล็อกดาวน์ ที่ไม่ได้ผลในการจำกัดการระบาดนัก กรณีนี้ ยอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มไปถึงเกือบวันละ 25,000 คน ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลง แต่จะไม่กลับไปใกล้เคียง 0 แม้จะล่วงเลยไปจนถึงปีหน้าก็ตาม

20210720-a-02.jpeg

ซึ่งทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยสำคัญก็คือ “วัคซีน” ที่ฉีดมีประสิทธิภาพแค่ไหน และ “การล็อกดาวน์” มีประสิทธิภาพสามารถหยุดการแพร่ระบาดได้หรือไม่ ในขณะที่จำนวนคนที่ได้รับวัคซีน ธนาคารกรุงศรีอยุธยาคาดการณ์ว่า เราคงสามารถฉีดได้เพียง 250,000 โดสต่อวัน และจะไปจบที่จำนวน 55 ล้านโดสตอนสิ้นปี เป็นครึ่งเดียวจากเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ 100 ล้านโดส และคงเพิ่มให้มากกว่านี้ค่อนข้างยากแล้ว


และเราคงต้องติดตามกันว่าการคาดการณ์รอบนี้ จะออกมาจริงในรูปแบบใด ซึ่งเราทุกคนคงภาวนาเหมือนกันว่าอยากให้ออกมาในกรณีที่ดีที่สุด แต่ก็คงต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านั้นเช่นกัน

แหล่งที่มา: วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว

ติดต่อโฆษณา!